xs
xsm
sm
md
lg

“แสนสิริ” ชี้อสังหาฯ ไม่ใช่แค่ธุรกิจแต่เป็นหัวใจ ศก. ระบุปี 68 กำลังซื้อต่างประเทศยังสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงไตรมาสแรกของปี 67 เป็นต้นมาผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างชะลอแผนการพัฒนาโครงการ ทั้งแนวราบและแนวสูง หลังแนวโน้มตลาดไม่สดใส่อย่างที่หลายๆ คนคาดการณ์ไว้ ถึงขั้นที่ นายกสมาคมอาคารชุดไทย “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ออกปากในระหว่างการเป็นวิทยากรรับเชิญ ในงานเสวนากรุงเทพจตุรทิศประจำปี 2567 ที่จัดโดยเว็บไซต์ prop2morrow“ ว่า 30 กว่าปีที่ผมคลุกคลีอยู่ในวงการอสังหาฯ ปีนี้ (2567) เป็นปีที่ตลาดอสังหาฯ แย่ที่สุด ในไตรมาสแรกที่อยู่อาศัยทุกตลาด ทุกเซกเมนต์หดตัวกันหมด

ขณะที่ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 เป็นต้นมาสัญญาณการกลับมาของดีมานด์ในตลาดคอนโดมิเนียม ทำให้ตลาดในช่วงที่ผ่านมาอัตราการระบายออกของคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ขยายตัวดีมาก โดย "ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มมหาชน) ได้ระบุในวันเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียม 4 โครงการใหม่ล่าสุดว่า นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2-3 เป็นต้นมาดีมานด์คอนโดฯ กลับมาขขยายตัวแรง จนส่งผลให้ซัปพลายคอนโดฯ ในตลาดลดลงอย่างรวดเร็ว โดยในส่วนของ “ศุภาลัย” นั้นสามารถปิดการขายคอนโดฯ พร้อมอยู่ไปหลายโครงการ ทำให้สต๊อกคอนโดฯ ลดลงอย่างมาก และเป็นที่มาของการเปิดตัวโครงการคอนโดฯ ใหม่ 4 โครงการรวดในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และในปี 68 ยังมีแผนจะเปิดตัวโครงการคอนโดฯ ใหม่เพิ่มไม่ต่ำกว่า 1 เท่าตัวของปี 67 นี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดีมานด์คอนโดฯ จะดีดตัวกลับตั้งแต่กลาง 67 ปีที่ผ่านมา แต่อุปสรรคของผู้บริโภคคนไทยที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย หลักๆ ยังคงเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงที่มีผลทำให้การกู้ยืมยากขึ้น ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงยังคงกระทบกับกำลังซื้อของผู้ซื้อและผู้ขาย ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติให้ชะลอการซื้อไปด้วย ปัญหาคือในปี 68 ที่ถูกคาดการณ์ว่าตลาดอสังหาฯ จะกลับมาฟื้นตัวได้นั้น เป็นการฟื้นตัวจากกำลังซื้อของคนในประเทศ หรือยังคต้องพึ่งกำลังซื้อจากต่างประเทศเป็นหลัก

ภูมิภักดิ์ จุลมณีโชติ
จากประเด็นดังกล่าว “ภูมิภักดิ์ จุลมณีโชติ” ประธานผู้บริหารสายงานกลยุทธ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า
การเข้ามาของกำลังซื้อต่างประเทศเป็นโอกาสที่ดีของตลาดอสังหาฯ ไทย โดยเฉพาะเมื่อผู้ซื้อจากต่างชาติมาลงทุนในอสังหาฯ ได้ง่ายขึ้น ประกอบกับการจัดเก็บภาษีจากชาวต่างชาติได้มากขึ้น จะทำให้ประเทศไทยมีเงินมาพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในระหว่างที่ดีมานด์ในประเทศยังไม่ฟื้น การที่มีดีมานด์ชาวต่างชาติเข้ามาเสริมจึงเป็นการช่วยขับเคลื่อนภาพอสังหาฯ ให้เติบโตต่อได้

“ผมมองว่าโดยรวมแล้ว แม้สถานการณ์จะท้าทาย แต่อสังหาฯ ไทยยังมีโอกาสเติบโต หากรัฐบาลมีการ ดำเนินการใน 3 ด้านคือ 1.ปรับนโยบายให้เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติ 2.พัฒนาระบบภาษีให้มีประสิทธิภาพ 3.สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและการกระจายรายได้”

