ปมธุรกรรมอันน่าสงสัยมากมายหลายรายการในงบการเงินไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์สอบถามและสั่งให้ชี้แจงข้อมูลบริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV ตอบกลับมาแล้ว และแจกแจงปมธุรกรรมการลงทุนได้ทุกประเด็น
เพียงแต่จะมีน้ำหนักลบล้างการทำธุรกรรมที่เข้าข่ายความไม่โปร่งใสของฝ่ายบริหาร CV ได้ขนาดไหน
และตลาดหลักทรัพย์จะดำเนินการอย่างไรต่อกับปมธุรกรรมอันต้องสงสัยในการถ่ายเงิน สร้างความเสียหายให้ผู้ถือหุ้น
หรือการตรวจสอบการบริหารงานของ CV จะสิ้นสุดเพียงแค่ฝ่ายบริหารบริษัทชี้แจงข้อมูลกลับมาเท่านั้น
CV เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 หลังนำหุ้นจำนวน 320 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 50 สตางค์ เสนอขายนักลงทุนเป็นครั้งแรกในราคาหุ้นละ 3.90 บาท โกยเงินไป 1,248 ล้านบาท
ตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้น CV ร่วงลงมาตลอด เพราะผลประกอบการบริษัทไม่เป็นไปตามคาดหมาย ผลกำไรทรุด และพลิกมาขาดทุนหนักในปี 2566 จำนวน 560.10 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปีนี้ขาดทุนแล้ว 595.34 ล้านบาท
นอกจากนั้น นายเศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง ยังทยอยขายหุ้นออกตั้งแต่กลางปี 2566 จนล่าสุดถือหุ้นเหลืออยู่ 18% ของทุนจดทะเบียน
จากราคาหุ้นที่นำเสนอขายนักลงทุนครั้งแรก 3.90 บาท ล่าสุดหุ้น CV เหลือเพียง 16 สตางค์ ผู้ถือหุ้นรายย่อยตายเรียบ
ประเด็นที่น่าตั้งคำถามคือ นักลงทุนรายย่อยเข้าไปเข้าไปซื้อหุ้น CV เพราะเหตุใด และทำไมมีผู้ถือหุ้นรายย่อย “ติดดอย” หุ้นตัวนี้ถึงกว่า 1.2 หมื่นคน
ย้อนดูพฤติกรรมหุ้น CV ตั้งแต่เข้าตลาดหุ้นเมื่อ 3 ปีก่อน สูบเงินนักลงทุนมาตลอด ตั้งแต่เสนอขายหุ้นครั้งแรก โกยเงินไป 1,248 ล้านบาทแล้ว ปี 2565 สูบเงินโดยการออกหุ้นกู้ ดอกเบี้ย 6.25% ปี 2566 ออกหุ้นกู้ ดอกเบี้ย 7.25% ระดมเงินรวมเกือบ 1,000 ล้านบาท
นักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ CV ทุกรุ่น กำลัง ”ซวย” เพราะมีปัญหาการชำระคืน หรือสุดท้ายอาจไม่ได้รับการชำระคืนเหมือนบริษัทจดทะเบียนอีกนับสิบแห่ง
แผนสูบเงิน หลอกกินนักลงทนครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ CV ประกาศเพิ่มทุน จำนวน 2,560 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 1 บาท แถมแจกวอร์แรนต์หรือใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนฟรี
แต่แผนการสูบเงินนักลงทุนรอบแรกต้องล้มพับ เพราะราคาหุ้นในกระดานไม่เป็นใจ เมื่อ ”กินคำโต” ไม่ได้ ฝ่ายบริหาร CV จึงปรับแผน ลดราคาขายหุ้นเพิ่มทุนเหลือเพียงหุ้นละ 50 สตางค์ แต่นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่รู้ทันแผน ”หลอกต้ม”
พร้อมใจกันสละสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยมีผู้ถือหุ้นใช้สิทธิจองซื้อเพียง 126.36 ล้านหุ้น ระดมเงินได้เพียง 63.18 ล้านบาท
ความบัดซบของการเพิ่มทุนครั้งนี้คือ นายเศรษฐศิริ ผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันการเพิ่มทุนไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน พร้อม น.ส.นิลทิดา เลิศเรืองศุภกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในสัดส่วน 10.88%
CV ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนแห่งแรกที่ประกาศเพิ่มทุน นำหุ้นเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ยอมใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพราะมีบริษัทจดทะเบียนนับสิบแห่งเคยมีพฤติกรรม "บัดซบ" ในลักษณะเดียวกัน โดยผลักดันแผนเพิ่มทุน เพื่อหลอกสูบเงินนักลงทุนรายย่อย
ต่อจากนี้บริษัทจดทะเบียนใดเพิ่มทุน เมื่อเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติรับรอง ผู้ถือหุ้นจะต้องขอคำยืนยันจากผู้ถือหุ้นใหญ่ว่า จะใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่
ถ้าไม่มีคำตอบ ผู้ถือหุ้นรายย่องต้องไม่ใส่เงินเพิ่มทุน เพราะมีสิทธิถูกผู้ถือหุ้นใหญ่หลอกกิน
ตลาดหลักทรัพย์ต้องใช้ CV เป็นกรณีศึกษา เพื่อแก้ปัญหาผู้ถือหุ้นใหญ่ หลอกให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนแห่งใดไม่ยอมใส่เงินเพิ่มทุน ทั้งที่เป็นผู้ผลักดันมติเพิ่มทุน จะต้องชี้แจงเหตุผลการสละสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน
ประจานให้สาธารณชนรู้ว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือฝ่ายบริหารบริษัทจดทะเบียนแห่งใดวางแผนเพิ่มทุนหลอกต้มผู้ถือหุ้นรายย่อย
CV สูบเงินจากนักลงทุนไปประมาณ 2 พันล้านบาท คำถามคือ เงินหายไปไหน และทำไมผลประกอบการบริษัทจึงทรุดหนัก คำตอบคือ เงินส่วนใหญ่ถูกถ่ายไปในธุรกรรมอันต้องสงสัย
อนาคต CV เป็นอย่างไร การทยอยขายหุ้นทิ้งของนายเศรษฐศิริ น่าจะเป็นคำตอบที่ดี เพราะถ้าแนวโน้มบริษัทสดใส ผู้ถือหุ้นใหญ่จะทยอยเทขายหุ้นทิ้งทำไม
พฤติกรรมการบริงานของ CV ความสูญเสียของประชาชนผู้ลงทุนได้รับจากหุ้นตัวนี้ เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการทบทวนการพิจารณากลั่นกรองอนุมัติการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน และการพิจารณารับบริษัทจดทะเบียนใหม่
นโยบายการรับหุ้นใหม่ในเชิงปริมาณควรเลิกเสียทีเถอะ และหันมาให้ความสำคัญในการสกัดกั้นหุ้นเน่าๆ ที่เข้ามาปล้นเงินนักลงทุนในตลาดหุ้น
ถ้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์พิจารณากลั่นกรอง หาหุ้นดีๆ มาให้ประชาชนลงทุนไม่ได้
อย่ารับหุ้นใหม่เข้ามาอีก เพราะหุ้นเน่าๆ ที่ตายซากคากระดานหุ้นมีนับร้อยบริษัท ส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวลฟุ้งตลาดหุ้นอยู่แล้ว