xs
xsm
sm
md
lg

CFTC ยื่นฟ้องบาทหลวงฉ้อโกงแชร์ลูกโซ่คริปโตร่วม 6 ล้านดอลล่าร์ พบเหยื่อหลงเชื่อกว่า 1500 รายกระจายทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมการการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า (CFTC) สหรัฐฯ ยื่นฟ้องบาทหลวง Francier Obando Pinillo ศาสนาจารย์ในเมือง Pasco รัฐวอชิงตันต่อศาล โดยกล่าวหาว่าเขาดำเนินการแผนแชร์ลูกโซ่ที่เกี่ยวข้องกับเงินลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี รวมมูลค่ากว่า 5.9 ล้านดอลลาร์ จากผู้เสียหายอย่างน้อย 1,515 รายทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวสเปน

คดีหลอกลวงแชร์ลูกโซ่คริปโตผ่านแพลตฟอร์มปลอม

CFTC ระบุว่า Pinillo ใช้ตำแหน่งศาสนาจารย์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อ้างตัวว่าเป็น CEO ของ Solanofi แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตที่โฆษณาว่าสามารถทำกำไรได้สูงสุดถึง 34.9% ต่อเดือน โดยไม่ต้องเสี่ยง พร้อมให้ผู้ร่วมลงทุนตรวจสอบผลกำไรผ่านระบบแดชบอร์ดออนไลน์ที่สร้างข้อมูลปลอม อย่างไรก็ตามแพล็ตฟอร์มนี้ไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้นจริง และเงินทุนทั้งหมดถูกยักยอกออกไป

กลลวงจิตวิทยาความศรัทธา หลอกผู้เสียหายแบบคลาสสิกยังคงใช้ได้ผล

Pinillo ยังเสนอค่าคอมมิชชั่น 15% ให้กับผู้ที่ชวนคนรู้จักเข้าร่วม ส่งผลให้แผนนี้ขยายวงกว้างในลักษณะของแชร์ลูกโซ่แบบดั้งเดิม โดยเงินจากผู้ลงทุนรายใหม่ถูกนำมาจ่ายให้รายเก่าเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือ

เอกสารจาก CFTC ระบุว่า Pinillo ไม่ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงสำคัญ เช่น ความไม่มีตัวตนของ Solanofi และการปลอมแปลงข้อมูลบัญชี นอกจากนี้ เขายังยักยอกเงินส่วนใหญ่ไปใช้ส่วนตัว

มาตรการบังคับใช้และคดีอื่นในอุตสาหกรรมคริปโต

CFTC เรียกร้องต่อศาลให้พิจารณาออกคำสั่งให้คืนเงินผู้เสียหายด้วยการยึดทรัพย์สินที่ถูกยักยอก พร้อมทั้งกำหนดค่าปรับและการห้ามทำธุรกรรมในอนาคต

ทั้งนี้คดีนี้สะท้อนถึงปัญหาการฉ้อโกงในวงการคริปโตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในเดือนมีนาคม 2567 SEC ได้เปิดโปงแผนแชร์ลูกโซ่มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ที่หลอกลวงนักลงทุนกว่า 40,000 คน รวมถึงกรณีในเดือนสิงหาคมที่พี่น้องในจอร์เจียหลอกเงิน 60 ล้านดอลลาร์จากนักลงทุน 80 คน และกรณีของ NovaTech Ltd. ที่ฉ้อโกงเงินกว่า 650 ล้านดอลลาร์จากผู้เสียหายกว่า 200,000 ราย

บทเรียนราคาแพงสำหรับนักลงทุน

คดีนี้ตอกย้ำความสำคัญของการตรวจสอบข้อมูลและแหล่งลงทุนอย่างละเอียด เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อในตลาดคริปโตที่ยังขาดการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในหลายกรณี