นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 34.20-34.85 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.55 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ (25 พ.ย.) ที่ 34.44 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 34.52 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 34.39-34.62 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่าเงินดอลลาร์จะพอได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Manufacturing and Services PMIs) เดือนพฤศจิกายนที่ออกมาดีกว่าคาด และดีกว่าข้อมูลจากบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ โดยเฉพาะยูโรโซน ทว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) เข้าใกล้โซน 2,720 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (คิดเป็นการปรับตัวขึ้นเกิน +30 ดอลลลาร์ต่อออนซ์) นอกจากนี้ เรายังคงเห็นสัญญาณการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาด ซึ่งมีส่วนจำกัดการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ด้วยเช่นกัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ของปีนี้ แต่เงินบาทพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติที่ลดลงจากช่วงก่อนหน้าพอสมควร
สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่าควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน พร้อมระวังความผันผวนจากพัฒนาการสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สถานการณ์โดยรวมทวีความรุนแรงมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้ชะลอลงชัดเจนมากขึ้น เปิดโอกาสให้เงินบาทแกว่งตัว Sideways หรือแข็งค่าขึ้นได้ ซึ่งต้องรอลุ้นว่า หากเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนอยู่ ราคาทองคำจะสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้หรือไม่ รวมถึงรอติดตามทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) และทิศทางฟันด์โฟลว์ของบรรดานักลงทุนต่างชาติ
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนจากทั้งความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงคราม รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า Dot Plot ล่าสุด และเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