บล.เคจีไอ เปิดโผหุ้นได้-เสีย ยุคทรัมป์ 2.0 ระบุกลุ่มนิคมฯ อย่าง AMATA WHA รับประโยชน์หลังสงครามการค้า เร่งให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาฝั่งเอเชีย และอาเซียน ขณะที่กลุ่มอิเล็กฯ อาหาร และเครื่องดื่ม รับผลกระทบเชิงลบ ทั้ง HANA-DELTA-KCE-TU-ITC-SAPPE จากเงินบาทที่คาดจะกลับไปแข็งค่า การเรียกเก็บภาษีนำเข้า ตลอดจนอาจเสียเปรียบคู่แข่งการค้าอย่างเวียดนาม
เคจีไอมองหุ้นนิคมฯ ได้อานิสงส์ย้ายฐาน ยุคทรัมป์ 2.0
ฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ เปิดเผยถึงมุมมองต่อตลาดหุ้นไทย หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรค Republican ได้กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสมัยที่สอง โดยเคจีไอมองบวกกับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เช่น AMATA และ WHA เนื่องจากแนวโน้มการปกป้องทางการค้าจะเร่งให้มีการย้ายการลงทุนมาเอเชีย และ ASEAN
นอกจากนี้ การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรดีดตัวแรง ในขณะที่แนวโน้มการลดดอกเบี้ยอาจจะไม่มากเท่ากับที่คาดเอาไว้ก่อนหน้านี้ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนภาวะการซื้อขายของกลุ่มธนาคารไทย
ส่วนด้านลบ ต้องจับตาผลกระทบจากสงครามการค้า 2.0 ต่อกลุ่มส่งออก อย่างเช่น อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และเครื่องดื่ม
ขณะที่นักลงทุนควรติดตามท่าทีของ Trump ในประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทรัสเซีย-ยูเครน การปะทะกันระหว่างอิสราเอล และอิหร่าน และ ประเด็นระหว่างจีน และไต้หวัน
มองกลุ่มอิเล็กฯ อาหาร เครื่องดื่มรับผลกระทบเชิงลบ
สำหรับผลกระทบด้านลบ ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และเครื่องดื่ม ดังนี้
กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ : ในกรณีที่ขึ้นอัตราภาษีสินค้าจีนเป็น 60% คาดว่าจะทำให้มีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับ supply chain ของกลุ่มอิเล็กฯ และจะทำให้มีการพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากจีน สำหรับในระยะสั้น คาดว่าการขึ้นภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบในประเด็นดังต่อไปนี้ i) เกิด disruption ใน supply chain ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพราะมีการเชื่อมโยงกันทั้งโลก ii) อาจจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นจากภาษีที่สูงขึ้น หรือการจัดหาวัตถุดิบเพื่อเลี่ยงภาษี iii) ในกรณีที่มีการส่งผ่านต้นทุนไปให้ผู้ใช้งานขั้นสุดท้าย อาจจะทำให้อุปสงค์ลดลง หรือ ถูกเลื่อนออกไป iv) ในกรณีที่ผู้ผลิตแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเอาไว้เองจะทำให้อัตรากำไรลดลง
สำหรับในระยะกลางถึงยาว นโยบายการขึ้นภาษีของ Trump จะทำให้ผู้ผลิตตื่นตัวในการพิจารณาย้ายฐานการผลิต หรือมองหาแหล่งวัตถุดิบนอกประเทศจีน โดยในส่วนของผลกระทบต่อบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของไทย (DELTA* / HANA* /KCE*) พบว่ารายได้ส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนอยู่ที่ประมาณ 10-15% ดังนั้น การขึ้นอัตราภาษีอาจจะส่งผลกระทบต่อยอดขายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีน (ยอดขายในส่วนนี้ลดลง) แต่ในทางกลับกัน ประเด็นนี้อาจจะเป็นโอกาสให้บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของไทยได้คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากการย้ายฐานการผลิตเช่นกัน
กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม: เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมากในวันพุธหลังจากข่าว Donald Trump ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าสถานการณ์นี้จะส่งผลดีเนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้
1.เรามองว่าการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยชั่วคราว และยังคงคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่ากลับไปอยู่ที่ประมาณ 32.50 บาท/ดอลลาร์ ในปีหน้า
2.นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อาจจะทำให้อัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 10-20% จากปัจจุบันที่สินค้าอาหาร และเครื่องดื่มส่วนใหญ่ได้รับยกเว้นภาษี หรือจ่ายในอัตราที่ต่ำมาก ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนโนยบายภาษีดังกล่าวจริงจะทำให้ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น และกดดันอุปสงค์
3.ประเทศไทยอาจจะเสียเปรียบคู่แข่งทางการค้าที่มีการทำข้อตกลงทางการค้าไว้กับสหรัฐฯ อย่างเช่นเวียดนาม
บริษัทในกลุ่มนี้ที่ศึกษาอยู่ และมีรายได้จากการส่งออกไปสหรัฐในระดับที่มีนัยสำคัญได้แก่ ITC* (50%) TU*(12%) และSAPPE* (7%) มองบริษัทเหล่านี้ด้วยความระมัดระวังมากขึ้น เพราะคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมากขึ้นในปีหน้า สำหรับการส่งออกไก่จากประเทศไทย คิดว่าไม่น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะสหรัฐฯ ไม่ได้นำเข้าจากประเทศไทย อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากภาวะเศรษฐกิจโลกในกรณีที่สงครามการค้ารุนแรงมากขึ้น สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ คาดว่าการส่งออกไก่ไทยจะแผ่วลงเนื่องจากปัจจัยฤดูกาล
กลุ่มพลังงาน: ส่งผลลบเล็กน้อยกับกลุ่มพลังงาน เพราะนโยบายของเขาน่าจะส่งผลกระทบเฉพาะหน้ามากกว่า โดยที่ราคาน้ำมันดิบจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเพิ่มอุปทานน้ำมัน ทั้งผ่านการผลิตในประเทศ และการยกเลิกการคว่ำบาตรประเทศอย่างรัสเซีย และอิหร่าน ทั้งนี้ การที่อุปทานน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นจะทำให้ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งการที่รัฐบาลภายใต้การนำของ Trump มีแผนจะเน้นเพิ่มการผลิตน้ำมัน และผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร จะทำให้การส่งออกน้ำมันจากประเทศที่เคยถูกคว่ำบาตรพุ่งสูงขึ้น และฉุดให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงในระยะสั้น