xs
xsm
sm
md
lg

บิทคอยน์ไม่ช่วย เอลซัลวาดอร์ใกล้ถังแตก!! เจอ IMF กดดันหนัก รับสภาพเซ็นกู้เงิน 1.4 พันล้านดอลลาร์พยุงประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอลซัลวาดอร์ ซึ่งกำลังเผชิญแรงกดดันทางการเงินอย่างหนัก หลังประเทศขาดสภาพคล่องรุนแรงจนต้องบ่ายหน้าเปิดโต๊ะเจรจาข้อตกลงกู้เงินมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังจากการเจรจายืดเยื้อนานกว่าสี่ปี โดยเงื่อนไขข้อตกลงนี้อาจไม่หอมหวานสำหรับลูกหนี้เท่าไหร่นัก เนื่องจากมีข้อกำหนดที่ระบุว่าหากได้รับการอนุมัติ เอลซัลวาดอร์จะต้องปรับลดเงื่อนไขบางส่วนของกลยุทธ์บิทคอยน์ลง

จากการเปิดเผยของ Decrypt ระบุถึงรายละเอียดเบื้องต้น ตามแถลงการณ์จากองค์กรระหว่างรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ของข้อตกลงการกู้เงินก้อนโต ถูกเปิดเผยเมื่อต้นเดือนนี้ โดยแหล่งข่าวบอกว่าแผนการกู้เงินนี้มุ่งเน้นไปที่ "การสนับสนุนการปรับตัวทางเศรษฐกิจมหภาคและการปฏิรูปโครงสร้าง" ภายใต้ข้อตกลงใหม่ เอลซัลวาดอร์จะทำให้การยอมรับบิทคอยน์เป็นไปโดยสมัครใจสำหรับภาคเอกชน และจำกัดการมีส่วนร่วมของภาครัฐในกิจกรรมคริปโต โดยรัฐบาลจะต้องลดบทบาทของตนในโปรแกรมกระเป๋าเงินดิจิทัล Chivo อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับดับฝัน Bitcoin city ของเอลซัลวาดอร์ทางอ้อมด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้กำหนดวาระการปฏิรูปที่ครอบคลุม รวมถึงมาตรการเพื่อเสริมสร้างกรอบการต่อต้านการทุจริตและปรับกฎระเบียบทางการเงินให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อปรับปรุงเสถียรภาพทางการเงินและการกำกับดูแล "ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการบิทคอยน์ จะลดลงอย่างมากตามนโยบายของกองทุน" หลุยส์ คูเด็ดดู รองผู้อำนวยการ IMF และราฟาเอล เอสปิโนซ่า หัวหน้าภารกิจเขียนในแถลงการณ์

เอลซัลวาดอร์ยอมเซ็นสัญญาข้อกฎหมายบิทคอยน์กับ IMF เพื่อช่วยรักษาเศรษฐกิจประเทศ

ขณะที่ตามรายงานของ Financial Times รัฐบาลเอลซัลวาดอร์จะหยุดบังคับให้ธุรกิจยอมรับบิทคอยน์ ซึ่งต้องจำยอมทำข้อตกลงกับ IMF โดยต้องเปลี่ยนบางส่วนของกฎหมายบิทคอยน์ เพื่อแลกกับการได้รับเงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์จาก IMF ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

อย่างไรก็ดีข้อตกลงนี้คาดว่าจะปลดล็อกเงินทุนเพิ่มเติมจากธนาคารพัฒนาระหว่างประเทศซึ่งอาจต้องใช้เงินมากถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์เพื่อให้เอลซัลวาดอร์สามารถดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจหลาย ๆ ด้านเพื่อให้สามารถรับเงินทุนก้อนดังกล่าวได้ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงดุลการชำระเงินหลักประมาณ 3.5% ของ GDP ในช่วง 3 ปีเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ของประเทศที่สูงถึง 85% ของ GDP ในปี 2567

