สบน.เผยการลดเงินนำส่งเข้า FIDF ไม่กระทบสถานะการคลัง หนี้สาธารณะพุ่งไม่แรง เชื่อธปท.สามารถบริหารพอร์ตได้ ปลายปีนี้ สบน.เล็งออกสินเชื่อด้านความยั่งยืน (SLL) สนับสนุนขนส่งพลังงานสะอาด ขณะที่พันธบัตรลดโลกร้อน (SLB) ผ่านสำรวจ Book Build ฉลุยนักลงทุนทั้งกองทุนรวม บริษัทประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ นักลงทุนต่างชาติสนใจเสนอวงเงินซื้อคิดเป็น 2.76 เท่าของวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท จึงออกพันธบัตร 3 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 2.7% ต่อปี
นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า เรื่องหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5 แสนล้านบาท สถานะยังโชว์ว่าเป็นหนี้สาธารณะอยู่ ซึ่งความจริงหนี้ FIDF ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ คาดว่าในปี 2575 จะหมดหนี้ แต่การลดเงินนำส่งเข้า FIDF จะทำให้ระยะเวลาที่ว่าหนี้จะหมด ทำให้ช้าออกไปบ้างประมาณ 1-2 ปี ซึ่งไม่ได้กระทบต่อรัฐบาล และเป็นภาระของ ธปท.ซึ่งเขารับผิดชอบอยู่แล้ว จะเกี่ยวกับกระทรวงการคลังก็แค่สถานะที่โชว์เป็นพอร์ตในหนี้สาธารณะเท่านั้น รัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบลงไปช่วยแต่อย่างใด ดังนั้น การดำเนินการมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนที่เกี่ยวข้องกับการลดเงินนำส่ง FIDF จึงเป็นสิ่งที่ ธปท.มองแล้วว่าช่วยเหลือประชาชน จึงเลือกดำเนินการซึ่งสุดท้ายเงินต้นของหนี้ก็จะถูกชำระหมดไป และมันจะหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกลับไปช่วยธนาคารพาณิชย์เพราะช่วยหนี้ที่ยังไม่เสียสามารถฟื้นกลับมาได้ ที่ต้องตั้งสำรองหนี้จะได้เงินคืนกลับมา ทั้งนี้ ณ เดือน ต.ค.2567 หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 62.33
"การลดเงินนำส่ง FIDF ไม่ได้มีผลอะไรมากต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ เพราะตัวเลขที่เข้าไปช่วยเหลือตามมาตรการแก้หนี้เป็นจำนวนเงินไม่มาก"
ในช่วงปลายปี 2567 นี้ สบน. มีแผนที่จะออกสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability-Linked Loan (SLL) เพื่อระดมทุนในการสนับสนุนโครงการขนส่งพลังงานสะอาด และจะดำเนินหน้าที่ในการสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนของไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นไป
ขณะที่พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (ลดโลกร้อน) (Sustainability-Linked Bond: SLB) ได้ผ่านสำรวจความต้องการลงทุน (Book Build) เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2567 ผลปรากฏนักลงทุนสนใจอย่างล้นหลาม เช่น กลุ่มบริษัทประกันชีวิต กลุ่มกองทุน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มบริษัทจัดการสินทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยได้เสนอวงเงินซื้อพันธบัตรรวมทั้งสิ้น 55,285 ล้านบาท คิดเป็น 2.76 เท่าของวงเงินการออก 20,000 ล้านบาท ที่ประกาศไว้และทำให้สามารถออก SLB ได้ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ย 2.70% ต่อปี ซึ่งการออก SLB ในครั้งนี้ ทำให้ไทยเป็นรัฐบาลแรกในเอเชีย และรัฐบาลที่ 3 ของโลกที่ประสบความสำเร็จในการออก SLB ต่อจากรัฐบาลของประเทศชิลีและอุรุกวัย
โดยผู้ออกพันธบัตรจะต้องปฏิบัติตามตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์และเป้าหมายด้านความยั่งยืน ประกอบด้วย 1.ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ไม่รวมการใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้) ไม่เกิน 388,500 ktCO2e ในปี พ.ศ.2573 (คิดเป็นปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30 จากค่า Business As Usual (BAU)) 2.ปริมาณการจดทะเบียนใหม่ของรถที่ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicles : ZEVs) ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ (Passenger Car and Pick-Up Trucks) ไม่ต่ำกว่า 440,000 คัน ในปี พ.ศ.2573 ซึ่งกรอบการระดมทุน SLB รุ่นแรกของรัฐบาลไทยได้รับการรับรองจากบริษัท DNV (Thailand) ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบอิสระภายนอกที่ยืนยันว่าตัวชี้วัดทั้ง 2 ข้อมีความท้าทาย สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นไปตามมาตรฐานการออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนของสมาคมตลาดเงินทุนนานาชาติและตลาดทุนอาเซียน ทั้งนี้ สบน.จะรายงานผลการดำเนินงานและตรวจสอบความคืบหน้าการออก SLB ให้เป็น Benchmark Bond รุ่นอายุ 15 ปี เพื่อเป็นพื้นฐานในการกำหนดราคาและเพิ่มสภาพคล่องของพันธบัตรในตลาดรอง ช่วยสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป