ธนาคารกสิกรไทยครองตำแหน่งในดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ ประจำปี 2567 หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 เป็นธนาคารแรกของไทย ทั้งในระดับโลก (World) และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) พร้อมเดินหน้าเชื่อมต่อภาคส่วนสำคัญในระบบนิเวศ เพื่อส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนให้ทุกฝ่าย
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยมีเป้าหมายในการเป็นสถาบันการเงินที่ขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน มุ่งมั่นเป็นพันธมิตรที่วางใจได้ สร้างและส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ทุกคน บนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน โดยได้ผสานแนวคิด ESG เข้ากับทุกมิติในการดำเนินธุรกิจ ดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม พร้อมให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม บนหลักธรรมาภิบาลที่ดีและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารผู้นำด้าน ESG ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้รับการคัดเลือกเป็น สมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ประจำปี 2567 หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) 2024 ทั้งในกลุ่มดัชนีระดับโลก DJSI World และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ DJSI Emerging Markets เป็น ปีที่ 9 ติดต่อกัน (ปี 2559-2567) เป็นธนาคารแห่งแรกของไทยและภูมิภาคอาเซียน จากการประเมินผลการทำงานทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารสามารถรักษามาตรฐานไว้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปีที่ผ่านมาธนาคารมีผลการดำเนินงานบนหลัก ESG ที่สำคัญ ดังนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารกสิกรไทยได้ประกาศยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Strategy) 3 ด้าน ได้แก่ 1.Green Operation การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานภายในของธนาคาร (Scope 1 และ 2) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2573 2.Green Finance การปล่อยสินเชื่อรวมถึงการลงทุนเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านและ 3.Beyond Banking เช่น Climate Solutions การสร้างโซลูชันเพื่อการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม และ Carbon Ecosystem การเชื่อมต่อระบบนิเวศคาร์บอน เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านอย่างครบวงจรในทุกมิติที่เป็นมากกว่าบริการทางการเงิน
ธนาคารได้เดินหน้าทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นธนาคารที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากการดำเนินงานของธนาคาร (Scope 1 และ 2) เป็นศูนย์ภายในปี 2573 โดยในปี 2565-2567 ได้เปลี่ยนรถยนต์ของธนาคารเป็นรถไฟฟ้า 297 คัน และรถไฮบริด 552 คัน พร้อมติดตั้งแผงโซลาร์ในอาคารสำนักงานหลักครบ 100% และดำเนินการติดตั้งที่สาขาแล้ว 83 สาขา รวมทั้งมีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับการรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) 7 ปีต่อเนื่อง (2561-2567)
สำหรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอ (Scope 3) ธนาคารได้จัดทำแผนกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) แล้ว จำนวน 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กลุ่มเหมืองถ่านหิน กลุ่มซีเมนต์ กลุ่มอะลูมิเนียม และกลุ่มยานยนต์ โดยเข้าไปทำงานอย่างใกล้ชิดกับธุรกิจในอุตสาหกรรมหลักเหล่านี้ เพื่อช่วยวางแผนงานด้วยเครื่องมือและโซลูชันแบบเจาะลึกรายธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้ทันกับโลกที่หมุนอย่างรวดเร็ว สอดรับกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมทั้งคว้าโอกาสที่เกิดขึ้น
ธนาคารตั้งเป้าสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing (Loan) and Investment) 1-2 แสนล้านบาท ภายในปี 2573 โดยระหว่างปี 2565-2567 (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน) ธนาคารได้ส่งมอบเม็ดเงินเพื่อความยั่งยืนไปแล้ว 102,742 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อ Green Loans การให้ Transition Finance เพื่อสนับสนุนกิจการในการดำเนินงานเพื่อการเปลี่ยนผ่าน การออก Sustainability-linked Loan รวมทั้งการจัดสรรเงินลงทุนในธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดย บีคอน วีซี ผ่าน Beacon Impact Fund และการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนไปสนับสนุนธุรกิจที่คำถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมอีกด้วย
นอกจากนี้ ธนาคารได้จัดตั้งบริษัท คอปฟิฟตี้ จำกัด (KOP50) บริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร เพื่อริเริ่มโครงการสร้าง Sustainable Ecosystem ที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย KClimate 1.5 นำเสนอโซลูชันด้านสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร KEnergy+ สนับสนุนระบบนิเวศสีเขียวที่ยั่งยืนในมิติพลังงาน ผ่านการส่งเสริม EV Bike Ecosystem ด้วยโครงการ "WATT's Up" ซึ่งเป็น e-Marketplace Platform ให้เช่าจักรยานยนต์ไฟฟ้า และ Creative Climate Research Center (CCRC) ศูนย์รวมความรู้และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
ด้านสังคม ธนาคารให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงทางการเงิน และการส่งเสริมวินัยทางการเงิน บนพื้นฐาน Responsible Lending ควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงิน สิ่งแวดล้อม และทักษะต่างๆ แก่ผู้ด้อยโอกาส 59,250 คน และให้ความรู้ด้าน Cyber Security สื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของธนาคาร เข้าถึงผู้อ่าน 17 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ธนาคารได้พัฒนาบริการเพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้แก่คนไทยในวงกว้าง รวมถึงให้การสนับสนุนบริการที่ไม่ใช่ทางการเงินและส่งเสริมความเป็นอยู่ทางการเงินของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และธนาคารได้ดำเนินโครงการ AFTERKLASS แพลตฟอร์มที่ให้ความรู้ทางการเงินที่ช่วยยกระดับทักษะด้านการเงิน อาชีพ และการเรียนรู้ ที่ตอบสนองความต้องการของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานและสังคม ภายใต้การดำเนินงานที่เคารพสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความหลากหลายและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกท่าน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าอย่างเหมาะสม
ด้านธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ ธนาคารดำเนินการอย่างต่อเนื่องในด้านจรรยาบรรณทางธุรกิจ สอดคล้องกับมาตรฐานและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ทั้งของประเทศไทยและระดับสากล มีการเปิดเผยผลงานของบริษัทที่มีมาตรฐาน การบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยของสารสนเทศ ควบคู่กับการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยธนาคารมีการประเมินและบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ESG และ Climate Risk บริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของธนาคารให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาความยั่งยืน โดยการประเมิน ESG คู่ค้า และการจัดทำจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า เพื่อสื่อสารให้คู่ค้าของธนาคารนำไปเป็นแนวปฏิบัติ รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบัน นอกจากนี้ การปล่อยสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไปของธนาคารในปี 2567 ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ครบทั้ง 100%
น ส.ขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การครองตำแหน่งดัชนี DJSI เป็นปีที่ 9 ติดต่อกันของธนาคาร เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจที่สร้างการเติบโตควบคู่กับการรักษาสมดุล เพื่อส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ธนาคารกสิกรไทย พร้อมเป็นจุดเชื่อมต่อและประสานความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ ลูกค้า ผู้กำกับดูแล ผู้กำหนดนโยบาย องค์กรแหล่งความรู้และนวัตกรรม ตลอดจนภาคการเงินและตลาดทุน บูรณาการศักยภาพต่างๆ นำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ สร้างสมดุลให้เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม รวมถึงคว้าโอกาสที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน