ใครที่หลงกล หรือหลวมตัวจองซื้อหุ้น บริษัท อินสไปร์ ไอวีเอฟ จำกัด (มหาชน) หรือ IVF เข้าไป คงต้องชอกช้ำ เสียทั้งเงินเสียทั้งใจ โดยหุ้นน้องใหม่ตัวนี้ไม่เปิดโอกาสแม้แต่เสี้ยววินาที เพื่อให้นักลงทุนถอนทุนคืนได้
เพราะตั้งแต่เปิดการซื้อขาย ราคาหลุดจองตั้งแต่การเคาะซื้อขายไม้แรก และลงม้วนเดียวกระทั่งปิดตลาด คนที่จองไว้เจ๊งหนักกันถ้วนหน้า
IVF ดำเนินธุรกิจให้บริการรักษาผู้ที่มีบุตรยาก นำหุ้นเสนอขายนักลงทุนเป็นครั้งแรกในราคาหุ้นละ 3.10 บาท มีค่าพี/อี เรโช ประมาณ 44 เท่า ซึ่งถือว่าสูงมาก
หุ้นประเดิมซื้อขายวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยเปิดซื้อขายที่ราคา 2.70 บาท และอ่อนตัวลงต่อเนื่อง จนปิดที่ราคา 2.02 บาท ต่ำกว่าจอง 1.08 บาท หรือต่ำกว่าจอง 34.84% มูลค่าซื้อขายทั้งสิ้น 534.23 ล้านบาท
นักลงทุนที่จองซื้อไว้ ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่รอดพ้นจาการขาดทุน เพราะหุ้น IVF ไม่ยอมให้ใครหนีออก เปิดมาหลุดจองทันที
บรรดาหุ้นน้องใหม่ที่เข้าซื้อขายก่อนหน้าประมาณ 3 บริษัท ส่วนใหญ่ราคาหลุดจอง แต่มีเพียงไม่กี่ตัวที่ร้ายเหมือน IVF โดยเข้าตลาดหุ้นปุ๊บก็ร่วงปั๊บ ทั้งที่บรรยากาศการซื้อขายหุ้นโดยรวมไม่ได้เลวร้าย หรือตลาดหุ้นไม่ได้เกิดความผันผวนรุนแรง
ราคาหุ้น IVF ที่ดิ่งลงเหว เกิดจากเหตุผลเดียวคือ การกำหนดราคาหุ้นที่แพงเกินไป เอาเปรียบนักลงทุนที่จองซื้อ โดยไม่เปิดช่องให้ทำกำไร และราคาหุ้นที่เสนอขายสูง อาจสร้างแรงจูงใจให้ผู้ถือหุ้นเดิม ทุบหุ้นขายทำกำไร ส่วนผู้ที่รับเคราะห์คือ นักลงทุนที่จองซื้อหุ้น และนักเก็งกำไรที่เข้าไปซื้อหุ้นในวันแรก
การที่หุ้นใหม่ ตั้งราคาเสนอขายที่แพงเกินเหตุ และทำให้นักลงทุนที่จองซื้อได้รับความเสียหาย ไม่แตกต่างจากการปล้นนักลงทุน ซึ่งไม่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
แต่เป็นความ “บัดซบ” ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก และไม่อาจโทษสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นผู้อนุมัติการเสนอขายหุ้น หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นผู้พิจารณาอนุมัติรับหุ้นใหม่เข้าจดทะเบียนได้
เพราะทั้งสองหน่วยงานมักอ้างว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแลการกำหนดราคาหุ้นที่เสนอขาย แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเอง
ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในการปล่อยให้บริษัทจดทะเบียนเน่าๆ เข้ามาปล้นเงินนักลงทุนในตลาดหุ้น แม้การปล้นจะเกิดขึ้นนับร้อยครั้งแล้วก็ตาม
อีกเมื่อไหร่ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์จึงจะมีความตระหนักเสียทีว่า นโยบายการรับบริษัทจดทะเบียนใหม่ในเชิงปริมาณ โดยขาดความเข้มข้นในการพิจารณากลั่นกรองคุณภาพ ได้สร้างหายนะให้นักลงทุนมาแล้วนับแสนๆ คน
เมื่อไหร่จะให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองนักลงทุน มากกว่าเห็นแก่หน้าผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนใหม่ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นใหม่ ซึ่งถือเป็นผู้ร่วมขบวนการปล้นนักลงทุน โดยนำหุ้นเน่ามาหลอกขายประชาชนในราคาแพงๆ
การจัดทำข้อมูลบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน โดยรวบรวมว่า บริษัทใดเป็นที่ปรึกษาทางการเงินหุ้นใหม่มาแล้วกี่บริษัท และมีหุ้นที่เข้าซื้อขายราคาต่ำกว่าจองกี่บริษัท เพื่อให้นักลงทุนศึกษาประกอบการพิจารณาว่า ควรจองซื้อหุ้นใหม่จากบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินแห่งใดหรือไม่ ดูจะไม่เกิดประโยชน์อันใด
เพราะบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ดื้อด้านเกินจะละอายแก่ใจที่นำหุ้นเน่ามาหลอกเงินนักลงทุน และเห็นแก่ผลประโยชน์ก้อนโตที่จะได้รับ มากกว่าชื่อเสียงหรือผลกระทบอื่นใด
เพราะแม้นำหุ้นเน่าเข้ามาปล้นนักลงทุนไม่รู้จักกี่ตัว แต่ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน แต่งตัวหุ้นเน่าตัวใหม่ๆ เข้ามาหลอกกินเงินนักลงทุนได้ตลอด
ทางรอดเดียวของนักลงทุนจากการถูกปล้นจากหุ้นน้องใหม่เน่าๆ คือ พร้อมใจกันไม่จองซื้อหุ้นใหม่ โดยเฉพาะหุ้นใหม่ที่ตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งเคยนำหุ้นเน่ามาหลอกขายประชาชนแล้ว
เริ่มตั้งแต่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่แต่งตัวหุ้น IVF เข้ามาสร้างความเสียหายให้นักลงทุนกันเลย หุ้นใหม่ตัวไหนตั้งบริษัทที่ปรึกษาการเงินแห่งนี้อีก อย่าจองซื้อแม้แต่หุ้นเดียว