นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 34.00-34.50 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.40 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ (23 ธ.ค.) ที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 34.44 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 34.17-34.47 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อยที่ระดับ 2.4% และ 2.8% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนธันวาคม รวมถึงอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาวจากรายงานเดียวกันนั้นออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าว ได้หนุนให้ราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถทยอยรีบาวนด์สูงขึ้นราว +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 2,620-2,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวนด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเช่นกัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงกดดันจากทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลงหนักของราคาทองคำ หลังเฟดส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ยชัดเจน ทว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อบอนด์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ แรงขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้เล่นในตลาด รวมถึงการพลิกกลับมาย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ในช่วงปลายสัปดาห์
สำหรับสัปดาห์นี้ควรระวังความผันผวนในช่วงปริมาณการซื้อขายที่เบาบางในสัปดาห์สุดท้ายของปี อนึ่ง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก ทว่าธีมหลักของตลาดยังคงเป็นการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทำให้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของอังกฤษ รวมถึงข้อมูลตลาดแรงงานและยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของญี่ปุ่นยังมีความน่าสนใจอยู่ ส่วนฝั่งไทย ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดการส่งออกและนำเข้า
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง โดยเฉพาะหากเงินดอลลาร์สามารถทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ในกรณีที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะทยอยประกาศออกมานั้นไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจมีการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ตามธีม US Exceptionalism ออกมาบ้าง (ในปีนี้เงินดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้นกว่า +6%) นอกจากนี้ เรามองว่าราคาทองคำมีโอกาสรีบาวนด์ขึ้นต่อได้บ้าง แต่อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอจังหวะทยอยขายทำกำไรสถานะ Long ทองคำ ที่ทำผลตอบแทนได้โดดเด่นในปีนี้ ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เราคาดว่า อาจเริ่มเห็นการทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง หรืออย่างน้อยแรงขายสินทรัพย์ไทยควรจะลดลงจากช่วงสัปดาห์ก่อนๆ พอสมควร ลดแรงกดดันต่อเงินบาทได้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าทิศทางเงินดอลลาร์มีแนวโน้มย่อตัวลงได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวใน Sideways โดยต้องจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงจับตาการเคลื่อนไหวของบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เนื่องจากในสัปดาห์ที่จะถึงนี้จะมีการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่างข้อมูลตลาดแรงงาน และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เป็นต้น ซึ่งหากข้อมูลดังกล่าวยังคงสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจญี่ปุ่น อาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินเยนญี่ปุ่นได้บ้าง นอกจากนี้ ในเชิงเทคนิคัล เงินเยนญี่ปุ่น (USDJPY) มีโอกาสย่อตัวลงบ้าง หรืออย่างน้อยแกว่งตัว Sideways เช่นเดียวกับฝั่งดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) เรามองว่า ในเชิงเทคนิคัล ดัชนีเงินดอลลาร์มีโอกาสย่อตัวลงบ้างตามสัญญาณ Bearish Divergence บน RSI, MACD Forest ใน Time Frame รายวัน รวมถึงโอกาสเกิดทั้ง Double Tops และ Bearish Engulfing ในกราฟแท่งเทียนรายวัน