xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯงัดสู้ฝ่าLTV สปีดโอนฯสต๊อกโค้งส่งท้ายปี เลื่อนโครงการใหม่ไปเปิดปี68-ลุ้นศก.ฟื้น!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับชีพจรตลาดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้าสู่โค้งส่งท้ายปี 2567 เริ่มมีสัญญาณที่ตลาดอสังหาฯค่อยๆเริ่มฟื้นตัว หลังจากในช่วงไตรมาส 2 และ ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การปล่อยสินเชื่อใหม่ที่จะต่ำสุดแล้ว เรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง มีเรื่องการเจอการปฏิเสธสินเชื่อในระดับ 70-80% มีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี เรื่องความขัดแย้งของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่า การที่รัฐบาลเมียนมาสกัดคนในประเทศไม่ให้มาซื้ออสังหาฯในประเทศไทย อสังหาฯในจีนยังไม่ฟื้นตัว และต่อมาต้นไตรมาส 4 ที่เจอปัญหาปลายนวม เช่น น้ำท่วม เหมือนอสังหาฯโดนทั้งสึนามิ โดนไต้ฝุ่น และยังมีเรื่องของราคน้ำมันที่จะเจอสูงขึ้น จากเรื่องของสงครามที่รุนแรงขึ้น

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มีการประเมินว่า ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯติด 1 ใน 5 ที่มีราคาสูงกว่ารายได้ครัวเรือนเฉลี่ยถึง 21 เท่า ส่งผลการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในไทยและหลายเมืองสำคัญในปัจจุบันไม่ง่าย

ด้วยต้นทุนการพัฒนาโครงการที่สูง ดันราคาที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มทุกพื้นที่ในไทย ขณะที่รายได้เพิ่มช้ากว่า ในช่วงปี 2018-2024 ราคาที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ทั่วประเทศเพิ่มเฉลี่ย 9.1% ต่อปี ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยเพิ่ม 1.2% ต่อปี

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ที่บอกว่าบ้านแพงขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตามต้นทุน ค่าแรงที่กำลังจะเพิ่ม แต่ก็ยังดีที่ราคาค่าวัสดุก่อสร้างนิ่งๆ แต่ต้นทุนของอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาเรื่อยๆ ช่วงนี้บ้านขายยาก การจะปรับราคาบ้านสวนเศรษฐกิจ ก็ไม่ใช่ที่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า รายรับของผู้คนไม่ตรงตามราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นมา มีเรื่องของเงินเฟ้อเข้ามา รายรับของครอบครัวไม่ได้สูงตามค่าครองชีพ

"บ้านในเมืองหลวงในทุกประเทศ ทุกคนวิ่งหาเมืองหลวง บ้านจะเติบโตแพงกว่ารายรับของประชาชนทุกที่ เช่น กรุงโซล สหรัฐ หรือ ในประเทศจีน แต่ต้องมองว่า ราคาบ้านในประเทศไทยปรับขึ้นตามเหตุและผล เรื่องของค่าแรงที่กำลังจะเพิ่มขึ้น 400 บาท จะมีผลต่อต้นทุนบ้านแน่นอน ส่วนจะส่งผลต่อคนงานก่อสร้างหรือไม่ ต้องมาดู เนื่องจากร้อยละ 50-60 เป็นคนงานต่างชาติ มีรายได้ก็ส่งกลับบ้าน แต่ถ้ามองอุตฯและธุรกิจอื่นๆ ที่ใช้แรงของคนไทย ตรงนี้ ก็มีผลจากการปรับขึ้นค่าแรง "

อย่างไรก็ตาม ถ้าแนวโน้มบ้าน ถ้าเศรษฐกิจกลับมาดีปลายปี 2567 และต้นปี ปี 68 ก็ต้องดูว่า ราคาบ้านจะปรับขึ้นหรือไม่ ต้องดูเรื่อง ค่าแรง แต่ดูเรื่องปัญหาสงครามที่เกิดขึ้น ก็มีผลต่อราคาน้ำมัน การขนส่งที่จะแพงขึ้น กลายเป็นต้นทุนของบ้านล็อตใหม่ ขณะที่บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีการทำสัญญาไปแล้ว ก็ต้องเร่งให้เสร็จเพื่อโอนฯให้กับลูกค้า

"ผมว่าปีนี้ อสังหาฯเจอมาเยอะ ยอดขายอาจจะแย่สุด ปี 2568 ถ้าถ้าโมเมนตัมดี ก็จะไม่มีอสังหาฯจะล่ม เกิดปัญหา แต่ก็ต้องถือว่าประเทศไทย โคตรโชคดี มีเรื่องท่องเที่ยว หลังน้ำลด ก็เข้าสู่ฤดูหนาว และมีเรื่อง อีเว้นท์ระดับโลกมาลงประเทศไทย แต่ก็ต้องมองกันว่า โซนที่เจอน้ำท่วม ก็จะมีปัญหาเรื่องคนระแวง จะท่วมอีกหรือไม่ ถ้าผ่านเหตุการณ์ไปอีก แล้วไม่ท่วม คนจะซื้อ"

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต
Q4 คอนโดฯกว่า 86,000 ลบ.ต้องเร่งโอน

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า เราพอเห็นโอกาสของการฟื้นตัวในไตรมาส 4 กำลังซื้อของคน ธนาคารก็บอกเอง พยายามปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับผู้ประกอบการ แต่ที่บอกว่าไตรมาสนี้ จะฟื้น เพราะมีความหวังจะดีขึ้น หุ้นในกลุ่มอสังหาฯ ใน Top 5 ฟื้นตัวจากที่อยู่จุดต่ำ ที่บอกว่าฟื้น เพราะมีซัพพลายที่จะมีการโอนในไตรมาสโค้งสุดท้ายจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงโครงการใหญ่ อย่าง "วัน แบงค็อก" โครงการของ MQDC ทั้่งอุตสาหกรรม มีคอนโดฯที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ มีมูลค่ามากที่สุดถึง 86,000 ล้านบาท เทียบกับในไตรมาสแรก มีคอนโดฯก่อสร้างเสร็จ มูลค่า 35,000 ล้านบาท, ไตรมาส 2 ประมาณ 25,000 ล้านบาท และไตรมาส 3 ประมาณ 31,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่า จะเห็นความเคลื่อนไหวของรายได้ของกลุ่มอสังหาฯ

"ผมว่าตรงนี้เป็นจังหวะเหมาะสมในไตรมาส 4 ฟ้าเริ่มใสขึ้น ตึกที่เสร็จ ในวันที่ 16 ต.ค. คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.จะมีการประชุม หวังว่าจะเป็นในรอบ 4-5 ปีที่จะมีการลดดอกเบี้ย ซึ่งทางรัฐบาลจีน ลดดอกเบี้ยแล้ว แต่แบงก์ชาติไทย ไม่ทำอะไรเลย เป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะว่า มีตึกคอนโดฯเสร็จ และทางโครงการต้องส่งมอบคอนโดฯก้อนใหญ่ให้ได้ เพราะใน 86,000 ล้านบาท ขายไปแล้วร้อยละ 50-60 และครึ่งหนึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างชาติด้วย สิ่งที่เรามอง ดอกเบี้ยที่สูง ทำให้ค่าเงินบาทแข็ง ลดอำนาจซื้อของต่างประเทศ ต้องใช้เงินหยวนมากขึ้นร้อยละ 8-10 เมื่อเทียบกับเงินหยวนเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว และยังทอนกำลังซื้อคนไทย ทอนกำลังซื้อต่างประเทศด้วย และดอลล่าร์ก็ลดไปร้อยละ 10 มาซื้ออสังหาฯไทยแพงขึ้น ซึ่งต่างชาติกำลังจะโอนในไตรมาสสุดท้ายด้วย ถ้าปรับลดดอกเบี้ยลง ก็จะทำให้ต่างชาติ มีกำลังซื้อมากขึ้น และทำให้คนไทยมีกำลังมากขึ้น ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ0.25 ทำให้ดีมานด์คนไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และถ้าร้อยละ 1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 "นายประเสริฐ กล่าวในมุมของผู้ประกอบการ และหวังว่า

