นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (2 ม.ค.) ที่ระดับ 34.31 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงหนักจากระดับปิดวันที่ผ่านมาที่ระดับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2567) และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.40 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของตลาดการเงินไทย โดยบรรยากาศระมัดระวังตัวของตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์อยู่
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น ทว่าเงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถกลับมาแกว่งตัวแถวโซน 2,620-2,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อีกครั้ง ทำให้โดยรวมเงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ไปได้อย่างชัดเจน
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก โดยบรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ หลังในรายงานล่าสุด รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) กลับปรับตัวสูงขึ้น สวนทางกับการปรับตัวลดลงของยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนประเมินว่า ภาพดังกล่าวอาจสะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีน (Caixin Manufacturing PMI) ในเดือนธันวาคม ซึ่งจะเน้นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง มากกว่าดัชนี PMI ภาคการผลิตโดยทางการจีน ที่ได้รายงานในวันที่ 31 ธันวาคม โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตมีแนวโน้มทรงตัวแถวระดับ 51.5 จุด สะท้อนว่า ภาคการผลิตของจีนยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง หนุนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
และในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) ในเดือนธันวาคม
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways โดยมีโซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านแรกในช่วงนี้ ขณะที่โซนแนวรับอาจอยู่ในช่วง 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ถึงจะเริ่มเห็นการเลือกทิศทางการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนของเงินบาทในระยะข้างหน้า โดยเราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้างตามกลยุทธ์ Trend-Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านทั้ง 34.30 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน
อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทก็อาจขึ้นอยู่กับแนวโน้มราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้อาจช่วยลดทอนแรงกดดันเงินบาทจากการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงระยะสั้น นอกจากนี้ ควรจับตาการเคลื่อนไหวของเงินหยวนจีน (CNY) หลังตลาดรับรู้รายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตด้วยเช่นกัน เพราะหากผู้เล่นในตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมากขึ้น ในกรณีที่รายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตออกมาตามคาด หรือดีกว่าคาด อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวนจีนได้ หรือช่วยหนุนให้เงินหยวนจีนกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่าควรติดตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติเช่นกัน หลังหลายตลาดการเงินจะเริ่มกลับมาทำการตามปกติ ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อขาย สินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจคึกคักมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ โดยสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ชี้ว่า เงินบาท (USDTHB) อาจแกว่งตัว +/-0.20% ได้ในช่วง 30 นาที หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว