กูรูประเมินทิศทางหุ้นกลุ่มสื่อสาร คาดการแข่งขันประมูลคลื่นลดความรุนแรง ช่วยลดต้นทุน หนุนผลประกอบการเติบโต หลังคู่แข่งขันตลาดน้อยลง ยก ADVANC เด่นสุด มีโอกาสปันผลสวย ส่วน TURE คดีข้อพิพาท NT รับผลกระทบเพียงระยะสั้น เชื่อการ synergy ของทั้งสองบริษัทจะหนุนผลศักยภาพธุรกิจแข็งแกร่ง
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย คาดการณ์กำไร บจ. (EPS) ของ SET index ในปี 2568 จะอยู่ที่ระดับ 95 บาท หรือเติบโต 10% จากปี 2567 โดยแนวโน้มของการเติบโตหนุนจากการบริโภคภาคเอกชน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ และการเร่งเบิกจ่ายของงบประมาณปี 2568 ที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงยังคงต้องติดตาม สงครามการค้า (trade war) และความไม่แน่นอนของกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับงานวิจัยครั้งนี้ นอกเหนือจากกลุ่มการเงิน กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มอาหารเครื่องดื่มที่มีปัจจัยบวกสนับสนุนทิศทางธุรกิจ บล.กสิกรไทย ให้น้ำหนักที่กลุ่มสื่อสาร โดยมองว่ามีอัปไซต์มาจากการประมูลที่ราบรื่นกว่าที่คาดและต้นทุนของใบอนุญาตน้อยกว่าคาด ทำให้ในปี 2568 กลุ่มสื่อสารถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าสนใจพิจารณาลงทุน
ประมูลคลื่นไม่เดือด หนุนกำไร
ล่าสุด บล.เคจีไอ ประเมินทิศทางหุ้นกลุ่มสื่อสารว่า การประมูลคลื่นความถี่อาจเสี่ยงต่อคำแนะนำในการ re-rating กลุ่ม ICT ปี 2568 โดยคาดว่าการประมูลคลื่นความถี่จะเกิดขึ้นในไตรมาสแรกปี 2568 แบบไม่เกิดสงครามราคา เพราะจุดสำคัญคือการให้บริการเครือข่ายดีต่อเนื่อง ขณะที่ True Corporation (TRUE.BK/TRUE TB) และ Advanced Info Service (ADVANC.BK/ADVANC TB) ดูเหมือนจะไม่สนใจคลื่น 850MHz แต่จะมุ่งเน้นที่คลื่น 2300MHz และ 1800MHz ตามลำดับ ในปี 2568
โดย TRUE คาดว่าจะประหยัดค่าเช่าคลื่นความถี่ได้ 4-5 พันล้านบาทต่อปีจากคลื่น 850MHz และ 2300MHz ส่วน ADVANC อาจประหยัดได้ 1-1.5 พันล้านบาทต่อปีจากการแทนที่การเช่าคลื่น 2100MHz จาก NT ด้วยคลื่น 1800MHz นั่นทำให้คาดว่า TRUE และ ADVANC จะให้ guidance ปี 2568 ด้านการเติบโต EBITDA และรายได้การให้บริการเป็นเลขหลักเดียว ด้วยงบลงทุน (CAPEX) ที่ต่ำลง (ไม่รวมค่าประมูลคลื่น)
ขณะที่แรงผลักดันรายได้ด้วยการให้บริการมือถือเติบโตเล็กน้อย (1-3%) พร้อมกับ fixed broadband (FBB) เติบโตปานกลาง (>5%) แต่การรับรู้ synergy ชัดเจนขึ้น และการประหยัดรายจ่ายจากการหมดอายุของคลื่นความถี่ เช่น คลื่น 850MHz และ 2300MHz ของ TRUE ในไตรมาสแรกปี 2568 ส่วน ADVANC อาจทำให้นักลงทุนดีใจด้วยเงินปันผลระหว่างกาลครึ่งหลังปี 2567
คู่แข่งลดหนุน TURE กำไร
นอกจากนี้ ประเมินว่า TRUE อาจพลิกกลับมามีกำไรสุทธิจากผู้แข่งขันในตลาดมีเพียงสองราย ซึ่งช่วยเพิ่มกำไรจากการแข่งขันที่ลดลง และงบลงทุนที่ต่ำลง โดยมี EBITDA margin คาดเพิ่มมาอยู่ที่ 50-60% นั่นทำให้มีวัฏจักรขาขึ้นมาจากช่วงขยายตัวของการแข่งขันที่ลดลง และทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการเติบโตที่แข็งแกร่งสำหรับ TRUE และ ADVANC ขณะที่ valuation ของกลุ่มอยู่ในระดับสูง ด้วยทั้งสองบริษัทมี upside เพิ่มได้อีก และยอมรับได้จากการปรับ EPS ขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับ EBITDA margin ดีขึ้นนั้นเกิดแหล่งรายได้ใหม่จากศูนย์ข้อมูล โดย TRUE มีช่องทางในการเพิ่ม ARPU มากขึ้น เพราะจะได้รับประโยชน์ของการ synergy จากการควบรวมกิจการล่าสุดและรายได้จากการขายโทรศัพท์มือถือดีขึ้น โดยคาดว่า TRUE จะมีสัดส่วนของการเติบโตของกลุ่ม ICT สูงถึง 63% ในปี 2568F พร้อมกับกลับมามีกำไรสุทธิ
การ synergy หนุนผลประกอบการ
นั่นทำให้กำไรหลักของกลุ่ม ICT ปี 2567F/2568F สูงกว่า consensus ราว 5%/2% ทั้งนี้ ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตในปี 2568 น่าจะมาจากการเพิ่มขึ้นของ ARPUs รวมถึงมีต้นทุนที่เหมาะสม และการ synergy กับ DTAC (สำหรับ TRUE) และ TTTBB (สำหรับ ADVANC) อย่างไรก็ดีคาดกำไรปีนี้จะสูงสุดในไตรมาส 4 ปี 67 และเพิ่มขึ้นทั้งเทียบปีก่อนและไตรมาสก่อน
จึงคงให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มนี้ “เท่ากับตลาด” โดยที่เลือก ADVANC เป็นหุ้นเด่นช่วงไตรมาสแรกปี 2568 เนื่องจากคาดเห็นแรงเก็งกำไรจากเรื่อง gain on bargain purchase ในระหว่างการแปลงร่างของ NewCo,upside จากการประหยดัค่าใช้จ่ายการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ในปี 2568 และอาจจ่ายเงินปันผลสูงขึ้น
ส่วน TRUE ยังชอบเช่นกัน ด้วย reward/risk ที่น่าสนใจ คือมีโอกาสในการเพิ่มอัตรกำไรและ synergy ที่มาเร็วและมากกว่า ADVANC อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงด้านลบคือคดีความที่ศาล
ADVANC เติบโตยาวมี Upside
ที่ผ่านมาสำหรับ ADVANC ภายใต้ AIS 3BB FIBRE 3 นั้น บริษัทรายงานได้เข้าถึงทุกพื้นที่ครอบคลุมกว่า 133,281 ตารางกิโลเมตร เข้าถึง 77 จังหวัด926 อำเภอ และรองรับการให้บริการแล้วกว่า 13 ล้านครัวเรือน รายได้เติบโตขึ้น 154% และฐานลูกค้าที่เติบโตขึ้น 108% ด้วยจำนวนผู้ใช้งานในปัจจุบันกว่า 4.94 ล้านราย ขณะที่ความคืบหน้าการควบรวมกับ 3BB นั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นปลายปี 2568 โดยปัจจุบันยังมีการแยกระบบ และแยกบิลการให้บริการอยู่ในขณะนี้
นั่นทำให้ บล.กรุงศรี จำกัด แนะนำ “ซื้อ” ADVANC ราคาเป้าหมาย 305 บาท มองกำไรงวดไตรมาส 4/2567 ได้แรงหนุนจากช่วงฤดูกาลและอุตสาหกรรมยังอยู่ในช่วง Upcycle นอกจากนี้ กระแส i-Phone 16 ที่ยอดขาย Apple ออกมาทางบวกช่วงปลายไตรมาส 3/2567 เป็นอีกแรงหนุน
กระแสการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี หรือ Infra Tech โดยกระแสลงทุน ADVANC ช่วงปลายปีเป็นบวก จากกรณีนายเจนเซน หวง CEO ของ NVIDIA มาเยือนไทย สร้างความเชื่อมั่นต่อศักยภาพการเป็นหนึ่งศูนย์กลาง Infra Tech ของไทย และคาดรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องช่วงปลายปี หนุนหุ้น Domestic และ ADVANC น่าจะเป็นหนึ่งในหุ้นเป้าหมายเม็ดเงินลงทุนระยะยาวภายในช่วงปลายปีที่มีภาพเม็ดเงินเร่งขึ้น
นั่นทำให้ บล.หยวนต้า มองว่าดีกว่าที่คาดราว 2% โดยกำไรไตรมาส 3/2567 ที่ทรงตัวจากไตรมาส 2/2567 กดดันจากค่าใช้จ่ายบริหารที่เพิ่มขึ้นจากการตั้งค่าใช้จ่ายโบนัสล่วงหน้าพนักงาน ส่วนกำไรที่เติบโตเมื่อเทียบไตรมาส 3/2566 มาจากรายได้เฉลี่ยต่อลูกค้าต่อเดือน (ARPU) ที่เติบโตเด่น
ขณะที่รายได้บริการโทรศัพท์มือถือไม่รวม IC อยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.6% จากไตรมาส 2/2567 และขยายตัว 5.6% จากไตรมาส 3/2566 ) ดีกว่าคาดที่ติดลบ 0.6% จากไตรมาส 2/2567 จำนวนลูกค้าใหม่ระบบเติมเงิน (Prepaid Netadd) อยู่ที่ 4.95 แสนราย รายได้เฉลี่ยต่อลูกค้าต่อเดือนระบบเติมเงิน (Prepaid ARPU) ไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาส 2/2567 แต่เพิ่มขึ้น 9.6% จากไตรมาส 3/2566 จำนวนลูกค้าใหม่ระบบรายเดือน (Postpaid Netadd) อยู่ที่ 1.18 แสนราย รายได้เฉลี่ยต่อลูกค้าต่อเดือนระบบรายเดือน (Postpaid ARPU) ลดลง 1.1% จากไตรมาส 2/2567 และลดลง 0.7% จากไตรมาส 3/2566
สิ่งที่น่าสนใจคือ ADVANC ได้ลูกค้าจาก TRUE ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อลูกค้าต่อเดือนรวมทั้ง 2 ระบบ (Blended ARPU) เริ่มทรงตัวเมื่อเทียบไตรมาส 2/2567 แต่ยังเติบโตได้ 3.2% จากไตรมาส 3/2566
สำหรับแนวโน้มไตรมาส 4/2567 คาดกำไรปกติ ADVANC เร่งตัวขึ้นจากไตรมาส 3/2567 ทำให้คงประมาณการกำไรปกติปี 2567 ของ ADVANC ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2566) และปี 2568 ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 12% จากปี 2567)
เช่นเดียวกับ บล.กสิกรไทย ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2567/ 2568/ 2569 ขึ้น 10.9%/ 8.2%/ 13% มาอยู่ที่ 3.39 หมื่นล้านบาท/ 3.59 หมื่นล้านบาท/ 4.08 หมื่นล้านบาท เพื่อสะท้อนสถานการณ์การแข่งขันที่ดีขึ้นอีก ต้นทุนการหาลูกค้าที่ลดลง และการคำนวณการเปลี่ยนถ่ายจากรูปแบบโรมมิ่งไปเป็นใบอนุญาตที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน บล.กสิกรไทย คาดว่า ADVANC และ TRUE จะได้รับจำนวนคลื่นความถี่ 2300 MHz ในสัดส่วนที่เท่ากัน หากรวมสมมติฐานทั้งหมดเข้าด้วยกัน และคาดว่า ADVANC จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนถ่ายจากสัญญาโรมมิ่งของ NT ไปเป็นใบอนุญาตของ กสทช.ที่ 468 ล้านบาท (ก่อนหักภาษี) ในปี 2568 และ 1.2 พันล้านบาท ในปี 2569
โดยข้อมูลจาก LSEG Consensus สำหรับ ADVANC ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2567 ที่ 211,822.51 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 33,443.03 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 295.38 บาท
TRUE ข้อพิพาท NT แค่ระยะสั้น
ส่วนหุ้น TRUE เมื่อเร็วๆ นี้ ราคาหุ้นติดลบ 4.35% เมื่อ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) แจ้งว่า ตามที่บริษัทได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีที่ บมจ.ทีโอที (ทีโอที) หรือปัจจุบัน คือ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT)) ยื่นคำเสนอข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.43-มิ.ย.48 เนื่องมาจาก TRUE ลดค่าบริการทางไกลในประเทศภายใต้โครงการ TA 1234 นั้น