เราอยากเห็นความร่วมมือระหว่างนโยบายการเงินและการคลังและภาคเอกชน ที่จะส่งมอบอสังหาฯในโค้งส่งท้ายปี 67 ถ้าโอนฯไม่ได้ คำถามคือ ในปี 2568 อสังหาฯมีจะมีดีลชำระคืนหุ้นกู้ ถ้าไม่ได้สภาพคล่อง จะไม่มีเงินชำระคืนหุ้นกู้ และเจ้าหนี้ ไม่มีเงินไปลงทุนต่อ ไม่มีเงินคืนเจ้าหนี้ แต่ถ้ามีเรื่องของการตัดสินใจลดดอกเบี้ย ก็มีผลต่อค่าเงินบาทได้

บาทแข็งแป๊ก กระทบตรงลูกค้าต่างชาติ

"ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลกระทบต่อส่งออก และ ท่อง เที่ยว และส่งผลกระทบตรงกับอสังหาฯ ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 25 ของการโอนฯในประเทศไทย เป็นต่างชาติ อสังหาฯกระทบเร็ว เงินก้อนใหญ่หายไป เช่น ถ้าต้องโอน 10 ล้านบาท ถ้าบาทแข็ง เงินหายไปหรือขาดทุนทันที ร้อยละ10 นี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสม และจังหวะเหมาะกับการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโดที่จะเกิดขึ้นสิ้นเดือนต.ค.นี้ หากมีการลดดอกเบี้ย ผ่อนปรนเรื่องเกณฑ์ LTV ด้วย มองว่า เป็นเวลาเดียว ที่ต้องมีการแท็กทีม ค่าเงินบาท และดอกเบี้ย และการขายของ เป็นเรืองที่เชื่อมต่อกันหมด นโยบายการเงินและการคลังต้องช่วยกัน"

นายพรนริศ กล่าวเห็นด้วยว่า เงินบาทที่แข็งค่า ทำให้คนต่างชาติคิดหนัก แต่ถ้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ลดเกณฑ์ LTV ทำให้บาทอ่อนลงได้ ก็จะช่วยให้ลูกค้าเดิมที่ซื้อแล้วและรอโอนฯ พอจะตัดสินใจดำเนินการต่อ แต่ถ้าเป็นลูกค้าใหม่ ด้วยราคาคอนโดฯที่แพงขึ้นประมาณ 10-12% คนต่างชาติอาจจะรู้สึกรอได้ ซัพพลายคอนโดฯในไทยยังมีเยอะ จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องลดราคาหรือจัดโปรโมชั่นเต็มที่ เพื่อระบายสินค้าคงค้างที่มีอยู่ ลดราคาเพื่อสู้ เพื่อให้มีเงินไปชำระหนี้

"มาตรการของรัฐ ยังไม่ตอบโจทย์ ยิ่งคนจะซื้อบ้านในราคาล้านกว่าบาท แบงก์ก็ไม่รับ แม้ว่าผู้ซื้อจะมีเงินดาวน์อยู่ 2-3 แสนบาท ตรงนี้ไม่ได้ รัฐบาล น่าจะออกมาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อยและปานกลางที่จะมีบ้าน จัดตั้งเป็นกองทุนฯที่มาช่วยรับเงินผ่อน ก็จะจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาในระบบ ทำบ้านราคาถูกได้ แต่ถ้าทำแล้ว ไม่สามารถโอนได้ ก็ต้องดูแล ต้นทุน และมีปัญหาเยอะมาก มีผลต่อชื่อเสียงได้ การจะพึ่งการเคหะแห่งชาติอย่างเดียว คงไม่มีแรงพอที่จะเข้ามาช่วย"นายพรนริศ กล่าว

