ธปท.คงกรอบเงินเฟ้อปี 2568 ที่ 1-3% หลังหารือร่วมกัน ยันเป็นระดับที่เหมาะสม สมดุล เอื้อต่อการลงทุน การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างมีศักยภาพที่ 3% และเสถียรภาพทางการเงินที่ระยะสั้นอาจจะมีความตึงตัวบ้างเล็กน้อย แต่ระยะยาว จะกลับสู่ภาวะสมดุลด้านเสถียรภาพการเงิน ย้ำการดูแลเศรษฐกิจต้องทำให้ครบเป็นแพกเกจที่เห็นร่วมกันกับกระทรวงการคลัง
นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการหารือระหว่างนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อกำหนดกรอบนโยบายการเงินในการกำหนดกรอบเงินเฟ้อปี 68 นั้น โดยทั้งกระทรวงการคลัง และ ธปท. มีมุมมองที่ตรงกันถึงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ซึ่งเป็นระดับที่เอื้อต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่ระดับ 2.8-3% ซึ่งเป็นระดับที่มีศักยภาพ
โดยหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดูแลสภาวะเศรษฐกิจการเงินให้เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งใช้ดอกเบี้ย และดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ การดูแลเศรษฐกิจต้องทำให้ครบทุกด้าน มองหาความสมดุล ซึ่งจะต้องมีหลายปัจจัยที่ต้องทำพร้อมกันเป็นแพกเกจ
"กรอบเงินเฟ้อดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสม และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และ การลงทุนให้มากขึ้น ซึ่งเงินเฟ้อ 1-3% เป็นระดับที่ควรจะเป็น มีขึ้น มีลง เป็นไปตามอุปสงค์ ส่วนเงินเฟ้อที่ รมว.คลังอยากเห็น 2% นั้น จะอยู่ในกรอบที่ได้กำหนดไว้ จึงมีความยืดหยุ่น" นายปิติ กล่าว
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปลายปี 2567 โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงด้านสูง คือ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับสูงขึ้น และปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำ เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจต่ำกว่าคาด และมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐที่อาจมากกว่าคาด โดยเงินเฟ้อทั่วไป ปี 67 อยู่ที่ 0.5% และปี 68 อยู่ที่ 1.2% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ปี 67 อยู่ที่ 0.5% และปี 68 อยู่ที่ 0.9%
ในส่วนเศรษฐกิจไทยภาพรวมขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสมดุลมากขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินแรงส่งสําคัญมาจากอุปสงค์ในประเทศ และภาคท่องเที่ยว โดยปีนี้คาดจีดีพีเติบโตที่ 2.7% และปีหน้าที่ 2.9% ซึ่งจํานวนนักท่องเที่ยวได้รับผลบวกจากอุปสงค์การท่องเที่ยวโลกที่ปรับดีขึ้น และนโยบายภาครัฐ เช่น การยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Free) เพิ่มเติม และนโยบายกระตุ้นให้สายการบินเพิ่มจํานวนเที่ยวบินในขณะที่แนวโน้มรายได้จากนักท่องเที่ยวใกล้เคียงเดิม โดยค่าใช้จ่ายต่อคนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวยังไม่ทั่วถึง โดยการใช้จ่ายด้านที่พักกระจุกตัวในโรงแรมขนาดใหญ่ 4 ดาวขึ้นไป และธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองใหญ่ฟื้นตัวดีกว่าเมืองรอง ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวปี 67 อยู่ที่ 36 ล้านคน และปี 68 อยู่ที่ 39.5 ล้านคน
ทางด้านการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก โดยปี 67 อยู่ที่ 2.8% และปี 68 อยู่ที่ 2% ทางด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวตามปัจจัยด้านรายได้ และผลระยะสั้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปี 67 อยู่ที่ 4.2% และปี 68 อยู่ที่ 2.5% ส่วนการลงทุนปี 67 มีแนวโน้มหดตัว ตามหมวดยานพาหนะเป็นสําคัญ อย่างไรก็ดี หมวดเครื่องจักร และ อุปกรณ์ยังขยายตัวได้ โดยปี 67 หดตัวที่ -2.8% และปี 68 อยู่ที่ 2.9%
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงิน กนง. เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยพิจารณาว่าแนวโน้มเศรษฐกิจ และ เงินเฟ้อเป็นไปตามที่ประเมินไว้ ขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาวปรับลดลง เพื่อรักษาจุดยืนของนโยบายการเงินที่เป็นกลาง (broadly neutral stance) ในช่วงที่ภาวะการเงินมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น และ สินเชื่อชะลอตัวลง โดยสินเชื่อที่ขยายตัวชะลอลงเป็นไปตามที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากความต้องการสินเชื่อที่ลดลงและการชําระคืนหนี้ของลูกหนี้ หลังสินเชื่อเร่งขึ้นในช่วงโควิดตามมาตรการของทางการ
สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะในบางกลุ่ม เช่น ลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบาง และ SMEs ที่รายได้ฟื้นตัวช้า สอดคล้องกับความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อในบางธุรกิจลดลงจากการเผชิญปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับยานยนต์ และธุรกิจที่ได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากการแข่งขันจากจีน