ในขณะเดียวกัน ภาษีของประเทศจะยังคงชำระเป็นดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลมีแผนที่จะปรับปรุงความโปร่งใสและการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคณะกรรมการบริหารของ IMF คาดว่าจะตรวจสอบโปรแกรมเพื่ออนุมัติภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ขึ้นอยู่กับการดำเนินการปฏิรูปที่ตกลงกันของเอลซัลวาดอร์

บทบาทบิทคอยน์ในเอลซัลวาดอร์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2564 เมื่อประธานาธิบดี Nayib Bukele ของเอลซัลวาดอร์ประกาศ ว่าประเทศจะยอมรับบิทคอยน์เป็นเงินที่ถูกกฎหมาย ซึ่งปฏิกิริยาตอบรับจากทั้งในประเทศและนานาประเทศ มีทั้งบวกและลบ โดยผู้สนับสนุนบิทคอยน์ มองว่าเป็นเรื่องดี แต่บางคนรู้สึกว่าการกระทำนี้ถูกบังคับเนื่องจากไม่ได้มีการสำรวจประชามติจากประชาชนในประเทศ ซึ่งผลที่ตามมาคือ ทำให้ประเทศต้องถูกลดอันดับเครดิตและคำเตือนจาก Moody's และ Fitch Ratings ขณะที่สถาบันการเงินเช่นธนาคารโลกและ IMF ตอบสนองด้วยความคิดเห็นเชิงลบ โดยอ้างถึงความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม และทำให้ธนาคารโลกต้องโต้ตอบด้วยท่าทีแข็งกร้าวด้วยการปฏิเสธการขอความช่วยเหลือของเอลซัลวาดอร์ในการดำเนินการกฎหมายบิทคอยน์

IMF ยื่นคำขาดให้เอลซัลวาดอร์จำกัดการทดลองใช้บิทคอยน์

ตั้งแต่การประกาศให้บิทคอยน์เป็นเงินตราถูกกฏหมายของประเทศในปี 2564 ทาง IMF ยังคงแสดงท่าทีไม่พอใจกับการทดลองใช้บิทคอยน์ของเอลซัลวาดอร์เรื่อยมาจนกระทั้งถึงปัจจุบัน โดยในการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีจูเลีย โกเซก โฆษกของ IMF กล่าวว่ากองทุนได้แนะนำให้ "ภาครัฐจำกัดแผนการลงทุนบิทคอยน์"

ซึ่งในต้นปี 2565 ทาง IMF เรียกร้องให้เอลซัลวาดอร์หยุดใช้บิทคอยน์เป็นเงินที่ถูกกฎหมาย โดยกองทุนยืนยันจุดยืนนี้อีกครั้งในเดือนตุลาคมปีนี้ แม้ว่าโปรแกรมกระเป๋าเงิน Chivo ของประเทศ ซึ่งเปิดตัวพร้อมกับแรงจูงใจบิทคอยน์มูลค่า 30 ดอลลาร์ ที่ดึงดูดผู้ลงทะเบียนกว่า 3 ล้านคน มีการใช้งานระยะยาวที่จำกัด ซึ่งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบูเคเล่ ยอมรับว่าโปรแกรมนี้และการยอมรับบิทคอยน์ของประเทศไม่ได้แพร่หลายเท่าที่รัฐบาลหวังไว้ โดย จากข้อมูลของ Triple-A พบว่า ประชากรเอลซัลวาดอร์ที่ถือครองบิทคอยน์มีจำนวนประมาณ 109,175 คน จากประชากรทั้งหมด 6.36 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1.72% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งไม่ได้ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศอย่างที่นายบูเคเลคาดหวังไว้จากช่องว่างทางฐานะทางการเงินของประชาชนในประเทศที่สูงมาก

นอกจากนี้ มีรายงานว่าประชากรส่วนใหญ่ในเอลซัลวาดอร์ยังไม่คุ้นเคยหรือไม่ใช้บิทคอยน์ในการทำธุรกรรมประจำวัน แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามส่งเสริมการใช้สกุลเงินดิจิทัลนี้ก็ตาม