นายสุนทร สถาพร
นายสุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจต่อทิศทางตลาดอสังหาฯว่า ในไตรมาส 4 ปีนี้ การที่ภาคอสังหาฯจะเติบโตหรือตกต่ำ ก็เป็นไปตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งปัจจุบันคือจุดต่ำสุดแล้ว ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ครึ่งแรกของปีนี้ จีดีพีขยายตัว 1.9% แต่ก็เห็นภาครัฐประเมินในปีนี้ จะเริ่มดี การส่งออกเริ่มบวกได้ 3-4% ใน 2 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีมาก คาดเติบโตได้ 2% จีน มีการใช้มาตรการยาแรง ก็น่าจะดีกับภาพรวมกับประเทศไทย จะส่งผลดีกับภาคอสังหาฯไทย ปิดปี 67 น่าจะทรงตัว เพราะช่วง 8-9 เดือนที่ผ่านมา เราติดลบ คาดทั้งปี เสมอตัว

"ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามควบคุมเงินเฟ้อได้เฉลี่ยให้อยู่ 3-4 % แต่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนอาจมีความรู้สึก มีบางอย่างแพง เช่น ค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า แต่ดูสถิติแล้ว รัฐบาลคุมเงินเฟ้อได้ดี ซึ่งในส่วนของภาคที่อยู่อาศัย ราคาได้ปรับขึ้นตามความต้องการ และสิ่งที่เราเห็น ราคาบ้านปรับไม่ได้เกินอัตราเงินเฟ้ออยู่แล้ว"

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องกำลังซื้อที่อยู่อาศัยนั้น คงจะบอกว่า ซื้อไม่ไหว นั้น ต้องเป็นว่า "ซื้อไม่ได้"ดีกว่า เนื่องจากผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัย ต้องได้รับสินเชื่อจากธนาคาร น้อยคนที่จะซื้อบ้านด้วยเงินสด แต่เห็นสัญญาณมาตลอด ธนาคารเข้มงวดสูงขึ้น ถ้าช่วงก่อนโควิด-19 ตัวเลขการปฎิเสธสินเชื่อ(รีเจกต์ เรต) ต่อโครงการเฉลี่ยประมาณ 10-15% ปัจจุบันอัตราดังกล่าวสูงถึงเฉลี่ย 35% แต่ถ้าเป็นกลุ่มราคา 2-3 ล้านบาท ตัวเลขปฎิเสธสินเชื่อจะมากถึง 55-60 % ตรงนี้ เรียกว่า ซื้อไม่ได้ ซื้อไม่ไหว และช่วงโควิด รายได้ประชาชนไม่พอ และติดหนี้สินด้วย จึงเป็นสาเหตุที่ธนาคารปฎิเสธสินเชื่อ

"เงินเฟ้อ ต้องมอง 2 ประเด็น ผู้ประกอบการในช่วงโควิด ทุกๆผู้ประกอบการลดอัตรากำไรลง (หมายถึงทำเรื่องโปรโมชั่น) ยกเว้น กลุ่มโครงการที่อยู่ K ขาบน ซึ่งหมายถึง กลุ่มที่พัฒนาโครงการบ้านลักชัวรี่ ราคายังยืนได้ อัตราทำกำไรสูงอยู่ และที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมีการปรับตัว นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมในการทำโครงการ ใช้ระบบก่อสร้างเร็วขึ้น คุณภาพดีด้วยซ้ำ แต่ลดแรงงานน้อยลง"นายสุนทร กล่าว

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำ คือ การหากำลังซื้อใหม่ๆ เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)มีการทำสินเชื่อที่มุ่งส่งเสริมให้คนมีที่อยู่อาศัยผ่านอัตราดอกเบี้ยต่ำ จับต้องได้ประมาณ 2%ปลายๆ เช่น สินเชื่อแฮปปี้โฮม สินเชื่อบ้านดีดี้ รวมถึงมีการผ่อนเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อลงด้วย และอยากให้สถาบันการเงินอื่นๆ ดูเป็นตัวอย่าง ทำให้คนเข้าถึงบ้านได้ แต่ถ้าทุกคนมองว่า บ้านเป็นหลักประกันที่ไม่ดี รัดเข็มขัดหมด เงินก็กองที่สถาบันการเงินหมด

