xs
xsm
sm
md
lg

จบปีโอน "ที่อยู่อาศัย" แตะ 1 ล้านล้านบาท คอนโดฯ ต่ำ 7 ล้านโต รับมาตรการรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ส่งสัญญาณอสังหาฯ ปี 67 ฟื้นตัว ยอดโอนกรรมสิทธิ์คาดดีขึ้น หลังไตรมาส 3 ตัวเลขติดลบน้อยลง ชี้มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนที่อยู่อาศัยต่ำ 7 ล้าน หนุนตลาดคอนโดฯ Q3 คึกคึก เพิ่มขึ้นเกือบ 10% มูลค่าโอนเกือบ 60,000 ล้านบาท ส่วนบ้านแพงเกิน 10 ล้าน ยังไปได้ดี คาดทั้งปีทั่วประเทศโอนทะลัก 3.5 แสนหน่วย ลดลงเพียง -4.4% ธุรกิจอสังหาฯ มีรายได้จากการรับโอนพุ่ง 1.07 ล้านบาท เปิดฉากทัศน์อสังหาฯ ปี 68 ตลาดพลิกเป็นบวก สินเชื่อปล่อยใหม่พุ่ง 6.14 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3%

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธอส. กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ไตรมาส 2-3 ปี 2567 ยังคงติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถือว่าติดลบน้อยกว่าไตรมาส 1 สะท้อนถึงตลาดที่อยู่อาศัยมีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น หลังจากได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ให้ที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 3 ล้านบาทเท่านั้น จึงทำให้ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการโอนอาคารชุด ในขณะที่ที่อยู่อาศัยแนวราบลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวันของปีก่อน
การโอนอาคารชุด ไตรมาส 3 รวมทุกระดับราคา มีจำนวนรวม 31,247 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 แต่มีมูลค่า 79,284 ล้านบาท มูลค่าลดลงร้อยละ -1.7

ทั้งนี้ อาคารชุดในกลุ่มระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการมีการโอน 29,883 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 และมีมูลค่า 59,271 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 แต่อาคารชุด ในกลุ่มราคามากกว่า 7.5 ล้านบาทขึ้นไป มีการโอนจำนวน 1,364 หน่วย ลดลงร้อยละ -17.3 มีมูลค่า 20,013 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -19.1

ที่น่าสนใจ การโอนที่อยู่อาศัยแนวราบรวมทุกระดับราคาลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า มีจำนวน 59,381 หน่วย ลดลงร้อยละ -9.9 และมีมูลค่า 173,968 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -7

แต่ที่อยู่อาศัยแนวราบในกลุ่มราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป เป็นเพียงกลุ่มระดับราคาเดียวที่มีการโอนเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าโดยมีจำนวน 1,715 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 มีมูลค่าการโอน 36,642 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5

โดยภาพรวมการโอน (รวมอาคารชุด และที่อยู่อาศัยแนวราบ) ไตรมาส 3 ปี 2567 มีจำนวนหน่วยและมูลค่าลดลง ร้อยละ -4.5 และร้อยละ -5.4 ตามลำดับ

ขณะที่สะสม 3 ไตรมาส (ม.ค.-ก.ย.2567) พบว่า มีหน่วยโอนรวม 250,580 หน่วย ลดลงร้อยละ -7.4 และมีมูลค่า 705,389 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -8.0 โดยเป็นการลดลงของที่อยู่อาศัยแนวราบ มีจำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -12.8 มูลค่าลดลงร้อยละ -9.2 ลดลงทุกระดับราคา

ต่างจากอาคารชุดสะสม 3 ไตรมาส จำนวนหน่วย 83,209 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 แต่มีมูลค่า 212,753 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -5.2 ทั้งนี้ อาคารชุดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีการโอนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8

โดย REIC คาดการณ์การโอนทั่วประเทศ ปี 2567 มีจำนวนประมาณ 350,545 หน่วย ลดลงร้อยละ -4.4% ส่วนมูลค่าการโอนที่อยู่อาศัยทุกประเภทจำนวน 1,012,760 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.3

9 เดือนต่างชาติโอนสนั่นสูงกว่าทั้งปี 66

สำหรับยอดโอนห้องชุดของชาวต่างชาติในไตรมาส 3 มีจำนวน 3,756 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 และมีมูลค่าการโอน 18,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติ 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 มีจำนวน 11,036 หน่วย (มีสัดส่วนร้อยละ 13.3 ของจำนวนหน่วยโอนห้องชุดทั้งหมด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 แต่มีมูลค่าการโอน 51,458 ล้านบาท (มีสัดส่วนร้อยละ 24.2 ของมูลค่าการโอนห้องชุดทั้งหมด) ลดลงร้อยละ -1.5 โดยจีน และ รัสเซีย แม้จะมีสัดส่วนการโอนห้องชุดมากในอันดับต้นๆ แต่มีจำนวนและมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัญหาเรื่องสงคราม และภาคอสังหาฯ ในจีนยังไม่ฟื้นตัว ในขณะที่พม่า และไต้หวันมีจำนวนหน่วย และมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

"ตัวเลขแค่ 9 เดือน ยอดโอนเทียบเท่าตลอดปี 66 แล้ว เราคาดว่าทั้งปี หน่วยโอนและมูลค่าจะสูงขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ 3 ชาติ คือ จีน พม่า และไต้หวัน จะติดท็อปทรี แต่พบว่า อินเดียมีมูลค่าเฉลี่ยโอนสูงสุดถึง 6.3 ล้านบาท"

คาดอสังหาฯ-สินเชื่อปี 68 พลิกเป็นบวก

นายกมลภพ กล่าวฉายภาพตลาดอสังหาฯ ปี 68 ว่า คาดเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.8-3 โดยปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง การฟื้นตัวของภาคการส่งออก และคาดว่าจะมีการต่ออายุมาตรการลดค่าโอน ซึ่งเรามองว่า ที่อยู่อาศัยระดับราคา 5-7 ล้านบาท มีดีมานด์ที่คนไทยต้องการ ขณะที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีการดูดซับไปเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ยังมีประเด็นเรื่อง LTV และหนี้ครัวเรือนที่อาจจะทำให้ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากกังวลเรื่องหนี้เสียที่จะเกิดขึ้นตามมา

"ธอส.ในธนาคารของรัฐพยายามที่จะสนับสนุนสินเชื่อให้คนไทยมีบ้านเป็นของตนเอง โดยในปีนี้ เราคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ 230,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 2 เดือนสุดท้ายจะต้องปล่อยให้ได้ 25,000 ล้านบาทต่อเดือน" นายกมลภพ กล่าวในฐานะกรรมการผู้จัดการ ธอส.กล่าว

โดย REIC คาดหน่วยโอนที่อยู่อาศัยปี 68 จะมีจำนวน 363,600 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 หรืออยู่ในช่วงร้อยละ -4.5 ถึงร้อยละ 12.3 ส่วนมูลค่าคาดทุกประเภทจำนวน 1,043,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3

ส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ REIC คาดว่าทั้งปี 2567 จะมีมูลค่า 600,812 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -11.4 และคาดการณ์ปี 2568 สินเชื่อทั่วประเทศ มูลค่า 614,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3
กำลังโหลดความคิดเห็น