xs
xsm
sm
md
lg

“กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม” 20 ปีจากร้านเน็ต สู่ผู้นำดาต้าเซ็นเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคยได้ยินไหมว่าทุกพัฒนาการด้านการสื่อสารคือ ก้าวกระโดดแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และทุกการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมาพร้อมกับโอกาส

กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โปรเอ็น คอร์ป ยอดฝีมือผู้มากด้วยประสบการณ์ด้านธุรกิจไอที อินเทอร์เน็ตมากว่า 20 ปี เผยมุมมองยุค ดิจิทัล AI กับประโยคที่ว่า "ถ้าเราไม่ช่วงชิงต่อนนี้จะมีโอกาสอีกเมื่อไร"


ใครจะรู้บ้างว่าเรื่องราวของ "กิตติพันธ์" บนเส้นทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากร้านอินเทอร์เน็ต ก่อนจะมองเห็นโอกาสจากการพัฒนาของเทคโนโลยีไต่เต้ามาตามลำดับ และกำลังพยายามขับเคลื่อนบริษัทแห่งนี้ขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์อันดับ 1 ของไทยให้ได้ตามแผนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

ร้านเน็ตแหล่งขุมทรัพย์ต่อยอดสู่ดาต้าเซ็นเตอร์หลายคนอาจมองข้ามร้านอินเทอร์เน็ตที่ปัจจุบัน ทุกอย่างสามารถอยู่บนมือถือได้แล้ว แต่สิ่งที่กิตติพันธ์ขุดพบจากร้านอินเทอร์เน็ตกลับเป็นขุมทรัพย์ และ ขุมทรัพย์ที่ว่าก็ทำให้เขารู้ถึงความต้องการของลูกค้า และนำมาต่อยอดธุรกิจได้จนถึงทุกวันนี้ โดยคุณกิตติพันธ์เล่าถึงเรื่องนี้ว่า การเติบโตของเราในอดีตจะมาจากความ ต้องการที่เพิ่มขึ้นตามเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น

เราเริ่มต้นจากร้านอินเทอร์เน็ตจากจุดนั้นมาก็ค่อยๆ ต่อยอดมาเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ เนื่องจากว่าพอทำร้านเน็ต มันมีทรัพยากรเหลือทั้งเรื่องของไอพีแอดเดรส เรื่องของความเร็วสปีดอินเทอร์เน็ต ช่วงนั้นจึงมองหาอะไรที่มันต่อยอดได้บ้าง สิ่งที่เราต่อยอดช่วงแรกคือการดีไซน์เว็บไซด์ รีจีเตอร์โดเมนเนม การเป็นเว็บโฮสติ้ง เราค่อยๆ เริ่มจนทุกวันนี้เราอยู่ในวงการนี้มานานกว่า 20 ปีแล้วตั้งแต่ยุคเริ่มแรก

หลังจากที่เราทำเว็บโฮสติ้งมันทำให้เราต้องมีเซิร์ฟเวอร์ จาก 1 เป็น 2 เป็น 3 เริ่มขยายมาเรื่อยๆ เพราะสิ่งที่มันเติบโตช่วงนั้นคืออีเมลเซิร์ฟเวอร์ ตัวเว็บโฮสติ้งที่เอาไว้รองรับบริการลูกค้า เมื่อจำนวนเชิร์ฟเวอร์เพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยเครื่อง ทำให้อาคารที่เราเช่าอยู่มันเริ่มไม่สามารถซัปพอร์ตเราได้ ทั้งเรื่องของสายไฟ สายสัญญาณที่วิ่งขึ้นตึก มันมีขีดจำกัดอยู่พอสมควร จากจุดนั้นทำให้เราเริ่มต้นหาจุดที่เหมาะสมในการทำธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์

ทุกการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมาพร้อมกับโอกาส

ผมเห็นโอกาสเกิดขึ้นตลอดเวลา หลังจากเทคโนโลยีเปลี่ยนปุ๊บโอกาสมันก็มาตลอด อย่างเช่นจากเดิม เรดิโอสตรีมมิ่งมีแต่เสียง พอเราสามารถส่งผลข้อมูลได้มากขึ้นเราก็เอากล้องไปติดที่บูทดีเจ กลายเป็นเว็บแคมที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้เรามีลูกค้ามากตามไปด้วยเพราะเราสามารถรองรับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาได้

"เราเห็นโอกาสทุกครั้งที่เทคโนโลยีมันเปลี่ยน แต่เราเองมองพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับไว้เพื่ออนาคตด้วย ซึ่งในช่วงที่เราหาจุดที่เหมาะสมของธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ช่วงแรกเรามองว่าเซิร์ฟเวอร์จะมีจำนวนมาก ระบบไฟต้องเสถียร การเอาเจเนอเรอเตอร์ไปเพิ่ม อาคารต้องรองรับได้ ทำให้เราต้องมองหาอาคารที่เหมาะสม ในช่วงแรกๆ เรามองว่ามีอาคารไหนที่มีอินเทอร์เน็ตรวมอยู่แล้ว มีระบบเคเบิลที่มีความเพียบพร้อมพอที่จะรองรับการขยายตัวในอนาคต"

สุดท้ายได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ที่ CAT บางรัก จากห้องประมาณ 50 ตร.ม. เป็นดาต้าเซ็นเตอร์ประมาณ 20 แรคได้ เทคโนโลยีในช่วงนั้นเริ่มมีการปรับเปลี่ยนทั้งเรื่องของการสื่อสาร ที่สามารถรองรับข้อมูลได้มากขึ้น จาก 56 Kbps ที่ใช้ตามบ้านมาเป็น เทคโนโลยี ISDN ในยุคนั้นที่ 128Kbps 256Kbps 512Kbps สปีดอัปขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะสามารถรองรับข้อมูลที่เป็นภาพและเสียงมากขึ้นได้

ต่อมา ADSL เริ่มขยับช่วงนั้นเราทำตัวเรดิโอ สตรีมมิ่งวิทยุออนไลน์ ชื่อสยามเรดโอ ทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่ผลิตสื่อต่างๆ พยายามจะให้เราไปทำสถานีวิทยุออนไลน์ให้เขา ซึ่งเป็นช่วงที่บูมเกี่ยวกับเรดิโอสตรีมมิ่ง ส่งผลให้ห้องดาต้าเซ็นเตอร์จากเดิมก็ขยายตัวขึ้นมา


AI สมรภูมิที่ภาครัฐและเอกชนต้องช่วงชิง
จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมาทุกอย่างกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของ AI ซึ่งเป็นสมรภูมิที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันแข่งขันและช่วงชิงกับนานาประเทศ โดยคุณกิตติพันธ์ บอกถึงเรื่องนี้ว่า ยุคนี้คงหนีไม่พ้น AI ที่ตอนนี้บูมมาก และ AI จะเป็นตัวนำดาต้าเซ็นเตอร์เนื่องจากว่า AI จะขับเคลื่อนด้วยดาต้าเซ็นเตอร์ การที่จะมี AI ได้จะต้องมีดาต้าเซ็นเตอร์รองรับมัน และดาต้าเซ็นเตอร์ต้องเพียบพร้อมในการรองรับ AI ด้วย

“ดาต้าเซ็นเตอร์เป็นพลังขับเคลื่อน AI เปรียบเสมือนสมองกับร่างกายที่ต้องทำงานร่วมกัน AI คือสมอง ดาต้าเซ็นเตอร์คือร่างกาย เมื่อสมองอยู่ในร่างกายที่ดีการทำงานย่อมดีตามไปด้วย มันต้องทำงานสัมพันธ์กัน ฉะนั้นการเติบโตของ AI  ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ดาต้าเซ็นเตอร์ต้องโตตามแน่นอน”