โดยปีหน้านี้ “แสนสิริ” ยังคงงเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มเพื่อเสริมสินค้าเข้าพอร์ตที่ลดลง หลังมีการปิดการขายโครงการเดิมไปหลายโครงการในปีนี้ โดยแสนสิริยังคงโฟกัสที่การรักษาระดับผลประกอบการให้เติบโตอย่างสม่ำเสมอ เช่น รักษาระดับยอดขายปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท โดยมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการเปิดตัวโครงการให้มากขึ้น โดยเฉพาะแนวราบ โดยมีสัดส่วนการลงทุนในโครงการแนวราบที่ 60-70% และลงทุนโครงการแนวสูง 30-40%

โดยจะเน้นการรุก Strategic  Location หัวเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ มีโรดแมปการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจน และได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน highlight คือ ภูเก็ต กับ THE SOCIETY’ SANSIRI’S FIRST SOCIAL SPACE IN PHUKET

“เราจะเน้นการยกระดับโมเดลของ Sansiri Community ในแต่ละทำเลที่เข้าไปพัฒนาโครงการ และยกระดับให้เป็นสังคมอยู่อาศัยสมบูรณ์ ยกตัวอย่าง Sansiri 10 East ซึ่งเป็น Luxury Community แห่งแรกของแสนสิริ ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ และยังคงเดินหน้ารักษามาตรฐานความเป็น Brand อันดับ 1 ในตลาด Design Leader, Innovation, Quality & Service, Sustainability และเป็นองค์กรชั้นนำที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายการเข้าทำงานของคนรุ่นใหม่”


*** ดอกเบี้ยกุญแจสำคัญสู่การฟื้นตัว

“ภูมิภักดิ์” กล่าวว่า แม้ว่าดีมานด์ในตลาดอสังหาฯ ช่วงปลายปีจะดีดตัวกลับมา แต่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง สวนทางกับกำลังซื้อ การแก้ปัญหาแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไทยต้องนำมาเป็นบทเรียน เพราะท่ามกลางความวุ่นวายทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกและผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามกระตุ้นและพยุงเศรษฐกิจของตัวเอง ตัวอย่าง เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน และ เกาหลีใต้ ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางด้านนโยบายอย่างชัดเจน

เริ่มตั้งแต่สหรัฐฯ ออกมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% อังกฤษได้มีการลดดอกเบี้ยลง 0.25% ล่าสุดเกาหลีใต้ประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.25% ขณะที่จีนออก 3 มาตรการใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อย ลดดอกเบี้ยลง 0.20% และลดดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน 0.50% และให้รัฐบาลท้องถิ่นเข้าไปซื้อหรืออุ้มโครงการอสังหาฯ ที่อยู่ในภาวะ Oversupply โดยอาจจะมีการซื้อโครงการมาในราคา Discount และปล่อยเช่าให้ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ไม่ให้สินทรัพย์หรือหนี้สินต่างๆ เป็น NPL เมื่อติดตามมาตรการต่างๆ ของประเทศต่างๆ แล้ว ย้อนกลับมาดูเศรษฐกิจไทยปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร


**ลดดอกเบี้ย 0.25% คลายกดดันผู้ซื้อ-อสังหาฯ

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ซึ่งถือเป็นข่าวดีต่อผู้ประกอบการอสังหาฯ และผู้บริโภคที่กำลังจะซื้อบ้านในช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงนั้น “สุรเชษฐ กองชีพ” กรรมการผู้จัดการบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด มองว่า เป็นการช่วยลดแรงกดดันจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งช่วยให้ฝั่งผู้ประกอบการอสังหาฯ ลดความกดดันลง ขณะเดียวกัน ลดแรงกดดันให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยไปด้วย อย่างไรก็ตาม การลดแรงกดดันจากการปรับลดดอกเบี้ยนั้นอาจช่วยผู้บริโภคที่ต้องผ่อนค่างวดบ้านได้ไม่มากนักเนื่องจากการลดดอกเบี้ย 0.25% ไม่ได้มีผลกับการลดค่างวดได้มากนัก โดยสามารถช่วยลดดอกเบี้ยค่างวดบ้านได้ล้านละ 2,500 บาท

สำหรับการลดดอกเบี้ย นโยบายลง 0.25% ของ กนง. แม้จะเป็นการลดแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ย แต่เชื่อว่าในระยะสั้นจะยังส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในทันทีเนื่องจากต้องรอดูว่าธนาคารพาณิชย์จะรับลูกปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมากแค่ไหน โดยส่วนตัวแล้วชื่อว่าธนาคารพาณิชย์คงไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงพร้อมกันทั้งหมด หรือหากมีการปรับลงอาจจะเป็นเพียงส่วนน้อย ซึ่งไม่สามารถชดเชยในส่วนที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาได้เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านี้สถาบันการเงินมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเกือบ 2% 

