xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์อ่อนแอ เชื่อปี 68 ออร์เดอร์ใหม่หนุนผลงานฟื้นสู่ปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ปี 67 ซึม จากตัวเลขการผลิตรถยนต์โดยรวมของไทยลดลง และทั่วโลกยังกังวลสงคราม ขณะ สอท.หั่นเป้าการผลิตรถยนต์ปีนี้ลงอีก 200,000 คัน จาก 1.7 ล้านคัน เหลือ 1.5 ล้านคัน เหตุพบยอดผลิตรถยนต์ 10 เดือนแรกลดลง 19.28% โบรกฯ ประเมินหุ้นกลุ่มนี้ ”เชิงลบ”เหตุหลายปัจจัยลบรุมเร้า มองปลายปีนี้เริ่มฟื้นและจะกลับเข้าสู่ปกติชัดเจนปี 68 หลังมีออร์เดอร์ใหม่ไหลเข้า คงมุมมองหุ้นเด่นในกลุ่ม AH และ SAT

เมื่อ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประกาศลดประมาณการการผลิตรถยนต์ปี 2567 ลงอีก 200,000 คัน จาก 1.7 ล้านคัน เหลือ 1.5 ล้านคัน โดยปรับลดผลิตขายในประเทศจาก 550,000 คัน เป็น 450,000 คัน ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกลดลงจาก 1.15 ล้านคัน เหลือ 1.05 ล้านคัน

เนื่องจากในเดือนตุลาคม 2567 มีจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ทั้งสิ้น 118,842 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 25.13% และลดลงจากเดือนกันยายน 2567 ที่ 2.81% เพราะผลิตเพื่อส่งออกลดลง 7% และผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง 51.7% ส่งผลให้ 10 เดือน(มกราคม-ตุลาคม 2567) มียอดผลิตทั้งสิ้น 1,246,868 คัน ลดลง 19.28%

โดยเหตุที่ปรับลดเป้าการส่งออกรถยนต์ปีนี้ เพราะปัจจัยลบอย่างจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ขยายวง และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังไม่ได้สดใสคึกคักเหมือนที่ผ่านมา และอีกส่วนหนึ่งเพราะปี 2566 ยอดส่งออกรถยนต์สูงถึง 1.117 ล้านคัน ส่งผลให้ สอท. จึงตั้งป้าไว้เบื้องต้นที่ 1.15 ล้านคัน ซึ่งตัวเลขปีที่ผ่านมาสูง เพราะฐานผลิตในไทยได้ผลิตทดแทนประเทศหนึ่งที่โรงงานมีปัญหาทำให้ไม่มีการผลิต ขณะที่ สอท. มองทิศทางการส่งออกรถยนต์ไทยปี 2568 คาดการผลิตเพื่อส่งออกไว้ที่ 1.05 ล้านคันเท่ากับปี 2567 ซึ่งจะปรับเป้าเพิ่มหรือลด ต้องประเมินผลจากตัวเลขการส่งออกของเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมของปีนี้ ก่อนจะทราบชัดเจนในเดือนมกราคมปี 2568

นอกจากนี้ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการกำหนดเป้าหมายการส่งออกคือ ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะปรับขึ้นภาษีสินค้าจากทั่วโลก 10-20% อาจส่งผลกระทบเศรษฐกิจ การค้าโลกขยายตัวลดลง ขณะที่ตลาดรถยนต์ในหลายประเทศเริ่มมีการกวดขันเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์เครื่องยนต์สัปดาปภายในของไทย ในทางกลับกันจะเป็นโอกาสการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะเป็นโอกาสการส่งออกรถยนต์นั่ง และรถปิกอัพไฮบริด