เซิร์ฟเวอร์ที่รองรับ AI จะต้องมีประสิทธิภาพ สูงมากๆ ดาต้าเซ็นเตอร์ก็เช่นเดียวกัน ทั้งในเรื่องของไฟฟ้าที่ใช้ปริมาณมากกว่าเดิม 4 เท่าต่อ 1 ตู้แรค เดิมที่ใช้ 3.5-5 กิโลวัตต์ พอมาเป็น AI ไฟฟ้าที่จะต้องเพิ่มให้มันจะสูงขึ้นไปถึง 12-20 กิโลวัตต์ ซึ่งมันมีอัตราการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นการจัดการเรื่องของความเย็นด้วย และไฟฟ้าที่ต้องเตรียมให้เพียงพอด้วย เรื่องของแบนด์วิธ ในเรื่องของลิงก์อินเทอร์เน็ตที่ต้องเชื่อมต่อกับตัวเซิร์ฟเวอร์ สมมติว่าลูกค้าเข้ามาใช้แพลตฟอร์ม AI การตอบโต้อย่างรวดเร็วคือผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ไม่ช่วงชิงตอนนี้อาจไม่มีโอกาสอีก

คุณกิตติพันธ์ เล่าต่อว่า ในตอนนี้เป็นโอกาสที่ดีมากในการช่วงชิง เพราะทุกประเทศต้องการเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดฯ ฟิลลิปปินส์ ต้องการช่วงชิงตลาดธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อให้แพลตฟอร์ม AI รายใหญ่ระดับโลกเข้ามาอยู่ในประเทศของเขาแต่วันนี้ประเทศไทยเริ่มมีสัญญาณที่ดีไทยต้องรีบช่วงชิงและสนับสนุนในด้านต่างๆ ทั้งการลงทุน พลังงาน การเชื่อมต่อสายเคเบิล และการพัฒนาบุคลากร

ไทยลุ้นเบอร์หนึ่งดาต้าเซ็นเตอร์อาเซียน
ศักยภาพของไทยในการเป็นฮับดาต้าเซ็นเตอร์เราถือว่าไม่แพ้ใคร และน่าจะเป็นที่ 1 ในอาเซียนได้ เนื่องจากไทยมีแผนรองรับด้านพลังงานสะอาดในอนาคต ซึ่งต่างจากสิงคโปร์ที่ไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างจริงจัง การที่ดาต้าเซ็นเตอร์ทยอยเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

“เราได้เปรียบทั้งเรื่องความเสถียรของไฟฟ้า พลังงานสะอาด และทำเลที่ดี เดิมทีดาต้าเซ็นเตอร์สิงคโปร์เป็นพระเอกเลย แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ทุกอย่างมันเริ่มเคลื่อนย้ายมา มาเลเซีย อินโดฯ ฟิลลิปปินส์ ที่เป็นคู่แข่งแต่ถ้ามองแล้วประเทศไทยมีจุดเด่นด้านพลังงานสะอาดที่ล้ำหน้ากว่ามาก ที่ว่าล้ำกว่าคือเราทำเกินคนอื่น เราทำเรื่องของโซลาร์ เรื่องลม เราทำมานานกว่ามาก นอกจากนี้ แผนของภาครัฐเองขยายอย่างต่อเนื่อง อย่างพลังงานสะอาดนี่มีแผนการผลิตเพิ่มขึ้นมากถึง 2 พันเมกะวัตต์ในอนาคต”


ประเทศไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ในอาเซียนเพราะปัจจุบันภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก มีการให้สิทธิทางภาษีสำหรับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย การนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงการเข้ามาซื้อที่ดินของนักลงทุนต่างชาติเพื่อทำธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์โดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นฮับของธุรกิจนี้ได้ในอนาคต

“ธุรกิจนี้สร้างรายได้ให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วแบบทวีคูณ ซึ่งแตกต่างจากภาคการเกษตรและการผลิตที่ค่อยๆ เติบโต ถ้าดูตัวอย่างจากสิงคโปร์จะเห็นได้ชัดเลยว่าทำไมเขาถึงมีรายได้ในระดับสูงได้เพราะรายได้หลักเขามาจากทางนั้น จริงอยู่ในภาคเกษตรของเรามีการเติบโต แต่การที่จะเพิ่มรายได้แบบทวีคูณมันเป็นไปไม่ได้ โดยหากจะเพิ่มค่าแรงจาก 400 ขึ้นไปเป็น 1,200 จะต้องมีธุรกิจแบบนี้ภายในประเทศที่จะทำให้เศรษฐกิจของเรามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิม และอัตราการจ้างงานต่อหัวมีโอกาสเพิ่มขึ้นด้วย”

