xs
xsm
sm
md
lg

กรุงไทยกำไร 9 เดือนที่ 33,381 ล้านบาท 9.4% คงสำรองระดับสูง มุ่งเน้นแก้ปัญหาหนี้ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารกรุงไทย เติบโตตามยุทธศาสตร์ ไตรมาส 3 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 11,107 ล้านบาท เน้นบริหารพอร์ตอย่างสมดุล จัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและยืดหยุ่น รักษาระดับเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) รองรับสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่ำและมีความไม่แน่นอนสูง เดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าฝ่าวิกฤตน้ำท่วม และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ และเป็นการขยายตัวที่ไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-shaped Economy โดยมีการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก และได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การลดภาระค่าใช้จ่ายและการเพิ่มรายได้ให้ภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตและภาคการส่งออกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการพัฒนาผลิตภาพแรงงานเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน เศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอลงท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของค่าเงินบาท โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่ส่วนใหญ่ยังคงเปราะบางและขาดความยืดหยุ่นในการปรับตัวจึงทำให้ฟื้นตัวได้ช้า

ส่วนภาคครัวเรือนยังได้รับแรงกดดันจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศแปรปรวนที่ส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยที่กระทบในบางพื้นที่

ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2567 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 11,107 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา ธนาคารเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินทรัพย์ รักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 184.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 181.3 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้สินเชื่ออยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา จากการบริหารจัดการ Portfolio รักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน แม้มีการชำระคืนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่

ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานขยายตัวเล็กน้อย ร้อยละ 2.8 บริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 42.4 ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสมใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา รองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ รวมถึงความท้าทายจากการขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ มีสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 98,301 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.1 จากสิ้นปี 2566 มี NPLs Ratio เท่ากับร้อยละ 3.14

เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างยืดหยุ่นและระมัดระวัง บริหารจัดการ Portfolio เพื่อรักษาสมดุลและมีคุณภาพ ส่งผลให้รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวร้อยละ 4.3 ธนาคารบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ โดย Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 42.4 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสม

ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 33,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน บริหารจัดการ Portfolio อย่างสมดุลและมีคุณภาพ กอปรกับการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งจากหนี้สูญรับคืน ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานขยายตัว ร้อยละ 9.9 ธนาคารได้มุ่งเน้นการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 42.5 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายอย่างระมัดระวัง โดยธนาคารตั้งค่าเผื่อด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายตามศักยภาพของทรัพย์สินอย่างเหมาะสม อีกทั้งธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อพร้อมรับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสมใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

ณ 30 กันยายน 2567 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 18.95 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น ร้อยละ 20.97 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด

นอกจากนี้ ธนาคาร ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้สามารถปรับตัวและฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน โดยธนาคารตระหนักถึงสถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลันในหลายพื้นที่ของประเทศส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง เร่งบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพและออกมาตรการทางการเงินเพื่อลดภาระทางการเงินให้ผู้ประสบภัย ครอบคลุมการลดดอกเบี้ย และลดค่างวดชำระหนี้ พร้อมเสริมสภาพคล่องในการดำรงชีพ ตลอดจนการซ่อมแซมทรัพย์สินและที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย
กำลังโหลดความคิดเห็น