xs
xsm
sm
md
lg

“หมอบุญ-วิชัย ทองแตง” ขาใหญ่หุ้นวัยเก๋า / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชื่อของหมอบุญ วนาสิน อดีตประธานกรรมการและอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท ธนบุรีเฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เจ้าของโรงพยาบาลธนบุรี ดังกระฉ่อนอีกครั้ง หลังตกเป็นข่าว ปลอมลายเซ็นอดีตลูกสะใภ้ กู้เงินจำนวนเกือบ 8,000 ล้านบาท

หมอบุญตกเป็นข่าวซุบซิบในแวดวงตลาดหุ้นมาพักใหญ่แล้ว เกี่ยวกับปัญหาหนี้สินและปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน แต่ไม่มีใครรู้เบื้องหลังว่า หมอบุญนำเงินไปทำอะไร จึงกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และต้องหาแหล่งเงินกู้สิบทิศ เพราะหมุนเงินไม่ทัน

หมอบุญเคยมีชื่อติดอันดับนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้น ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 โดยเข้าลงทุนหุ้นหลายตัว แต่ซื้อขายหุ้นในลักษณะเข้าออกไว เช่นเดียวกับนักลงทุนรายใหญ่ทั่วไป รวมทั้งนายวิชัย ทองแตง อดีตทนายความ นายทักษิณ ชินวัตร

นายวิชัยเริ่มมีชื่อในฐานะนักลงทุนรายใหญ่และมีฉายาพ่อมดตลาดหุ้นหลังปี 2540 โดยลงทุนหุ้นหลายตัว แต่ถือไว้ไม่นาน และขายทำกำไรระยะสั้นเมื่อมีโอกาส

วงเงินลงทุนของนายวิชัย ล่าสุดอยู่ในระดับหมื่นล้านบาท โดยเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง เช่น บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS

ถือหุ้นใหญ่บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FORTH ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL และถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนอีกหลายแห่ง

หมอบุญ กับนายวิชัย อาจเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้นคนละยุคกัน แต่เป็นนักลงทุนสูงวัยด้วยกัน เพราหมอบุญอายุ 86 ปีแล้ว ขณะที่นายวิชัยมีอายุ 77 ปี

นายวิชัยยังเรืองแสงอยู่ในตลาดหุ้น เงินทองมากมาย เป็นมหาเศรษฐีหุ้นคนหนึ่ง

แต่หมอบุญกำลัง “อับแสง” มีปัญหาหนี้สินพะรุงพะรัง มีคดีถูกฟ้องร้องมากมาย จนต้องหลบหนีไปต่างประเทศ และไม่รู้ว่าจะกลับมาหรือไม่

ยุครุ่งเรืองสุดขีดของหมอบุญ น่าจะเกิดขึ้น ช่วงนำหุ้น THG เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 โดยเสนอขายหุ้นให้นักลงทุนในราคาหุ้นละ 38 บาท จาราคาพาร์ 1 บาท และราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปเฉียด 100 บาท

แต่หลังหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่กี่ปี กลุ่ม "วนาสิน" เริ่มทยอยขายหุ้นออก จนหลุดจากฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง โดยโรงพยาบาลรามคำแพงก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งแทน และครองอำนาจบริหาร THG อย่างเบ็ดเสร็จ ขณะที่กลุ่ม "วนาสิน" หมดบทบาทในการบริหาร

หมอบุญเริ่มเผชิญวิบากกรรม หลังถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งลงโทษปรับเป็นเงิน 2.34 ล้านบาท ช่วงกลางปี 2566 ในความผิดการเผยแพร่ข้อมูลการทำสัญญานำเข้าวัคซีนป้องกัน "โควิด" ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในผลดำเนินงานหรือราคาหุ้น THG

หมอบุญไม่ยอมชำระค่าปรับ ก.ล.ต.จึงส่งเรื่องให้อัยการฟ้องบังคับคดี

เดือนกันยายนที่ผ่านมา THG มีเรื่องฉาวโฉ่ภายใน และทำให้ราคาหุ้นตกรูดมาถึงวันนี้

ฝ่ายบริหาร THG แจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงการตรวจพบรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อย 2 แห่ง ในการให้ยืมเงินกับบริษัทที่กลุ่มวนาสินเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ยอดเงินรวม 145 ล้านบาท และการที่บริษัทลูกสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริง คิดเป็นยอดเงินรวม 55 ล้านบาท

รายการอันควรสงสัยทั้ง 2 กรณี THG ระบุว่า ได้เริ่มดำเนินการแก้ไขแล้ว และโยกย้ายบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำรายการอันควรสงสัยให้ออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องโดยทันที และอยู่ระหว่างการดำเนินการทางวินัย และทางกฎหมายต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องถึงที่สุด

ราคาหุ้น THG ทรุดตัวลง หลังมีข่าวเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในธุรกรรมทางการเงินของบริษัทย่อย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มหมอบุญ โดยล่าสุดลงมาเหลือ 14.50 บาท ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 4,787 ราย ขาดทุนยับเยิน

การนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้หมอบุญมีฐานะเป็นเศรษฐี แต่ไม่มีใครรู้ว่า ตลอด 7 ปี หมอบุญนำเงินไปทำอะไรบ้าง จึงมีหนี้สินท่วมตัว

และความต้องการด้านการเงิน จนทำให้หมอบุญยอมทำผิดกฎหมายอาญาร้ายแรง โดยการปลอมลายเซ็นอดีตลูกสะใภ้เพื่อใช้ในการกู้เงิน

ในวัย 86 ปี หมอบุญควรใช้ชีวิตอย่างสงบบนกองเงินที่สร้างสมมา แต่หมอบุญกลับจมปลักกับธุรกรรมทางการเงิน จนพาตัวเองสู้หายนะ

ตำนานหมอบุญ วนาสิน คงปิดฉากไม่สวยนัก เพราะชีวิตบั้นปลายเต็มไปด้วยหนี้ และมีคดีติดตัว

ปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากหมอบุญนำเงินไปใช้ผิดประเภท แต่นำเงินไปใช้ประเภทไหน จนทำตัวเองล่มสลาย และต้องหนีกระเซอะกระเซิง








กำลังโหลดความคิดเห็น