*แนะภาครัฐฮับตัวจริงต้องเชื่อมต่อได้ทั่วโลก
คุณกิตติพันธ์ บอกต่อว่า การที่ไทยจะเป็นฮับของดาต้าเซ็นเตอร์สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องคือ ภาครัฐยังต้องมีการลงทุนโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำเพื่อการเชื่อมต่อและผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ได้อย่างแท้จริงในอนาคต เนื่องจากนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมองเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญอีกด้าน ไม่ว่าจะเป็น Google Microsoft เขามองเข้ามาในประเทศไทยเป็นความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างประเทศได้

“สายช่องสัญญาณสื่อสาร หรือเคเบิลใต้ทะเลที่เป็นไฟเบอร์ออปติกที่ไปเชื่อมกับญี่ปุ่น สิงคโปร์ ยูโรป อเมริกา ซึ่งปัจจุบันเรามีแค่ 6 เส้นทาง และภาครัฐต้องมีการส่งเสริมให้มากขึ้น การเป็นศูนย์กลางไม่ใช่แค่ดาต้าเซ็นเตอร์มาตั้งเยอะๆ การที่จะเป็นฮับนั่นหมายความว่าเราต้องมีสายสื่อสารที่เชื่อมต่อกับไลน์อื่นได้ และต้องมากและเยอะที่สุดด้วย โดยจุดเด่นของไทยอันแรกเลยมันสามารถเชื่อมแลนด์ไลน์ไปอาเซียนรอบบ้านได้อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นพม่า มาเลเซีย ลาว การที่มีคอนเทนต์อยู่แต่ไม่สามารถกระจายไปได้เราก็ไม่ใช่ฮับ อันนี้สำคัญมากๆ เราอยากเห็นการเชื่อมต่อไปจีน อินเดีย ยุโรป อเมริกา ที่เขาเชื่อมต่อกันอยู่เพียงแต่เราจะลากไปเชื่อมกับเขาให้ได้อย่างไรนี่เป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น”

PROEN เบอร์ 1 ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วเราก็พร้อมที่จะเป็นที่ 1 ของผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ได้ภายใน 3-5 ปี โดยเรื่องนี้คุณกิตติพันธ์ บอกว่าปัจจุบัน PROEN ติด 1 ใน 5 ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย และหากเป็นไปตามแผนการสร้าง 100 เมกะวัตต์ใน 3-5 ปีเราน่าจะขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ได้

โดยจุดเด่นของเราคือ 1.อยู่ในโลเกชันที่ดีมาก เรามีทำเลที่ใกล้โซนไฟฟ้าที่รองรับถึง 2 แหล่งจ่ายมาจากคลองตัน และพัฒนาการ ในอนาคตจะเป็นแหล่งศูนย์รวมระบบไฟฟ้ามาซัปพอร์ตเราได้ดี แผนการขยายอาจจะขยายบริเวณพื้นที่เดิมเพราะไฟฟ้าสามารถรองรองรับเราได้ถึง 3 แหล่งจ่าย 2.ไซต์เราอยู่ไม่ไกลจากสนามบินอยู่ในเขตปลอดภัย และถือว่าอยู่ใจกลางเมืองที่น่าสนใจ 3.เป็นดาต้าเซ็นเตอร์ที่ดีไซน์มาเพื่อรองรับกลุ่ม AI โดยเฉพาะ

ส่วนแผนการลงทุนของบริษัทต่อจากนี้ 3-5 ปี เราจะพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ให้ได้ในระดับ 100 เมกะวัตต์ ซึ่ง 1 เมกะวัตต์จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 350 ล้านบาท และถ้าจะครบตามโปรเจกต์ที่ตั้งไว้น่าจะต้องวางงบลงทุนประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยสิ้นปีนี้จะเริ่มพัฒนาก่อนจำนวน 5 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 1.7 พันล้านบาท

“ดาต้าเซ็นเตอร์ที่เราสร้าง 1 หมื่นตารางเมตร สามารถรองรับเซิร์ฟเวอร์ได้ประมาณ 3 พันตารางเมตร ซึ่งการก่อสร้างในเฟสแรก 1.67 เมกะวัตต์ จะอยู่ประมาณ 1 พันตารางเมตร และน่าจะเสร็จในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งแผนเดิมเราวางไว้จะสร้างแค่ 1 เมกะวัตต์ แต่พอดาเม็กซ์เข้ามาร่วมลงทุนเพิ่ม เราจึงเปลี่ยนแผนใหม่หมดเป็น 1.67 เมกะวัตต์ และเสร็จในปีหน้าเป็น 5 เมกะวัตต์ เนื่องจากลูกค้าแจ้งความต้องการมาเต็มจำนวนแล้วจากข้อมูลของดาเม็กซ์ และจะค่อยๆ ขึ้นตามในพื้นที่เดียวกันอีกที่ 15 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 โดยจะมีสถานีไฟฟ้าแรงสูงเพื่อรองรับการจ่ายไฟในพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ให้เพียงพอด้วย และตามแผนของเราที่วางไว้คือ 100 เมกะวัตต์ในอนาคต แต่จะเป็นการทยอยก่อสร้างตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก”

ปีหน้ารับรู้รายได้ดาต้าเซ็นเตอร์โตต่อเนื่อง
คุณกิตติพันธ์ บอกเพิ่มเติมว่า ในปีหน้าผลการดำเนินงานของบริษัทน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยดาต้าเซ็นเตอร์น่าจะรับรู้รายได้ครบ 5 เมกะวัตต์ได้ในปีหน้า แต่จะเป็นรายได้ตามสัดส่วนการร่วมลงทุนกับทางดาแมกซ์ ซึ่งจะคงสัดส่วนที่ 70/30 ในทุกโครงการ ซึ่งตอนนี้ความต้องการของลูกค้ามีมากกว่า 20 เมกะวัตต์ เรามองว่าการสร้างแต่ละไซส์มันค่อนข้างช้าใช้เวลาประมาณ 8 เดือนถึง 1 ปีที่จะสร้างให้เสร็จ ฉะนั้นเร็วๆ นี้น่าจะต้องได้เห็น 20 เมกะวัตต์ และเป็นไปได้ว่าช่วงต้นปี 2569 อาจเห็นจำนวนลูกค้าจองเข้ามามากขึ้น เพราะเราจะทยอยสร้างตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก

ปีหน้าถ้ารับรู้รายได้จากการบริการในส่วนของ 
ดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มมากขึ้นเชื่อว่าจะทำให้ผลดำเนินงานของเรากลับมาเป็นบวกมากขึ้นในปีหน้า เพราะแผนการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์จะเป็นฐานรายได้ใหม่เพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป เช่น 30 ล้านเป็น 50 ล้านบาทตามเมกะวัตต์และบริการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

ทั้งหมดเป็นมุมมองและความเห็นที่น่าสนใจของคุณกิตติพันธ์กับเรื่องราวมี่สั่งสมมานานกว่า 20 ปีบนเส้นทางธุรกิจสายเทคโนโลยี โดยคุณกิตติพันธ์ยังทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า

“ธุรกิจนี้ถือเป็น NEW S CURVE หรือเครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจเติบโตด้วยการสื่อสาร จาก GPRS EDGE ไปถึง 5G ทุกการพัฒนาของการสื่อสารมันคือการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่วันนี้การสื่อสารควบคู่กับดาต้าเซ็นเตอร์ และ AI และนี่คือกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้ามาผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อไปในอนาคต“

กำลังโหลดความคิดเห็น