ประเมิน ”เชิงลบ” หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ 

 บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ประเมินหุ้นกลุ่ม AUTOMOTIVE แนะนำ "NEGATIVE"  เพราะยอดผลิตรถยนต์เดือน ก.ย. ลดลงถึง 26% เทียบปีก่อน สาเหตุมาจากยอดขายรถยนต์ในประเทศลดลงเหลือเพียง 3.9 หมื่นคัน หรือลดลง 37% ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 53 เดือนที่ผ่านมา ส่วนการส่งออกก็ลดลงอย่างมากถึง 18% เทียบปีก่อน ขณะที่ยอดผลิตรถยนตร์วมในไตรมาส 3 ปี 67 ลดลง 21% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงสูงสุดนับตั้งแต่ปี 63 เชื่อว่าปัจจัยกดดันหลักต่อบริษัทผลิตรถยนต์ทั้งในด้านงบการเงินในไตรมาส 3 ปีนี้และแนวโน้มในอนาคต ยังคงมุมมอง NEGATIVE

ทั้งนี้ การผลิตรถยนต์ของไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว เนื่องจากการผลิตรถยนต์ของไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว เนื่องจากยอดผลิตรถยนต์รวมในเดือนก.ย. 67 ลดลง 26% เทียบปีก่อนเหลือ 1.22 แสนคัน ซึ่งต่ำกว่าที่คาด ยอดขายรถยนต์ในประเทศยังคงกดดันยอดผลิตรถยนต์รวม โดยลดลงเหลือ 3.9 หมื่นคัน หรือ 37% ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 53 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ยอดขายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน พ.ค.63 เป็นต้นมา สถาบันการเงินยังคงปฏิเสธการอนุมัติสินเชื่อสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ เนื่องจากมี NPL สูง การส่งออกรถยนต์ดูอ่อนแอเช่นกัน โดยลดลง 18% เทียบปีก่อน เหลือ 80,000 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจานผลมาจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยมียอดส่งออกลดลงในทุกประเทศยกเว้นออสเตรเลีย การผลิตรถยนต์ตั้งแต่ต้นปี (ม.ค.-ต.ค.) ลดลงถึง 19% จากปีก่อน

โดยคาดกำไรไตรมาส 3 ของกลุ่มยังอ่อนแอเนื่องจากการผลิตรถยนต์โดยรวมของประเทศไทยใน ไตรมาส 3 ถือเป็นไตรมาสที่น่าผิดหวังที่สุดรายไตรมาส นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 โดยลดลง 21% จึงคาดว่ารายได้ของบริษัทของกลุ่มจะได้รับผลกระทบรุนแรงคาดว่ารายได้ของบริษัทอาจลดลงเล็กเท่ากับหรือน้อยกว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในไตรมาสนี้แม้ว่าจะฟื้นตัวขึ้นบ้างเมื่อเทียบไตรมาสก่อน

ดังนั้น จึงคงมุมมอง NEGATIVE ไม่เพียงแต่ไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่ยังเห็นว่าสถานการณ์กำลังแย่ลง โดยเฉพาะยอดขายในประเทศ การคาดการณ์การผลิตรถยนต์ในปี 67 ของ บล.กรุงศรีฯ อยู่ที่1.59 ล้านคัน หรือลดลง 14% จากปีก่อน โดยตัวเลขปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูงที่ตัวเลขจริงอาจต่ำกว่า 1.55 ล้านคัน หรือลดลง 17% เทียบปีก่อน ดังนั้น จึงคงมุมมองเชิงลบเนื่องจากการผลิตรถยนต์ที่อ่อนแอในไตรมาส 3 อาจกดดันรายได้และราคาหุ้นของกลุ่ม

AH ผลดำเนินงานยังคงเป็นปกติ 

 บล.ฟิลลิป ประเมินหุ้น AH หรือ บมจ.อาปิโก ไฮเทค หรือ AH หลังจาก AH ชี้แจงรายละเอียดการเข้าลงทุนเพิ่มใน SGAH เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและขยายธุรกิจให้กับทาง Sakthi Automotive Group USA, Inc. (SAGUSA) (SGAH ถือหุ้น 100%) เพื่อรองรับยอดคำสั่งซื้อจากการออกโมเดลรถยนต์รุ่นใหม่ของลูกค้า ซึ่งมียอดเข้ามาแล้ว ส่วน 1-2 ปีข้างหน้านี้ คงคำแนะนำ "ซื้อ" ราคาพื้นฐานอยู่ระหว่างปรับ เนื่องด้วยการลงทุนเพิ่มในครั้งนี้ยังคงถือเป็นโอกาสอันดีในการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้เล่นระดับโลก จึงยังคงคำแนะนำ "ซื้อ"