“ปัญหาที่สำคัญ คือ แม้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงแต่แบงก์ยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายย่อยอยู่
ซึ่งจะทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่ได้ลดลงหรือยังคงอยู่ในระดับเดิม เนื่องจากแบงกฺยังคงกังวลเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในครั้งนี้จึงช่วยในเรื่องของคลายความกดดันเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยในเรื่องของโอกาสหรืออัตราการอนุมัติสินเชื่อให้เพิ่มขึ้นมากนัก” นายสุรเชษฐ กล่าว  


“ภูมิภักดิ์” กล่าวว่า สำหรับภาคธุรกิจอสังหาฯ นั้นการที่ระดับหนี้สิ้นครัวเรือนเราสูง ทำให้การกู้ยืมเป็นไปได้ยาก เนื่องจากรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ยิ่งอัตราดอกเบี้ยยังไม่ได้ปรับลดลงส่งผลกระทบ 2 เด้งกับผู้ประกอบการ นั่นคือ ภาระดอกเบี้ยยังไม่ลดสำหรับกำลังซื้อในประเทศ ส่วนกำลังซื้อจากต่างประเทศก็ลดลงเนื่องจากสินค้ามีราคาสูงขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาท เรื่องดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะมองต่างมุมกัน คนรวยที่ไม่ค่อยมีหนี้จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ยเพราะมีเงินออมหรือเงินลงทุนอยู่ ต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้น การลดดอกเบี้ยจะกระทบต่อความมั่งคั่งของเขา

ในขณะคนที่มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ เงินไม่พอใช้ ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา ต้องการให้ลดดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่าย ซึ่งสถานการณ์ของอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ ความต้องการโดยรวมยังไม่ฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สามารถปรับตัวได้ยังทำผลประกอบการได้ดี เนื่องจากมีสายป่านที่ยาวกว่า หันไปพัฒนาสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เจาะตลาดที่มีกำลังซื้ออยู่ อย่างไรก็ตามสถานการณ์แบบนี้ถ้าปล่อยต่อไปอาจจะไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมเท่าไหร่ เนื่องจากอสังหาฯ เป็นหนึ่ง Sector ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สำคัญแค่ไหนขอให้ไปดูว่าทำไมประเทศจีน ประเทศที่เศรษฐกิจในช่วงหลังมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องจึงให้ความสำคัญมากกับเรื่องนี้

“วันนี้เรามีบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าความต้องการที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติจะต้องมีมากขึ้น การปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้คงไม่ไปบอกว่าอยากให้ปรับอะไร แต่การเก็บภาษีจากชาวต่างชาติและบริษัทต่างชาติเป็นสิ่งที่ต้องมาดูกันเข้มข้นขึ้น เพื่อทำให้ประเทศพัฒนาและไม่เสียโอกาส ในเมื่อจะมีการลงทุนอีกมากเกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องอย่าลืมว่ากลไกสำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องภาษี ประเทศเรามีคนเรียกร้องสิทธิกับการใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องภาษีกันมากมาย แต่เมื่อดูตัวเลขจริงๆ แล้ว ประชากรไทยมีประมาณ 70 ล้านคน อยู่ในวัยทำงาน 40 ล้านคน ยื่นจ่ายภาษี 10 ล้านคน แต่จ่ายภาษีจริงๆ แค่ 4 ล้านคน ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ เราคงเป็นประเทศที่ฐานพีระมิดกว้างอยู่ดี จะเป็นโอกาสที่ดี ถ้าเรามีต่างชาติมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น และเราจัดเก็บภาษีจากเขาได้มากขึ้นเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ ซึ่งถือว่าระหว่างที่ Demand ในประเทศยังไม่ฟื้น Demand ชาวต่างชาติตรงนี้จะช่วยขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโตต่อได้” ภูมิภักดิ์ กล่าว

บาทแข็งค่าเหรียญสองด้าน ศก.ไทย

“ภูมิภักดิ์” กล่าวถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ ไทยในปัจจุบันว่า นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือน การเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ และกำลังซื้อของลูกค้าที่หดตัวที่ยังมีผลในแง่ลบแล้วทิศทางของดอกเบี้ย และการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น คือปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ตามแต่ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าจาก 37 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก และการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น จากการประมาณการของธนาคารโลกล่าสุด GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ 2.4% ซึ่ง GDP คือค่าเฉลี่ยของการเติบโตของประเทศ มีองค์ประกอบหลายอย่าง แต่ที่จะขอกล่าวถึงวันนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 Sector คือ การส่งออก การท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ นับเป็น 65% 20% และ 5% ของ GDP ตามลำดับ เป็นที่น่าเสียดายว่าในช่วงที่ผ่านมาภาพรวมการส่งออกของไทยดีขึ้น แต่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นไม่ได้มากเนื่องจากเงินบาทเราแข็งค่าขึ้นไปมาก จากจุดที่อ่อนสุดในปีนี้ที่ประมาณ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสั้นๆ หลังจากนั้นทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการแทรกแซงค่าเงินทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยมาอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์

