ราคาบิทคอยน์พุ่งสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 93,000 ดอลลาร์ โดยมีแรงซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องภายหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้ตลาดคริปโตมีแรงเก็งกำไรกลับเข้ามาโดยคาดหวังว่านโยบายที่ทรัมป์ได้หาเสียงไว้จะเป็นผลบวกต่อบิทคอยน์และตลาดในภาพรวม
มาดูกันว่านโยบายที่ทรัมป์ได้หาเสียงไว้ประกอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง
ข้อแรก..ผลักดันให้อเมริกากลายเป็นประเทศศูนย์กลางของคริปโต และจะทำให้การกำกับดูแลเป็นมิตรกับการทำธุรกิจด้านคริปโตมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม
ข้อสอง..ผ่อนคลายข้อจำกัดและกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนให้เกิดการขุดบิทคอยน์ในสหรัฐฯ
ข้อสาม..ตั้งสภาที่ปรึกษาประธานาธิปดีด้านคริปโต เพื่อทำให้การกำกับดูแลเป็นไปอย่างเหมาะสม พร้อมทำให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน
ข้อสี่..ต่อต้านสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) เพราะต้องการปกป้องความเป็นส่วนตัวในการใช้จ่ายของชาวอเมริกัน
ข้อห้า..ปลด Gary Gensler ประธาน ก.ล.ต.สหรัฐฯ และนำคนที่มีทัศนคติเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมคริปโตมาทำหน้าที่แทน
แต่นโยบายที่จะมีผลต่อตลาดคริปโตมากที่สุดคือการสนับสนุนให้สหรัฐฯถือครองบิทคอยน์ไว้ในระยะยาว พร้อมตั้งข้อเสนอเก็บบิทคอยน์เพิ่มให้ครบ 1 ล้าน BTC เพื่อเป็นสินทรัพย์สำรองเชิงกลยุทธ์ (Bitcoin Strategic Reserve)
ปัจจุบันนี้สหรัฐฯถือครองบิทคอยน์ไว้แล้ว 200,000 BTC ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการยึดมาจากผู้ที่นำบิทคอยน์ไปใช้ในสิ่งผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันหากนำบิทคอยน์ที่มีการลงทุนผ่าน ETF ของผู้จัดการลงทุนแต่ละรายมารวมกันจะทำให้กองทุน Bitcoin ETF ที่จดทะเบียนในสหรัฐฯถือครองบิทคอยน์รวมกันเกิน 1 ล้าน BTC ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับผู้ที่สร้างบิทคอยน์อย่าง Satoshi Nakamoto
มีแนวโน้มสูงมากที่นโยบายดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติจากการที่พรรครีพับรีกันได้คะแนนเสียงทั้งในสภาล่างและสภาบนค่อนข้างมากทำให้การลงคะแนนเสียงของนักการเมืองทำได้อย่างรวดเร็ว
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่นโยบายดังกล่าวถูกอนุมัติจนเป็นกฎหมาย น่าจะได้เห็นสถาบันการเงิน กองทุนเฮดจ์ฟันด์ กองทุน Pension Fund ตลอดจนบริษัทเอกชน มูลนิธิ องค์กรต่างๆหันมาถือบิทคอยน์มากขึ้นตลอดจนผู้ให้คำแนะนำการลงทุนอิสระ (IFA) ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของวอลสตรีทจะแนะนำบิทคอยน์และเหรียญคริปโตอื่นๆให้กับนักลงทุนที่เป็นลูกค้า นักลงทุนเหล่านี้มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลที่พร้อมจะผลักดันมูลค่าของบิทคอยน์ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น และจะเข้ามาอยู่ในสินทรัพย์ทางเลือกสำหรับการจัดพอร์ตลงทุน
นอกจากนี้จะได้เห็นบริษัทด้านคริปโตตั้งฐานที่สหรัฐฯมากขึ้นจากเดิมที่มีการย้ายฐานออกมายังประเทศที่เป็นมิตรต่อคริปโตไม่ว่าจะเป็นดูไบ สิงคโปร์หรือฮ่องกง และสิ่งที่จะตามมาคือ การกำกับดูแลคริปโตทั่วโลกจะมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้นเพราะไม่น่าจะมีใครออกนโยบายที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกันกับสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นการผลักดันตลาดให้มีความคึกคักมากขึ้นและดึงดูดนักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันให้เข้ามาในตลาดนี้และอาจเป็นการส่งสัญญาณให้จีนที่มีนโยบายไม่เป็นมิตรต่อคริปโตอาจจะเปลี่ยนท่าทีด้วย
มีความเป็นไปได้สูงว่าตลาดคริปโตหลังจากนี้ไปจะเข้าสู่กายอมรับในวงกว้าง (Mass Adoption) มากขึ้นทั้งในแง่ของการลงทุน การใช้งานเทคโนโลยี ฯลฯ
อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่อาจตามมาคือบิทคอยน์รวมถึงเหรียญคริปโตอื่น ๆ อาจถูกครองครองด้วยผู้ที่มีเงินทุนมหาศาลซึ่งอาจจะทำให้คอนเซบท์ของการเป็นสินทรัพย์ที่เป็นอิสระ (Decentralized) เสียไปได้เช่นกัน
หมายเหตุ บทความนี้เป็นการวิเคราะห์พื้นฐานเทคโนโลยีบล็อกเชน ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุนแต่อย่างไร
บทความนี้ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน นักลงทุนต้องพิจารณาโอกาสและความเสี่ยงหลายด้านก่อนตัดสินใจลงทุน
บทความโดย : ณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS)
สงวนลิขสิทธิ์บทความเฉพาะสื่อในเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ MGR online , iBit และ ที่ได้รับอนุญาติจากผู้เขียนซึ่งเป็นเจ้าของบทความเท่านั้น