อย่างไรก็ดี อาจมีผลกระทบจำกัดจาก Trade war เพราะ AH ชี้แจงถึงผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ต่อประเด็นการส่งสินค้าจากฐานการผลิตที่จีนไปสหรัฐฯ คาดจำกัด เนื่องด้วยสินค้าที่ส่งออกไปนั้นเป็นสินค้าสำเร็จรูปทำให้ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพียง 5% ต่างจากการนำเข้าวัตถุดิบโดยตรงที่จะเสียภาษีนำเข้า 25%

 บล.บัวหลวง คาดผลงานไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ของ AH เริ่มฟื้นตัว เพราะผู้บริหารคาดการณ์ฟื้นตัวอาจจะเข้าช้ากว่าที่คาดไว้เดิม และคงจะฟื้นตัวไม่มากนัก ผลจากการอนุมัติสินเชื่อที่ยังมีความเข้มงวดอยู่ ดังนั้น ฝ่ายวิจัยจึงคาดการณ์กำไรปีนี้ ที่ 1.34 พันล้านบาท และกำหนดราคาเป้าหมายอิง PER ที่ 6 เท่า จะได้ราคาใหม่ที่ 22.6 บาท โดยคงจะรอตลาดรถยนต์ในประเทศฟื้นตัวในปี 68 และความคืบหน้าของ Order EV ใหม่ ของ BYD และ Changan ขณะที่ "เย็บ ซู ชวน" ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AH เผยว่า ผลงานครึ่งหลังของปี 67 AH ยังคงเดินหน้าทยอยจ่ายคืนหนี้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุน ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เพื่อประสิทธิภาพการดำเนินงานสูงสุด ขณะเดียวกัน บริษัทได้มีการมุ่งเน้นหาลูกค้าและออเดอร์ใหม่ในประเทศต่างๆทั่วโลก โดยปัจจุบันมีโครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ใหม่จากประเทศโปรตุเกสเข้ามาเพิ่มเติม และจะเริ่มมีการรับรู้รายได้ช่วงประมาณไตรมาส 4 ปีนี้

บล. กรุงศรี มองว่า AH จะทำผลการดำเนินงานของธุรกิจในแต่ละประเทศปีนี้อาจจะดูไม่น่าตื่นเต้น โดยของไทย สัดส่วน 64% ของรายได้รวม น่าจะโตได้ในระดับเลขต่ำ เท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับยอดผลิตรถยนต์ และยอดขายรถยนต์ในประเทศ ส่วนที่มาเลเซีย 14% อาจจะหดตัวลงหลังจากที่ยอดขายรถในประเทศถึงจุดสูงสุดติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว และที่จีน 5% น่าจะโตได้ในระดับเลขตัวเดียวเท่านั้น สุดท้ายที่โปรตุเกส 16% น่าจะเติบโตแข็งแกร่งที่สุด เพราะมีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามา แต่อาจจะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากถูกกดจากต้นทุนการดำเนินงานสูงและยังคงประมาณการกำไรปี 2567 ของ AH เอาไว้ที่ 1.7 พันล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วนิดเดียว ขณะมองว่าแนวโน้มผลงานชะลอตัวลงระยะสั้นแต่บริษัทยังจ่ายปันผลได้อัตราที่สูงถึง 7% ต่อปี คงคำแนะนำซื้อและคงราคาเป้าหมายที่ 33 บาท

บล.พาย มองแนวโน้มผลงาน AH ครึ่งหลังปี67 จากการไม่มีช่วงวันหยุดยาว และการเปิดโรงงานใหม่ของผู้ประกอบการจากจีน อย่างไรก็ตามจะให้กลับสู่ระดับปกติคงเป็นช่วงครึ่งหลังปี 68 เป็นต้นไป การแข่งขันด้านราคารถ EV ของจีนหมดไป คาด AH จะมีคำสั่งซื้อมูลค่าสูงในปี 69 เป็นต้นไป(เบื้องต้นคาดจะเป็นในกลุ่มรถกระบะ EV) ดังนั้น ฝ่ายวิจัยจึงแนะนำ "ซื้อ" ด้วยมูลค่าพื้นฐาน 25.60 บ./หุ้น และจากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ทั้ง ICE หรือเครื่องยนต์สันดาป และ EV ซึ่ง AH มีความพร้อมรับคำสั่งซื้อที่จะเข้ามาได้ คาดกำไรทั้งปี67 แตะ 1,027 ล้านบาท ส่วนปี 68 คาดกำไรเติบโตก้าวกระโดดแตะ 1.4 พันล้านบาท

SAT ผลงานขยับขึ้นต่อเนื่องชัดเจนปี 68 

บล.พาย ระบุว่า แนวโน้มช่วงครึ่งหลังปี 67 หุ้น SAT หรือ บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี คาดจะเห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มรถยนต์เพราะพ้นไตรมาส 2 ซึ่งเป็นช่วง Low Seasons ไปแล้ว แต่ยังคงมีความเสี่ยง หลังจากผู้บริหารมองว่าระดับต่ำสุดของการผลิตรถยนต์รวมจะอยู่ที่ระดับ 1.6 ล้านคัน รวมถึงกลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร ที่คาดว่าปริมาณการผลิตจะปรับขึ้นเช่นกันหลังจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ด้านคำสั่งซื้อใหม่ทางผู้บริหารยืนยันว่ามีเข้ามาประมาณ 200-300 ล้านบาท/ปี โดยจะทยอยรับรู้ปลายปี 67 บางส่วน และรับรู้เต็มที่ปี 68

ทั้งนี้ คาด SAT กำไรทั้งปีที่ 701 ลบ. และมีความเสี่ยงว่าจะไปไม่ถึง หลังจาก SAT มองว่าเป้าการผลิตรถยนต์ที่ 1.7 ล้านคันยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประเมินว่าผลประกอบการจะไม่ต่ำไปกว่าไตรมาส 2 แล้ว เมื่อรวมกับเงินปันผลจ่ายทั้งปีคาดจะจ่ายเกิน 1 บาทต่อหุ้น คิดเป็นผลตอบแทนกว่า 10% ดังนั้น ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" เพื่อรับเงินปันผลเช่นเดิม โดยประเมินมูลค่าพื้นฐานที่ 16.9 บาท

บล.ดาโอ (ประเทศไทย) มองว่า สำหรับกำไรไตรมาส 3-4 ปีนี้ SAT คาดจะยังลดลงเมื่อเทียบปีก่อน แต่จะฟื้นตัวจากไตรมาส 2 ตามยอดผลิตรถยนต์ที่ดีขึ้น และ SAT รับรู้รายได้จากคำสั่งซื้อใหม่มากขึ้น ขณะที่ธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรเริ่มดีขึ้นจากสถานการณ์เอลนีโญที่คลี่คลายและฐานต่ำในปีก่อน แนะนำ “ถือ ”ขณะที่แนวโน้มกำไรไตรมาส 3 ปีนี้ที่จะกลับมาดีขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสก่อน

บล. หยวนต้า ประเมินพื้นฐานหุ้น SAT มีมุมมองว่าผลประกอบการได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดกำไรจะเริ่มฟื้นตัวในปี 68 และยังเป็นหุ้นปันผลดี คาด Yield ปันผลปี 67-68 สูงที่ 6.4% และ 7.3% อย่างไรก็ดีฝ่ายวิจัยได้ปรับราคาพื้นฐานปี 68 เป็น 13.10 บาท จากมูลค่าพื้นฐานปี 2567 ที่ 11.40 บาท คาดกำไรปี 68 จะเติบโต 15% จากปีนี้ คาดรายได้จากกลุ่มเครื่องจักรการเกษตรจะฟื้นตัว 8% จากปีนี้ หลักๆ มาจากคูโบต้า ส่วนรายได้จากกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์คาดฟื้นตัว 5%


กำลังโหลดความคิดเห็น