“แต่ถือว่าเงินบาทก็ยังแข็งค่าอยู่ เมื่อเทียบกับต้นปีที่มีอัตราการแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ผู้ส่งออกไม่ได้รับผลบวกจากยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร และส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศด้วยเช่นกัน ในแง่ภาคท่องเที่ยว ถึงแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลให้เกิดการชะลอในการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ดี ถ้าไม่นับเรื่องของค่าเงินแล้วสถานการณ์ของการส่งออกและการท่องเที่ยวถือว่ากระเตื้องขึ้น แต่น่าเสียดายที่น่าจะปรับตัวได้ดีกว่านี้ถ้าค่าเงินบาทเราอยู่ในระดับที่เหมาะสม” ภูมิภักดิ์ กล่าว


หนี้สาธารณะ vs หนี้ครัวเรือนดาบสองคมศก.ไทย

“ภูมิภักดิ์” กล่าวว่าอีกหนึ่ง ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศราฐกิจและธุรกิจอสังหาฯ ในปัจจุบัน คือ หนี้สาธารณะของไทยซึ่งอยู่ที่ 62% ของ GDP ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ขณะที่หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 92% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบงก์ยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อในปัจจุบัน

“ก่อนจะไปพูดถึงสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ในโค้งสุดท้ายของปี คงต้องพูดถึงภาพรวมเศรษฐกิจตอนนี้ก่อน ปัจจัยบวกที่เห็นตอนนี้จะมีเรื่องของเงิน 10,000 บาท ที่ช่วยแก้ไขปัญหาปากท้องในระยะสั้นของผู้มีรายได้น้อย ตลาดหุ้นที่กระเตื้องขึ้นอันเนื่องมากจาการกลับมาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ถือเป็น 50% ของมูลค่าการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(ตลท.) โดยสาเหตุหลักน่าจะมาจากเสถียรภาพของรัฐบาล และยังมีข่าวดีทยอยออกมาในเรื่องของการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างชาติ ส่วนใหญ่จะส่งผลดีในแง่บวกกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 35% ของ GDP ผู้ได้ประโยชน์ในข่าวดีตรงนี้น่าจะเป็นเจ้าของกิจการ นักลงทุนในตลาดหุ้น พนักงานในโรงงานต่างๆ โดยจะช่วยขับเคลื่อนให้ GDP เติบโตได้ในอนาคต”

เมื่อพูดถึงเรื่องหนี้สินจะมีตัวเลขอยู่ 2 ตัวที่ดูกัน คือหนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือน ต่อ GDP สำหรับหนี้สาธารณะประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมหาอำนาจ หรือประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก ถือว่าหนี้สาธารณะของเราอยู่ในระดับที่น้อยกว่ามาก โดยหนี้สาธาณะของอเมริกา อังกฤษ จีน และค่าเฉลี่ยกลุ่มเอเชียแปซิฟิกจะอยู่ที่ 122%, 89%, 84% และ 68% ตามลำดับ ในขณะที่ไทยเราอยู่ที่ 62% นั่นหมายความว่ารัฐบาลยังมี Room ในการก่อหนี้เพื่อสร้าง Mega Project เพื่อผลักดันเศรษฐกิจในประเทศได้พอสมควร

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ที่มีเศรษฐกิจที่เจริญกว่าเรา พบว่าสิงคโปร์มีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 174% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การสร้างหนี้สาธารณะของสิงคโปร์สามารถทำให้ประชาชนเขากินดีอยู่ดีขึ้น แต่ถ้าเรามาดูกันที่หนี้สินครัวเรือนแล้ว อเมริกา อังกฤษ จีน และสิงคโปร์มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 72%, 80%, 63% และ 46% ตามลำดับ ขณะที่ของไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 92% นั่นอาจจะหมายความว่าถ้ารัฐบาลมีการก่อหนี้มาช่วยเหลือเศรษฐกิจมากประชาชนอาจจะเป็นหนี้น้อยลงก็เป็นไปได้

“หากเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนมากกว่าไทย ไม่ว่าจะเป็นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้”


กำลังโหลดความคิดเห็น