ตลาดหลักทรัพย์ฯ จี้ "โคลเวอร์ เพาเวอร์" แจงงบการเงินภายใน 18 ธันวาคมนี้ เหตุผู้สอบมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินงานของ CV ที่มีผลขาดทุนสะสมและหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน ส่งผลให้งวด 9 เดือนขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 289% เทียบปีก่อน และปัญหาหนี้ผิดชำระ 277 ล้านบาท อันมีนัยสำคัญต่องบการเงิน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ (มหาชน) (CV) ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 3 ปี 2567 โดยผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท เนื่องจากบริษัทมีขาดทุนสะสม มีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน และงวด 9 เดือนปี 2567 มีขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 289% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ บริษัทมีเงินกู้ระยะสั้นที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี ในจำนวนที่มีนัยสำคัญ
ในขณะที่มีรายการเกี่ยวกับการด้อยค่าทางด้านสินทรัพย์หลายรายการ ซึ่งอาจกระทบฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน รวมทั้งสภาพคล่องของ CV อย่างมีนัยสำคัญ จึงขอให้ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2567
สำหรับความเห็นของคณะกรรมการและกรรมการตรวจสอบภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2567 โดยขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ CV และติดตามคำชี้แจงของบริษัท
ขอให้ CV ชี้แจงข้อมูลดังนี้
1.ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ผิดนัดชำระ 277 ล้านบาท ผลกระทบต่อการดำรงเงื่อนไขหรือภาระหนี้อื่นๆ
2.การติดตามเงินมัดจำคืน นโยบายการตั้งด้อยค่าเงินมัดจำ และการตั้งด้อยค่าเงินมัดจำครบถ้วนแล้วหรือไม่ อย่างไร
3.ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและการด้อยค่าสินทรัพย์สำหรับงวด 9 เดือน ปี 2567 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
4.ตามที่คณะกรรมการบริษัทได้เคยชี้แจงนโยบายการลงทุนของบริษัทว่าได้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนในอนาคตมากขึ้น เนื่องจากในงบการเงินประจำปี 2566 มีรายการด้อยค่าสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภายใน 2 ปีนับจากวันที่ลงทุน แต่งบการเงินไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ได้ปรากฏรายการในลักษณะดังกล่าวอีก 3 รายการ (การตั้งด้อยค่าเงินมัดจำ) จึงขอทราบความเห็นคณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบถึง
• ความเหมาะสมเพียงพอของนโยบายที่เคยกำหนดไว้ รวมถึงนโยบายในการจ่ายเงินมัดจำและการเรียกเงินมัดจำคืน การดำเนินการทั้ง 3 รายการเป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร
• นโยบายที่กำหนดไว้ต้องมีการปรับปรุงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรายการเช่นเดียวกันในอนาคตหรือไม่ อย่างไร
• มาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงในการเรียกเก็บหนี้จากลูกค้า และความเหมาะสมของนโยบายการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของบริษัท
• ผลกระทบต่อฐานะการเงิน สภาพคล่อง และการดำเนินงานของบริษัท และแผนการปรับปรุงสภาพคล่องของบริษัท รวมถึงแผนชำระหนี้ระยะสั้นภายใน 1 ปี