xs
xsm
sm
md
lg

หุ้น CV รอดยาก / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ใครที่อ่านข้อสอบถามของตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวกับปมปัญหาต่าง ๆ ในบริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV คงประเมินได้ว่า สถานการณ์ของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้กำลังย่ำแย่ขนาดไหนและจะไปรอดหรือไม่

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ขอให้ CV ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 3 ปีนี้ เนื่องจากบริษัทมีขาดทุนสะสม มีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน และงวด 9 เดือนปี 2567 มีขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 289% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนั้นยังมีเงินกู้ระยะสั้นที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี ในจำนวนที่มีนัยสำคัญ ขณะที่มีรายการเกี่ยวกับการด้อยค่าทางด้านสินทรัพย์หลายรายการ ซึ่งอาจกระทบฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน รวมทั้งสภาพคล่องอย่างมีนัยสำคัญ โดยขอให้ชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2567 และขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ CV และติดตามคำชี้แจงของบริษัท

CV มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี โดยครบกำหนดชำระคืนแล้ว 277 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเจรจา มีหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนมกราคมปีหน้าอีก 449 ล้าน และมีการจ่ายเงินล่วงหน้าค่ามัดจำการซื้อหุ้นบริษัทแห่งหนึ่ง 427 ล้านบาทหรือ 95% ของมูลค่าหุ้นที่จะซื้อ ซึ่งมีการบันทึกด้อยค่าเงินมัดจำ 14% และกำลังมีการเรียกร้องเงินมัดจำคืน ก่อนดำเนินการทางกฎหมาย

มีการจ่ายเงินค่ามัดจำซื้อหุ้นอีกบริษัทจากบุคคลที่มีความเกี่ยวโยงกันในมูลค่า 1,040 ล้านบาท โดยจ่ายค่ามัดจำ 17% ของมูลค่าหุ้นที่จะซื้อ ต่อมา CV ประกาศยกเลิกการซื้อหุ้น และดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกค่ามัดจำคืน โดยบันทึกด้อยค่าเงินมัดจำ 180 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีการบันทึกการด้อยค่าเงินมัดจำซื้อหุ้นบริษัทอีกแห่งหนึ่ง จำนวน 10 ล้านบาท

และยังมีการบันทึกผลขาดทุนด้านเครดิตลูกหนี้การค้า รวมทั้งด้อยค่าทรัพย์สินที่เกิดจากสัญญาอีกกว่า 400 ล้านบาท

ตลาดหลักทรัพย์ ฯ จึงสั่งให้ CV ชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ผิดนัดชำระ 277 ล้านบาท การติดตามเงินมัดจำคืน นโยบายการตั้งด้อยค่าเงินมัดจำ ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและการด้อยค่าสินทรัพย์สำหรับงวด 9 เดือนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผลกระทบต่อฐานะการเงิน สภาพคล่อง และแผนชำระหนี้ระยะสั้นภายใน 1 ปี

CV เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน นำหุ้นเสนอขายนักลงทนแรกเดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 320 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 50 สตางค์ เสนอขายหุ้นละ 3.90 บาท สูบเงินจากนักลงทุนงวดแรก 1,248 ล้านบาท

หุ้น CV ทรุดต่อเนื่อง หลังเข้าซื้อขายวันที่ 2 กันยายน 2564 ล่าสุดวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ราคาลงมาเหลือ 16 สตางค์ โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อย “ติดกับ” จำนวน 12,080 ราย ทุกคนอยู่ในสภาพหมดตัว ขาดทุนป่นปี้

การสูบเงินจากนักลงทุน เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเดือนสิงหาคม 2566 CV เพิ่มทุนจำนวน 1,920 ล้านหุ้น นำหุ้นเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ขายในราคา 1 บาท พร้อมแจกวอร์แร้นต์หรือใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ ซึ่งต่อมายกเลิก เพราะสถานการณ์ราคาหุ้นบนกระดานไม่เป็นใจการสูบเงินจากนักลงทุน

แต่เดือนพฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการบริษัท ฯ มีมตินำหุ้นจำนวน 2,560 หุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 50 สตางค์ พร้อมแจกวอร์แร้นต์ฟรี ชำระค่าหุ้นปลายเดือนมกราคม 2567

แผนการสูบเงินครั้งใหม่จำนวน 1,280 ล้านบาท ล้มไม่เป็นท่า เพราะมีผู้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพียง 126.36 ล้านหุ้น มูลค่า 63.18 ล้านบาท หรือประมาณ 5% ของเป้าหมายเงินที่จะสูบรอบใหม่เท่านั้น

นักลงทุนรายย่อย อาจรู้ทันกลสูบเงิน จึงพร้อมใจสละสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งถ้าใส่เงินเข้าไป คงเจ๊งกันวายวอดอีก

บรรดาผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างนายเศรษฐศิริ ศักดิ์เศรษฐเสรีกุล ซึ่งถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 18% ของทุนจดทะเบียน รวมทั้งนางสาวนิลทิตา เลิศเรืองศุภกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในสัดส่วน 10.88% ของทุนจดทะเบียน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเพิ่มทุน กลับไม่ยอมใส่เงินเพิ่มทุน

การเพิ่มทุนจำนวน 2,560 ล้านหุ้น หรือระดมทุน 1,280 ล้านบาท จึงเหมือนแผนหลอกต้มเพื่อสูบเงินนักลงทุนรายย่อยโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนนับสิบแห่งที่ประกาศเพิ่มทุน แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่กลับสละสิทธิจองซื้อ หลอกลวงให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเติมเงินเข้าบริษัท

เมื่อแผนสูบเงินจากผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่สำเร็จ CV ปรับแผนใหม่ โดยประกาศออกหุ้นกู้วงเงิน 500 ล้านบาท เมื่อเดือนมกราคม 2567 ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า หุ้นกู้กลับขายได้ มีนักลงทุนจองซื้อจำนวนมาก

แต่คนที่จองซื้อหุ้นกู้ กำลังจะตกเป็นเหยื่อรายใหม่ เพราะ CV มีปัญหาสภาพคล่อง ผิดนัดชำระหนี้แล้ว และมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนปีหน้ารออีก 449 ล้านบาท

หลังแต่งตัวเข้าตลาดหุ้นสำเร็จ ผลประกอบการ CV ก็ทรุดฮวบ โดยปี 2565 กำไรเหลือ 23 ล้านบาท ปี 2566 ขาดทุน 560 ล้านบาท และงวด 9 เดือนแรกปีนี้ขาดทุน 595 ล้านบาท

เงินที่สูบจากนักลงทุน จำนวนรวมเกือบ 2,000 ล้านบาท ถูกเทไปสู่การซื้อทรัพย์สิน โดยการจ่ายค่ามัดจำไว้สูงลิบลิ่ว ซึ่งในที่สุดเกิดปัญหาการเรียกค่ามัดจำคืน

บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งที่ล่มสลายไปแล้ว ใช้วิธีการเพิ่มทุน และนำเงินไปซื้อทรัพย์สิน ซึ่งเป็นรูปแบบการผ่องถ่ายไซฟ่อนเงินของผู้ถือหุ้น และไม่เคยมีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนคนใด ต้องรับโทษกับบาปกรรมที่ก่อไว้กับประชาชนผู้ลงทุน

สำหรับ CV พฤติกรรมของหุ้นตัวนี้ถูกเปิดโปงจนล่อนจ้อนหมดแล้ว กว่า 1.2 หมื่นชีวิตต้องดับดิ้นจากการหลงกลเข้าไปซื้อหุ้น

แต่จะมีผู้บริหาร CV คนใดบ้างไหม จะต้องชดใช้กรรมที่ก่อกับนักลงทุนรายย่อย








กำลังโหลดความคิดเห็น