"ท่าอากาศยานไทย" กำไรปีงบเดือน ต.ค.66-ก.ย.67 โต 118% แตะ 1.03 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านผู้บริหารคาดผู้โดยสารฟื้นตัวกลับเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ปี 68 ด้านกูรูคาดเติบโตต่อเนื่องสร้างสถิติใหม่ จ่าย “คิง เพาเวอร์” เพื่อคืนพื้นที่แค่กระทบระยะสั้น มองช่วงนี้ยังเป็นโอกาสทยอยสะสม
ผลประกอบการ 1 ปีในรอบบัญชี (ต.ค.66 – ก.ย.67) ที่ประกาศออกมาของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) ถือว่าไม่ผิดพลาดจากที่หลายฝ่ายคาดไว้ โดยบริษัทมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 19,182.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,391.52 ล้านบาท หรือ 118.21% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน
โดย AOT มีรายได้รวม 67,827.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.01% ซึ่งรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 18,980.38 ล้านบาท หรือ 39.43% แบ่งเป็นรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 31,000.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,734.64 ล้านบาท หรือ 39.23% จากปีก่อน (ต.ต.65-ก.ย.66) และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 36,120.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,245.74 ล้านบาท หรือ 39.60% และบริษัทมีค่าใช้จ่ายรวม 40,524.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,276.70 ล้านบาท หรือ 18.33% น้อยกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้รวมทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเทียบกับรายได้จากการดำเนินงานลดลงจาก 70.08% ในปีก่อนเป็น 59.71
นั่นเพราะ สนามบินของ AOT มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.82% และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.0% ขณะที่มีเที่ยวบินรวม 732,690 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 14.5% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 416,190 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 29.63% และเที่ยวบินภายในประเทศ 316,500 เที่ยวบิน ลดลง 0.73%
เติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปี
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขผลประกอบการที่บริษัทเพิ่งประกาศ พบว่า เป็นการเติบโตต่อเนื่องจากช่วง 6 เดือนแรก (ต.ค.66-มี.ค.67) โดย ณ ช่วงเวลานั้น AOT รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) ว่า ในรอบ 6 เดือนปีงบประมาณ 2567 มีจำนวนเที่ยวบิน 367,032 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 16.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเที่ยวบินระหว่างประเทศ 203,731 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 163,301 เที่ยวบิน และมีจำนวนผู้โดยสาร 61.22 ล้านคน เพิ่มขึ้น 23.78% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 36.82 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 24.40 ล้านคน
โดย การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นจากนโยบาย Free Visa ของรัฐบาลส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารสัญชาติจีนมีการเติบโตเฉลี่ยจาก 13,200 คนต่อวัน ไปเป็น 28,100 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 113% และจำนวนผู้โดยสารสัญชาติอินเดียมีการเติบโตเฉลี่ยจาก 5,100 คนต่อวัน ไปเป็น 6,200 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 22%
เปิดแผน 10 ปี ลงทุน 1.96 แสนล้าน
ทั้งนี้ AOT มีแผนลงทุน ประมาณ 1.96 แสนล้านบาท ในช่วง 10 ปี (68-78) เพื่อขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย
1.โครงการส่วนต่อขยายด้านตะวันออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (East Expansion) วงเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท
2.โครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท คาดจะเปิดประมูลกลางปี 68 และเริ่มก่อสร้างในปลายปี 68 คาดแล้วเสร็จในปี 72
3.โครงการขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างปลายปี 68 จะแล้วเสร็จในปี 72
4.โครงการขยายท่าอากาศยานภูเก็ต วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างในกลางปี 69 จะแล้วเสร็จในปี 72
5.โครงการอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท คาดจะเริ่มก่อสร้างในปลายปี 2570 แล้วเสร็จในปี 2575
โบรกฯ มองเป็นโอกาสเข้าสะสม
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี ประเมินทิศทางธุรกิจ AOT วว่า บริษัทรายงานกำไรสุทธิ 4Q24 (ก.ค.-ก.ย.24) ที่ 4,272 ล้านบาท สูงกว่าคาด 9% และสูงกว่าตลาดคาดเล็กน้อย 2% โดยกำไรที่สูงกว่าคาดเกิดจากรายได้ค่าเช่าที่สูงกว่าคาด
ขณะที่กำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 67 เติบโต 24% เทียบปีก่อน จากรายได้เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อน ตามการฟื้นของปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 14% และเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 12% และค่าใช้จ่าย SG&A ลดลง 14% จากฐานสูงในปีก่อน (จ่ายโบนัสพนักงานสูงกว่าที่ตั้งสำรองไว้ใน 9 เดือนปี 66) แต่กำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 67 ลดลง 6% จากไตรมาสก่อน เป็นไปตามฤดูกาลที่งวดปลายปีจะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จากไตรมาสก่อน ในขณะที่รายได้ทรงตัวจากยังเป็นช่วง Low season รวมทั้งปี FY24 (ต.ค.23-ก.ย.24) ทำให้ AOT มีกำไรสุทธิ 19,182 ล้านบาท โต 118% จากปีก่อน ตามการฟื้นของปริมาณผู้โดยสาร 19% และเที่ยวบินเพิ่มขึัน 14%
ทั้งนี้ AOT มีรายงานเพิ่มเติมว่า ได้มีการเรียกคืนพื้นที่จาก KPS เพิ่ม (เนื่องจากหาพื้นที่ใหม่ชดเชยพื้นที่ที่เรียกคืนมาเพื่อก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายไม่ได้) ทำให้ AOT ต้องคืนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ 193 ล้านบาท ที่ คิง เพาเวอร์ได้จ่ายให้ AOT มาแล้ว และจะทำให้ AOT มีรายได้ค่าเช่าและผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำลดลงราว 289 ล้านบาท/ปี (ราว 0.4% ของรายได้รวม)
ทำให้คาดกำไรสุทธิไตรมาสแรกปี 68 (ต.ค.-ธ.ค.24) เติบโตโดดเด่นจากปีก่อนและไตรมาสก่อน จากเข้าสู่ช่วง High season ของการเดินทางท่องเที่ยวหนุนปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เบื้องต้น AOT รายงานปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินเดือน ต.ค./พ.ย. โต 12%/25% เทียบปีก่อน และ 13%/15% เทียบปีก่อนตามลำดับ เบื้องต้นคาดกำไรสุทธิไตรมาสแรกและไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ราว 5-6 พันล้านบาทต่อไตรมาส จึงคาดกำไรสุทธิปี FY25F (ต.ค.24-ก.ย.25) 23,356 ล้านบาท โต +22% เทียบปีก่อน จึงคงคำแนะนำ Trading Buy ราคาเป้าหมาย (TP25F) 64.50 บาท
ทั้งนี้ AOT ประกาศจ่ายเงินปันผลปี FY24จำนวน 0.79 บาทต่อหุ้น คิดเป็น Div yield 1.3% (xd 4 ธ.ค.และจ่าย 6 ก.พ.)
ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นกลางต่อกำไรสุทธิงวด Q4/67 (ก.ค.-ก.ย.67) หลังออกมาตามตลาดคาด เท่ากับ 4.3 พันล้านบาท ลดลง 6% จากไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 24% เทียบปีก่อน จาก OPEX เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลและรายได้มีผลจากการขอคืนพื้นที่ DUTY FREE 2 ครั้ง จึงคงประมาณการคงแนะนำ OUTPERFORM จากแนวโน้มกำไรไต่ระดับเป็นขั้นบันไดเทียบไตรมาสก่อน อีก 2 ไตรมาส ส่วนกรณีผลกระทบจากการขอคืนพื้นที่ หากราคาหุ้นปรับลงมากกว่าผลกระทบต่อประมาณการ มองเป็นโอกาสสะสม จากทิศทางนักท่องเที่ยวต่างชาติขยับขึ้นช่วง SEASONALITY ของท่องเที่ยวไทย ราคาเป้าหมาย 69 บาท/หุ้น
ขณะที่ บล.เคจีไอ ประเมินว่า ถึงแม้จะเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวชะลอตัวตามฤดูกาล แต่กำไรสุทธิของ AOT ยังเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ในไตรมาส 4 ปี 67 เป็น 4.276 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.5 % จากปีก่อน และลดลง 6.4 % QoQ) ขณะกำไรสุทธิในปี FY67 อยู่ที่ 1.92 หมื่นล้านบาท (+118.2% เทียบปีก่อน) ผลประกอบการในไตรมาส 4 ปี 67 ออกมาดีกว่าประมาณการของ บล.เคจีไอ 2.7% สำหรับไตรมาส 4 ปี 67 โดยจำนวนผู้โดยสารรวมอยู่ที่ 29.2 ล้านคน (+13.6% จากปีก่อน และ 0.8% จากไตรมาสก่อน) และจำนวนเที่ยวบินอยู่ที่ 181,131เที่ยว (+11.6% เทียบปีก่อน และ +1.5% จากไตรมาสก่อน) ขณะรายได้อยู่ที่ 1.68 หมื่นล้านบาท (+9.2% จากปีก่อน และ +2.3% จากไตรมาสก่อน)
ส่วน EBIT margin อยู่ที่ 35.5% จาก 31.7% ในไตรมาส 4 ปี 66 และ 38.4% ใน ไตรมาส 3 ปี 67 ทั้งนี้ ในปี FY67 รายได้จากธุรกิจการบินคิดเป็น 46% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การบินคิดเป็น 54% ของรายได้รวม
โดยสรุปแล้ว ผลการดำเนินงานของ AOT ในไตรมาส 4 ปี 67 ยังคงสะท้อนภาพการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยเทียบปีก่อน โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับผลกระทบระยะสั้นจากไตรมาสก่อน จากการคืนพื้นที่เชิงพาณิชย์บางส่วนและค่าใช้จ่ายโบนัสพนักงานที่สูงเกินคาด
ทั้งนี้ ในระยะสั้น AOT น่าจะได้รับผลกระทบจากการคืนพื้นที่เชิงพาณิชย์บางส่วนจากผู้รับสัมปทานและพื้นที่สำนักงานบางส่วน ซึ่งจะจำกัดศักยภาพการเติบโตของรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งตามปกติแล้วจะมี margin อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่เมื่อมองต่อไปข้างหน้า การเปลี่ยนแนวทางพัฒนาสนามบินน่าจะทำให้มาตรฐานของสนามบินสูงขึ้นทั้งในส่วนของสนามบินที่ใหญ่ที่สุด (สุวรรณภูมิ) และสนามบินที่คับคั่ง (ภูเก็ต) รวมถึงสนามบินอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ AOT ด้วย นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าน่าจะมีการปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสาร (PSC) อีกในอนาคต
โดยคาดว่าผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี68 จะแข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากเป็นช่วง high season ของการท่องเที่ยวในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังคาดว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวอีกด้วย ดังนั้น จึงคงแนะนำซื้อ โดยประเมินราคาเป้าหมาย DCF ปี FY68 ที่ 72.00 บาท