หลังจากตลาดหลักทรัพย์ไล่ตรวจสอบ บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งที่มีธุรกรรมอันต้องสงสัยการถ่ายเทเงินของผู้ถือหุ้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไม่ยอมน้อยหน้า ประกาศกล่าวโทษบริษัทจดทะเบียนที่มีพฤติกรรมทุจริตตามมาพร้อมกันหลายคดี
คดีแรก ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) หรือ TSF กับพวกรวม 6 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ฐานกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต
การตรวจสอบพบว่า ในระหว่างปี 2560-2561 นายอรัญ อภิจารี ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF และกรรมการ บริษัท ทีเอสเอฟ เอ็กซ์ตร้า จำกัด (บริษัทย่อย) มีการทุจริตผ่านบริษัทย่อย โดยทำสัญญาติดตั้งสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์บริเวณตู้โทรศัพท์สาธารณะกับบริษัท จี.ไอ.เอส.พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด (GISP)
สัญญาที่ทำไว้ระบุให้บริษัทย่อยจ่ายเงินค่ารับโอนสิทธิ จำนวน 3 ล้านบาท ให้ GISP แต่เงินถูกโอนกลับไปให้นายอรัญ ต่อมาบริษัทย่อยทำสัญญาเพิ่มเติมจากสัญญาหลัก เพื่อจ่ายเงินค้ำประกัน จำนวน 50 ล้านบาทให้ GISP แต่เงินถูกโอนไปให้บริษัท ไลเกอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (Liger) และโอนต่อไปยังบุคคลอื่นอีกหลายทอดตามคำสั่งของนายอรัญ
การกระทำของนายอรัญจึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่ TSF และบริษัทย่อย โดยมี น.ส.มินทร์ฐิตา ปนาวัฒน์ธนยศ น.ส.กาญจนกร เตชะพันธ์ น.ส.โศภชา เจริญสุข GISP และ Liger เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุน
ก.ล.ต. ได้รายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ปปง. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เนื่องจากความผิดเข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
คดีที่สอง ก.ล.ต. กล่าวโทษบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL นายดุษฎี เล็กยิ้ม และนายธนากร ธนวริทธิ์ ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในความผิดกรณีปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (FILING) และร่างหนังสือชี้ชวน ในสาระสำคัญเกี่ยวกับการสิ้นสุดหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
ก.ล.ต. ตรวจสอบพบว่า ข้อกำหนดในการสิ้นสุดหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่ปรากฏในร่างสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ของ ALL ที่เปิดเผยไว้ในแบบ filing ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 แตกต่างจากสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่ ALL ลงนาม ฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 และนำส่งต่อ ก.ล.ต. โดยในร่างสัญญากำหนดเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นเหตุให้สัญญาสิ้นสุดลง “เมื่อผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตกเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือถูกพิทักษ์ทรัพย์”
แต่ในสัญญาฉบับลงนามกลายเป็นระบุว่า “เมื่อผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้หรือผู้ออกหุ้นกู้ตกเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือถูกพิทักษ์ทรัพย์” ซึ่งการทำหน้าที่และการสิ้นสุดหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ถือเป็นข้อมูลที่มีสาระสำคัญอันมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลและรักษาผลประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้นกู้
ขณะเกิดเหตุ นายดุษฎี และนายธนากร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ ALL และเป็นผู้ลงนามรับรองความถูกต้องของแบบ filing ฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งเป็นผู้ลงนามในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565
การกระทำของ ALL เข้าข่ายปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญของแบบ filing อันเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนและต้องระวางโทษตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของนายดุษฎี และนายธนากร บุคคลทั้งสองจึงต้องรับโทษตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
หุ้น TSF ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 โดยมีปัญหาด้านฐานะทางการเงิน และส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าศูนย์หรือติดลบ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหตุแห่งการถูกเพิกถอนได้ในเวลาที่กำหนด
ส่วนหุ้น ALL มีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ มีหนี้หุ้นกู้จำนวนมากที่ผิดนัดชำระ โดยถูกตลาดหลักทรัพย์สั่งเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567
ทั้ง TSF และ ALL ทิ้งความเสียหายให้ผู้ถือหุ้นสามัญและผู้ถือหุ้นกู้จำนวนนับหมื่นราย โดยความล่มสลายของบริษัทจดทะเบียนทั้งสองแห่ง เกิดจากการทุกจริตของผู้บริหารบริษัท
ยังมีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ่นอีกจำนวนมาก อาจนับร้อยๆ แห่งที่ทุจริต ยักย้ายถ่ายเท ไซฟ่อนเงินออกจากบริษัทจดทะเบียน โกงผู้ถือหุ้นรายย่อย จนสุดท้ายบริษัทตกอยู่ในสภาพตายซาก ใบหุ้นกลายเป็นเศษกระดาษ โดยนักลงทุนที่หลงเข้าไปถือหุ้นต้องหมดเนื้อหมดตัว
แต่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนขี้โกง ส่วนใหญ่หลุดรอดลอยนวล การกล่าวโทษผู้บริหาร TSF และ ALL เป็นเพียงส่วนน้อยที่ ก.ล.ต.ตรวจสอบพบ
การปล้นในบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ ผู้ถือหุ้นรายย่อยมักตายฟรี และไม่อาจเรียกร้องการเยียวยาใดๆ
แต่การโกงของผู้บริหาร TSF และ ALL ผู้ถือหุ้นสามัญและผู้ถือหุ้นกู้นับหมื่นรายกำลังรอเยียวยาด้านจิตใจ
เมื่อผู้บริหารและที่ร่วมขบวนการโกงใน TSF และ ALL ต้องรับโทษตามความผิดที่ก่อไว้