xs
xsm
sm
md
lg

TDRI ออกโรงเตือน!! แนวคิด "ทักษิณ" นำบิทคอยน์ใช้ในภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เสี่ยงสูง หวั่นซ้ำรอยเอลซัลวาดอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีดีอาร์ไอเตือน! แนวคิด "ทักษิณ" ใช้บิทคอยน์ในภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อาจซ้ำรอยล้มเหลวแบบเอลซัลวาดอร์ เหตุราคาเหรียญผันผวนสูง พร้อมชี้การออกเหรียญดิจิทัลค้ำประกันพันธบัตรเสี่ยงสร้างความสับสนทางการเงิน ด้านเศรษฐกิจปี 2568-2569 คาดเติบโตต่ำกว่าเป้า เครื่องยนต์หลักยังพึ่งพาการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก

จากกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยให้มีการศึกษาแนวทางการใช้บิทคอยน์ภายใต้โครงการแซนด์บ็อกซ์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยหวังดึงดูดผู้ถือสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาใช้จ่าย รวมถึงแนวคิดการออกเหรียญที่มีพันธบัตรรัฐบาลค้ำประกัน เพื่อกระตุ้นสภาพคล่องทางเศรษฐกิจนั้น

อ่านข่าวประกอบ>>> "ทักษิณ ชินวัตร" ลั่นบิทคอยน์จะพุ่งถึง 850,000 ดอลลาร์

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ให้ความเห็นว่า แนวคิดดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ผล และอาจเกิดผลกระทบในระยะยาว โดยยกตัวอย่างประเทศเอลซัลวาดอร์ที่เคยประกาศให้บิทคอยน์เป็นสกุลเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

บทเรียนจากเอลซัลวาดอร์.......รวยกระจุก จนกระจาย

แม้รัฐบาลเอลซัลวาดอร์จะมีการแจกเงินเพื่อดึงดูดประชาชนให้หันมาใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล แต่พบว่ามีผู้ใช้งานจริงเพียงส่วนน้อย โดยคนส่วนใหญ่เลือกถอนเงินที่ได้มาเป็นเงินสดแล้วหยุดใช้งานต่อ อีกทั้งปัญหาหลักคือ ความผันผวนของราคาบิตคอยน์ ซึ่งส่งผลให้ร้านค้าหลายแห่งไม่ยอมรับการชำระเงินผ่านบิทคอยน์ เนื่องจากอาจขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของราคา

แนวคิดนายทักษิณแบ่งเป็น 2 ประเด็นสำคัญ

1.การใช้บิทคอยน์ซื้อขายสินค้าและบริการ

กรณีนี้คล้ายกับโมเดลของเอลซัลวาดอร์ที่เผชิญความท้าทายจากราคาบิทคอยน์ที่ผันผวน หากราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ถือบิทคอยน์ก็ไม่ต้องการใช้จ่าย เพราะจะเสียโอกาสจากการถือเก็งกำไร ในทางกลับกัน หากราคามีแนวโน้มลดลง ร้านค้าก็ไม่อยากรับชำระเงินด้วยบิทคอยน์ เนื่องจากความเสี่ยงขาดทุน

2. การออกเหรียญดิจิทัลโดยมีพันธบัตรค้ำประกัน

ประเด็นนี้มีความคล้ายกับแนวคิดการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งถูกวิจารณ์ในแง่กฎหมาย เนื่องจากเป็นการสร้างสกุลเงินใหม่ขึ้นมาแข่งขันกับเงินบาท ซึ่งธนาคารกลางของหลายประเทศมักไม่เห็นด้วย เพราะจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสกุลเงินท้องถิ่น และสร้างความสับสนในการใช้งาน

เศรษฐกิจไทยปี 2568-2569 ยังมีข้อจำกัดในการเติบโต

นายนณริฏ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยมองว่าในปี 2568 ที่นายทักษิณประเมินว่าจะเติบโต 3.5% และปี 2569 จะเติบโตกว่า 4% ในความเป็นจริงนั้นอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจยังจำกัด โดยคาดว่าจีดีพีในปีหน้าจะขยายตัวเพียง 2.4-2.8% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นายนณริฏ ให้เหตุผลในคำอธิบายเพิ่มเติมว่า เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยที่จะช่วยพยุงสถานการณ์หลัก ได้แก่

ภาคการท่องเที่ยว : ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีทั้งในด้านจำนวนและรายได้

การลงทุนภาครัฐ : ซึ่งคาดว่าจะเริ่มขับเคลื่อนหลังรัฐบาลใหม่ตั้งหลักได้

การลงทุนภาคเอกชน : ที่มีเม็ดเงินไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ภาคการบริโภคและการส่งออก ยังคงมีข้อจำกัดจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง รวมถึงความไม่แน่นอนจากปัญหาเศรษฐกิจโลก เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

สำหรับปี 2569 แม้เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวขึ้น แต่หากไม่มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ก็มีแนวโน้มที่จีดีพีจะขยายตัวอยู่ในกรอบจำกัดที่ 2.8-3.2% เท่านั้น