xs
xsm
sm
md
lg

รับเหมาอ่วม! รับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 68 ส่วนค้าปลีก-ไฟแนนซ์ดี๊ด๊า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกเกอร์ประเมินกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กระทบหนักสุด หลังรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 68 อัตรา 7-55 บาท โดยเฉพาะ STECON หวั่นฉุดกำไร 6-13.5% แต่ยังมองผลกระทบน้อยกว่าคาด เหตุจ่ายค่าสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว แนะนำ Neutral กลุ่ม และให้ CK เป็น Top Pick ขณะที่กลุ่มเกษตร อาหาร และกลุ่มอุตฯ ที่มีโรงงานในพื้นที่ EEC กระทบกำไรด้วย แต่หุ้นค้าปลีก-ไฟแนนซ์ รับอานิสงส์เชิงบวกจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น

ดาโอฯ ระบุ กระทบกำไรกลุ่มรับเหมา- เกษตร-อาหาร

บล.ดาโอ (ประเทศไทย) เปิดเผยในบทวิเคราะห์ว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวานนี้ (23 ธ.ค.) เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 68 ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 7-55 บาท (เฉลี่ย +2.9%) โดยมีอัตราสูงสุดวันละ 400 บาท และอัตราต่ำสุดวันละ 337 บาท รอเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ บริษัทมีมุมมองเป็นลบเล็กน้อยต่อการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าว เนื่องจากค่าแรงที่ปรับขึ้นเป็น 400 บาทมีผลบังคับใช้เพียงบางพื้นที่ ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดหลักในส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับขึ้นเพียง +2.5% ต่ำกว่าที่ตลาดกังวล อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามท่าทีรัฐบาลหลังจากนี้ในปี 68 จะมีการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทในพื้นที่อื่นเพิ่มเติมหรือไม่

สำหรับกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (CK, SEAFCO, STECON) โครงการก่อสร้างในประเทศส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเบื้องต้น ประเมินต้นทุนค่าแรงโดยรวมที่เพิ่มขึ้นทุกๆ +2% จะกระทบกำไร STECON มากสุด ราว -6% และ CK และ SEAFCO ราว -2-3%

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบมีโอกาสน้อยกว่าคาดการณ์เนื่องจากผู้ประกอบการรับเหมากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จ่ายค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำทั่วไปอยู่แล้ว คงน้ำหนัก “Neutral” และ Top pick ได้แก่ CK (ซื้อ/เป้า 27.50 บาท)

ประเมินกลุ่มเกษตร-อาหาร กระทบกำไรด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่ม Agri & Food โรงงานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ปริมณฑลเช่นกัน เช่น AAI, ITC, และ TU โรงงานผลิตอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร ขณะที่ GFPT แม้มีฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ จ.ชลบุรี แต่โรงงานผลิตทั้งหมดอยู่ จ.สมุทรปราการ ด้าน NER โรงงานผลิตอยู่ จ.บุรีรัมย์ เบื้องต้นเราประเมินต้นทุนค่าแรงรวมที่เพิ่มขึ้นทุกๆ +2% จะกระทบกำไรบริษัทเหล่านี้ราว -1-2%

อย่างไรก็ตาม มองว่าผลกระทบจะถูกชดเชยบางส่วนจากการปรับราคาขายขึ้น รวมถึงบริษัทเหล่านี้มีการทยอยปรับปรุงประสิทธิภาพไลน์การผลิตและขยายระบบ automation

ฟินันเซียระบุ ฉุดกำไร STECON มากถึง 13.5%

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินจะส่งผลให้ต้นทุนรวมปี 68 ของ 4 บริษัทที่เราดูแล (CK, STECON, PYLON, SEAFCO) เพิ่มขึ้นจากเดิมราว 0.1% และกระทบต่อประมาณการกําไรสุทธิปี 68 ของกลุ่มราว 3% โดย STECON กระทบมากสุด -13.5% จากระดับอัตรากําไรต่ำ ส่วน PYLON, CK, SEAFCO กระทบ -3%/-2%/-1% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม มองว่าผลกระทบอาจน้อยกว่าการคำนวณข้างต้น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการจ้างแรงงานที่มีฝีมือซึ่งค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าแรงขั้นตํ่า รวมถึงบริษัทยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ ขณะที่ความสามารถทำกำไรยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยอื่น เช่น ประเภทงาน ความต่อเนื่องของงานก่อสร้างที่อยู่ระหว่างดําเนินการ เช่น งานฐานรากเป็นงานระยะสั้นทำให้สามารถปรับเพิ่มต้นทุนสะท้อนในราคาประมูลได้เร็ว ผู้รับเหมาหลักมักมีการใช้ Sub contract ช่วยลดความเสี่ยง งานภาครัฐมีค่า K งานรถไฟฟ้าใช้เครื่องจักรเป็นหลัก

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโรงงานในพื้นที่ EEC - GFPT มีโรงงานหลักอยู่ในชลบุรี โดยต้นทุนค่าแรงอยู่ที่ 12% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกระทบกำไรราว 4.5% ของกำไรปี 68

ทั้งนี้ NSL มี 2 โรงงานหลักอยู่ในนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี (และมีโรงงานที่อื่นด้วยเช่น นนทบุรี สมุทรปราการ) ต้นทุนค่าแรงอยู่ที่ 10% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกระทบกำไรเล็กน้อยราว 3.8% ของกำไรปี 685 ส่วน DELTA มีโรงงานอยู่ในนิคมเวลโกร์ว ฉะเชิงเทรา แต่โรงงานหลักอยู่ที่นิคมบางปู สมุทรปราการ โดยมีต้นทุนค่าแรงอยู่ที่ 3.5% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกระทบกำไรจำกัดไม่เกิน 1-2%

เมย์แบงก์-พาย ค้าปลีก-ไฟแนนซ์ รับอานิสงส์บวก

ด้าน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มองการปรับขึ้นค่าแรงมีผลต่อกำไรบริษัทปี 68 บนสมมติฐานการปรับขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 2.9% จะกระทบกำไรเป็นบางกลุ่มในช่วง -0.1% ถึง -1.7% (ไม่มาก) ประกอบด้วย กลุ่มรับเหมา -1.7% กลุ่มอาหาร -0.9% กลุ่มบรรจุภัณฑ์ -0.7% กลุ่ม F&B -0.5% กลุ่มยานยนต์ -0.4% กลุ่มท่องเที่ยว -0.4% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -0.3% กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ -0.1% ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจะน้อยกว่าที่คาด เนื่องจากหลายบริษัทจ่ายค่าจ้างที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว

ส่วนกลุ่มที่ได้ Sentiment บวก คือ กลุ่มไฟแนนซ์ กลุ่มค้าปลีก และกลุ่ม ICT ในมุมกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น

บล.พาย มองมีปัจจัยหนุนเล็กน้อยต่อบริษัทจดทะเบียนจากการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท แต่ครอบคลุมเพียงบางพื้นที่ได้แก่ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ระยอง แม้จะมีความกังวลต่อต้นทุนจะเร่งขึ้น อย่างไรก็ตามบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วจ่ายค่าแรงมากกว่าขั้นต่ำ แต่กลุ่มที่จะมีผลอาจเป็น SME มากกว่า ท้ายที่สุดแล้วจึงเป็นบวกกับตลาดหุ้นมากกว่าโดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีก (BJC CRC CPALL)


กำลังโหลดความคิดเห็น