xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 33.52 จับตาราคาทองคำ-แรงขายสินทรัพย์ของต่างชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (22 ต.ค.) ที่ระดับ 33.52 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.65 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 33.40-33.53 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าลงพอสมควรในวันก่อนหน้า จนทะลุแนวต้านที่เราประเมินไว้แถว 33.45 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งได้แรงหนุนจากทั้งมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่ามีโอกาสราว 38% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม หลังลดการลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน)

พร้อมกันนั้น เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการเพิ่มสถานะ Long USD เพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงหลังผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า โดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสชนะการเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดได้อ่อนค่าต่อเนื่อง ทะลุโซน 150 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น และนอกเหนือจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวได้ปรับตัวลดลงในช่วงคืนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทถูกชะลอลงบ้างแถวโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ทั้งฝั่งผู้ส่งออกและฝั่งผู้เล่นที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง)

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด BOE และ ECB ซึ่งการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด BOE และ ECB จะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงบรรดาสกุลเงินหลัก ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ได้ในช่วงระยะสั้น

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และแนวโน้มการเลือกตั้งสหรัฐฯ

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินบาทจนทดสอบโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เรายังคงมั่นใจต่อมุมมองเดิมที่ประเมินแนวโน้มเงินบาททยอยอ่อนค่า (เรา call USDTHB bottom แถว 32 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา) อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทหลังจากนี้อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงเหนือโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้ง หากราคาทองคำมีจังหวะรีบาวนด์ขึ้นได้บ้าง อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ ซึ่งในช่วงนี้ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความไม่แน่นอนของทั้งการเลือกตั้งสหรัฐฯ และสถานการณ์ในตะวันออกกลางอยู่ ทว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงนี้ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงินโลกที่ระมัดระวังตัวมากขึ้น อาจทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้ และแรงขายสินทรัพย์ไทยดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทเพิ่มเติมในช่วงนี้

เราประเมินว่า หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้อย่างชัดเจน อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับอาจขยับสูงขึ้นมาแถวโซน 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะมีโซนแนวต้านสำคัญแถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ หากเงินบาทสามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ ซึ่งเรามองว่าอาจยังไม่ได้เกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น