นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 68 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.3-3.3% (ค่ากลาง 3.0%) ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปี 67 ทั้งนี้ มองว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญในปีหน้า คือ การผลักดันให้ภาคส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่อง การเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้า จากผลของนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ นอกจากนี้ ต้องขับเคลื่อนการลงทุนโดยเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย
"การลงทุนภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า รวมทั้งต้องเร่งรัดเบิกจ่ายลงทุน และทำแผนการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อช่วยกระตุ้นภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง ตลอดจนการผลิตภาคอุตสาหกรรม" เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 68 มีดังนี้
1.การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนจากรายจ่ายภาครัฐ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบประมาณรายจ่ายเหลือปี ปีงบประมาณ 256
สภาพัฒน์คาด GDP ปี 68 โตต่อเนื่อง 3% ท่ามกลางความเสี่ยงมากขึ้น-บาทผันผวน แนะกระตุ้น ศก.ตรงจุด
2.การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอชน
3.การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้นใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวไทย
4.การขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า สอดคล้องกับทิศทางการค้าโลก รวมถึงยอดคำสั่งซื้อใหม่ และวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
* ปี 68 ศก.ไทยยังมีความเสี่ยงสูง แนะรัฐใช้มาตรการกระตุ้นตรงจุด
ในปี 68 ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่
1.ความเสี่ยงจากแนวโน้มการขยายตัวที่ต่ำกว่าคาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ท่ามกลางความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสำคัญ และแนวโน้มการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน
2.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ภายใต้มาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับตัวลดลง ส่งผลให้สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าสินเชื่อชะลอตัวลง
3.ความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคการเกษตร ทั้งผลผลิต และราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ซึ่งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผลผลิตภายใต้สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น จะสร้างแรงกดดันให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง ท่ามกลางสถานการณ์ผลผลิตข้าวจากผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น
ทั้งนี้ จากปัจจัยความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่มีมากขึ้นในปีหน้านั้น สภาพัฒน์มองว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศควรดำเนินการอย่างตรงป้าหมายมากขึ้น ซึ่งต้องรอดูการพิจารณาของคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (19 พ.ย.) ว่าจะมีการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไปอย่างไร
"ปี 68 ความเสี่ยงมีมากขึ้น ดังนั้น การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจควรตรงเป้าหมายมากขึ้น" เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ
สภาพัฒน์เห็นว่าแนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2568 รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับ 1.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้า 2.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาด และการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม 3. ฝการขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน 4.การดูแลเกษตรกร และสนับสนุนการปรับตัวในการผลิตภาคเกษตร 5.การให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่อง และการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
* จับตานโยบายทรัมป์ ต่อผลกระทบส่งออกไทยปี 68
สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยนั้น นายดนุชา ระบุว่า การส่งออกของไทยในไตรมาส 4 ปีนี้จะยังเติบโตได้ต่อเนื่องไปถึงปี 68 เนื่องจากการกลับมาสู่วัฏจักรขาขึ้นของสินค้าในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ และมีคำสั่งซื้อใหม่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ต้องติดตามนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่ "โดนัลด์ ทรัมป์" อย่างใกล้ชิด ใน 2 ประเด็น กล่าวคือ ประเด็นเรื่องความรุนแรงของมาตรการที่ออกมาว่าจะมีครอบคลุมกลุ่มสินค้าใดบ้าง และประเด็นถัดมา จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงระยะเวลาใด
"คาดว่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ จนถึงต้นปี 68 ยังคงไปได้อยู่ แต่ต้องขึ้นกับความรุนแรงของมาตรการที่สหรัฐฯ จะออกมา ซึ่งต้องมาพิจารณารายละเอียดว่ามีผลกระทบต่อสินค้าไทยอย่างไรบ้าง แต่เชื่อว่าจะสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจโลกได้มาก โดยเฉพาะค่าเงิน ที่ปีหน้าจะมีความผันผวน ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ส่งออก-นำเข้า ต้องใช้เครื่องมือทางการเงินเข้ามาบริหารจัดการให้ดี" นายดนุชา กล่าว
พร้อมระบุว่า นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" เป็นประเด็นที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาใช้เตรียมการลดผลกระทบที่จะเกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะตามมาในอนาคต
* หนี้ครัวเรือนปี 68 ยังสูงต่อเนื่องจากปีนี้
เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังมองว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนปี 68 จะยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้นต้องรอดูว่ามาตรการแก้หนี้ที่กำลังจะออกมานี้จะมีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด
"หนี้ครัวเรือนปีหน้า มองว่ายังอยู่ในระดับสูง หนี้ครัวเรือนเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันลดยาก ต้องรอดูมาตรการแก้หนี้ที่กำลังจะออกมาว่าจะ effective มากน้อยเพียงใด" นายดนุชา ระบุ
โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย ล่าสุด ณ สิ้นเดือน ก.ย.67 อยู่ที่ 11.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.3% ของ GDP
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ประเมินว่า ในปี 68 การส่งออก ขยายตัว 2.6% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6% ต่อ GDP อัตราเงินเฟ้อ 0.3-1.3% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 6.5% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 2.8% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.0% นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 38 ล้านคน อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท เฉลี่ย 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ย 75-85 ดอลลาร์/บาร์เรล