นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 โดยลดประมาณการเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 2.4% จากเดิม 2.6% เศรษฐกิจไทยจะเริ่มได้รับผลกระทบมาตรการกีดกันการค้าของ Trump 2.0 ตั้งแต่ครึ่งปีหลัง เพราะไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งกว่า 70% ของสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ จะตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้าและต้องการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในประเทศแทน เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ปัญหา China’s overcapacity จะกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งตลาดในและนอกประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว ซ้ำเติมภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว ท่ามกลางแรงกระตุ้นการคลังที่จะออกมาเพิ่มเติมในปีหน้า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในปีหน้าแม้จะยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักแต่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบผ่านการค้า การลงทุนโดย SCB EIC ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกเติบโตเช่นกันเหลือ 2.5% จากเดิม 2.8%
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง 0.25% ในเดือน ก.พ.2568 ไปอยู่ที่ 2% และคงไปตลอดช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันอาจยังไม่ได้มีปัจจัยกดดันชัดเจนที่ทำให้ กนง. ต้องเร่งปรับลดดอกเบี้ย แต่ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากความเปราะบางภายในและความท้าทายภายนอก นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ และลดผลกระทบภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บ้าง
ด้านคุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบมีแนวโน้มจะปรับแย่ลง ท่ามกลางมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินที่จะยังเข้มงวดต่อเนื่อง จากข้อมูล NCB สะท้อนว่าคุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบมีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงน่าจะคลี่คลายได้ช้า ส่งผลกดดันการบริโภคในระยะข้างหน้า สำหรับมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนล่าสุด เน้นช่วยลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบางได้มากขึ้นและยังมีโอกาสคืนหนี้ได้ สำหรับผลสำเร็จของมาตรการขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของรายได้ลูกหนี้เป็นหลัก
"เราประมาณการเศรษฐกิจไทยปีหน้าค่อนข้างต่ำกว่าที่อื่น และได้รวมผลกระทบจากเทรดวอร์แล้ว เพราะเรารับผลกระทบทั้งจากปัจจัยนอกประเทศคือนโยบายทรัมป์ที่กระทบ ส่วนปัจจัยในประเทศเองยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่มาตรการทางการคลังที่จะเข้ากระตุ้นมีช่องว่างให้ทำได้น้อยลง ส่วนการที่จะให้มาตรการทางการเงินเข้ามาแทนนั้น มองว่า การปรับลดดอกเบี้ยไม่อาจช่วยให้เพิ่มเพื่อนำไปลงทุนเพื่อให้เกิดแรงหมุนทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้น จึงมอง กนง.น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าเพียง 1 ครั้ง ในอัตรา 0.25% ซึ่งในกรณีแย่กว่านี้เรามอง ซึ่งจะเกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ที่รุนแรง-ขยายวงกว้างกว่าคาด รวมถึงปัญหากระทบชิ่งอันเนื่องมาจากปัจจัยเชิงวัฏจักร จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ไปสู่สถาบันการเงิน และส่งผลวนกลับไปยังเศรษฐกิจที่จะเติบโตต่ำลง-ยาวนาน ซึ่งเป็นต่อเนื่องมานับจากสถานการณ์โควิด ซึ่งมีกลุ่มที่สามารถฟื้นตัวได้ และไม่สามารถฟื้นตัวได้ โดยที่คนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่ไม่สามารถฟื้นตัวได้"
สำหรับเงินบาทจะอ่อนค่าลงอีกไม่มาก อยู่ในกรอบราว 34.00-35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ยังต้องจับตาความผันผวนของเงินสกุลอื่นที่อาจกระทบเงินบาทได้ สำหรับปี 2568 คาดว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายจะยังไหลออกต่อเนื่องกดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อในช่วงครึ่งแรกของปี แต่เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ช่วงครึ่งปีหลัง ตามทิศทางการลดดอกเบี้ยของ Fed ราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลง ราคาทองคำที่อาจสูงขึ้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับ มองกรอบปลายปีที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
"ประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่ำกว่าศักยภาพปกติที่ 2.7% แต่ปีหน้าเรามองที่ 2.4% ก็แสดงว่าต้องการการกระตุ้น มองดอกเบี้ยนโยบายสามารถลดดอกเบี้ยได้อีกท่ามกลางเงินเฟ้อ หรือปัจจัยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ที่มองว่า กนง.ลดครั้งเดียวคงเพราะ กนง.คงจะรอดูผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ในระยะข้างหน้า"