xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 34.64 กังวลความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (21 พ.ย.) ที่ระดับ 34.64 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.75 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง (กรอบการเคลื่อนไหว 34.59-34.76 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าโดยรวมเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้นตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงเชื่อว่า เฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ยและมีโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ได้ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน ทว่าเงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวนด์สูงขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ราว +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 2,640-2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความร้อนแรงในช่วงนี้ (เรามองว่า ควรจับตาพัฒนาการของสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งอาจสร้างความผันผวนให้ตลาดการเงิน โดยเฉพาะในส่วนของราคาทองคำและเงินบาทได้)

นอกจากนี้ ความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงนี้ยังได้หนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ชะลอการอ่อนค่าลงบ้าง หลังในช่วงระหว่างวัน เงินเยนญี่ปุ่นได้ทยอยอ่อนค่าลงใกล้โซน 156 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง ซึ่งภาพดังกล่าว กอปรกับแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD มีส่วนช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟด โดยเฉพาะสำหรับการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้

นอกจากนี้ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักอื่นๆ นอกจากเฟด ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB พร้อมทั้งติดตาม สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงร้อนแรงอยู่ในช่วงนี้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่าเงินบาทอาจมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งอาจมีจุดสำคัญอยู่ที่ช่วงวันศุกร์ ซึ่งจะมีการรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น (ส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ได้) รวมถึงรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Manufacturing and Services PMIs) เดือนพฤศจิกายนของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลักได้เช่นกัน

ทั้งนี้ เราประเมินว่าเงินบาทเผชิญความเสี่ยงสองด้าน (ทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า) พอๆ กัน โดยแรงหนุนฝั่งแข็งค่านั้นอาจมาจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือความขัดแย้งในตะวันออกกลาง (ซึ่งดูสงบลงจากช่วงก่อนหน้าพอสมควร) ทว่า ความกังวลต่อความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าวมีโอกาสหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทได้เช่นกัน และแม้ว่าเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways หรืออาจยังไม่ได้แข็งค่าขึ้นชัดเจนท่ามกลางแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD แต่เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยในวันก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นและบอนด์ไทยกว่า -4.6 พันล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นพอสมควรจากช่วงต้นสัปดาห์ นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดอย่างฝั่งผู้นำเข้าอาจรอจังหวะทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์แถวโซนแนวรับช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับดังกล่าวได้ง่ายนัก ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ ในช่วงแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ (โซนถัดไป 35.00 บาทต่อดอลลาร์) ทำให้โดยรวมเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ระหว่างโซนดังกล่าวไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น