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.67 ศาลปกครองกลางอ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดให้ยกอุทธรณ์ของบริษัท โดยบริษัทจะใช้สิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่ภายใน 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด
อนึ่ง ศาลปกครองสูงสุดยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในอีกคดีที่ทีโอทีได้ยื่นคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น บริษัทจึงไม่ต้องชำระเงินให้แก่ทีโอที อันเนื่องมาจากคำสั่งของศาลปกครองข้างต้น
นั่นทำให้ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุว่า ราคาหุ้น TRUE ปรับลงราว 5% คาดว่ามาจากประเด็นเรื่องคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดที่มีต่อกรณีพิพาทของบริษัท
สำหรับประเด็นนี้สืบเนื่องมาจากกรณีพิพาทระหว่าง TRUE กับ NT ที่เกิดขึ้นในอดีต โดย NT ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นผู้ให้สัมปทานบริการโทรศัพท์กับ TRUE โดย NT จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จาก TRUE ซึ่งปรากฏว่า TRUE ได้ลดราคาค่าบริการโทร.ทางไกล 1234 ทำให้ NT ได้รับส่วนแบ่งรายได้น้อยลงกว่าเดิม จึงเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเสียรายได้ระหว่าง 16 พ.ย.43-มิ.ย.48 เป็นจำนวนเงิน 1.69 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ กรณีพิพาทดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ได้ชี้ขาดให้ TRUE จ่ายเงิน 1.7 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 6.6875% นับจาก 29 พ.ค.48 รวมถึงจ่ายค่าเสียหายที่ NT ขาดรายได้ 27.16 ล้านบาท/เดือน พร้อมดอกเบี้ย 6.6875% ตั้งแต่ 30 มิ.ย.48 จนกว่าจะยุติบริการโทร.ทางไกล 1234
ขณะที่ TRUE ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินนี้และได้ขอให้ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่ศาลปกครองกลางยกคำร้องของบริษัท ทำให้ TRUE ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และล่าสุดศาลปกครองสูงสุดให้ยกอุทธรณ์ของบริษัท ซึ่งหมายความว่า TRUE มีความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายเงินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ (คาดเป็นเงินรวมราว 6-7 พันล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม TRUE ยังมีสิทธิยื่นคัดค้านภายใน 90 วันเพื่อขอให้ศาลพิจารณาคดีหรือมีคำสั่งใหม่ นอกจากนี้ TRUE เองได้แจ้งว่าได้ตั้งสำรองเกี่ยวกับกรณีพิพาทนี้ไว้แล้ว (แต่ไม่เปิดเผยจำนวนที่ตั้งสำรอง) รวมทั้งยังมีกรณีพิพาทอื่นๆ กับ NT ที่คาดว่าจะ Settle กันได้ จึงเชื่อว่าจะกระทบกับผลการดำเนินงานของบริษัทไม่มาก
ดังนั้น จึงยังคงประมาณการกำไรราคาเป้าหมายของ TRUE สำหรับปี 2568 ไว้ตามเดิม (FV 13.90 บาท) และคงคำแนะนำ Outperform