"มาตรการภาครัฐ เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง ครอบคลุมไปถึงกลุ่มราคาไม่เกิน 7 ล้านบาทนั้น อาจจะไม่เห็นการฟื้นตัวในที่ผ่านมา แต่ก็เป็นประโยชน์ ถ้าถามว่า ตัวที่จะเห็นคือ ให้ภาครัฐ พิจารณาเรื่องผ่อนมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV ในกลุ่มผู้ซื้อในอุตสาหกรรมในธุรกิจ ที่เป็น K ขาล่างที่ลำบากอยู่ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมประมงบางกลุ่ม คนกลุ่มนี้ ต้องสนับสนุนและต้องการมีบ้านหลังแรก ถ้ามีการคลาย LTV ทุกคนสามารถซื้อหลังที่ สอง สาม สี่ ได้ ทุกคนก็สามารถเปลี่ยนที่อยู่อาศัยใกล้บ้าน ลูกต้องการมีที่อยู่อาศัยใกล้โรงเรียน ขณะเดียวกัน ยังกระตุ้นให้กับกำลังซื้อที่อยู่ เค ขาบน ลงมาช่วยภาคอสังหาฯได้ ถามว่ากี่ปีดี ก็ผ่อนปรน LTV สัก 2 ปี และหากรัฐบาลต้องการจะแตะเบรกเรื่องภาคอสังหาฯ เรื่องสินเชื่อ ทางสมาคมฯก็พร้อมที่จะเข้าไปหารือ"

“ในแต่ละปี มีการเปิดโครงการประมาณ 200,000 หน่วย มูลค่า 9 แสนล้านบาท แต่ภาวะตลาดไม่ดี คาดปีนี้เหลือ 160,000-170,000 หน่วย ในจำนวนนี้ มีต่างประเทศ 50,000 หน่วย มองว่าเช่าดีกว่าขาย หากมองว่าเช่าแล้วจัดเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนโควตาต่างชาติซื้อคอนโดฯก็อยากได้ความชัดเจน ทำเลไหนที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติซื้อได้” นายสุนทร กล่าว


ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส เผยถึงสถานการณ์ยอด Presales ของ 12 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 65,000 ล้านบาท ลดลง 7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นยอด Presales แนวราบ 55% ที่ 36,000 ล้านบาท ลดลง 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนคอนโดฯ อยู่ที่ 29,000 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับยอดขายที่ลดลงเป็นผลจากผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการใหม่จากสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย และมุ่งระบายสต๊อกเหลือขายเพื่อรักษากระแสเงินสด โดยมูลค่าโครงการใหม่น้อยสุดในรอบ 5 ไตรมาส ลดลง 40% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เหลือ 55,000 ล้านบาท เป็นแนวราบ 81% คอนโดฯ 19%

ส่วนยอดขายล่วงหน้า (Presales) สะสม 9 เดือนรวมของกลุ่ม คาดอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท คิดเป็น 60% ของเป้าหมายบริษัทปีนี้ที่ 330,000 ล้านบาท ขยายตัว 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ คาดว่ามี Dowside 15-20% ลดลงประมาณ 10% เนื่องจากแผนเปิดตัวกระจุกในไตรมาส 4/67 ขยายตัว 162% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รวม 140,000 ล้านบาท หรือ 39% ของแผนทั้งปี ซึ่งมองว่าหลายโครงการเสี่ยงถูกเลื่อนไปปีหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ผู้ประกอบการรายใหญ่ ยังคงเดินหน้าเปิดโครงการใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจ เปิดโครงการให้ได้ตามเป้า การสร้างยอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากส่วนใหญ่จะเน้นเปิดโครงการแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ที่สามารถโอนฯได้รวดเร็วและตอบโจทย์กลุ่มผู้ซื้อได้ แต่ก็มีการเติมพอร์ตเปิดคอนโดฯใหม่ รองรับแผนยอดขายและรายได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อาทิเช่น

บมจ.แสนสิริ ในไตรมาส 4 ด้วยแผนเปิดตัวอีก 16 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 15,500 ล้านบาท ไฮไลต์เตรียมเปิดตัว “SANSIRI 10 EAST” (แสนสิริ เท็น อีสต์) แลนด์มาร์กสำคัญที่ประกอบด้วยโครงการระดับลักชัวรี และซูเปอร์ลักชัวรีจาก 4 แบรนด์ที่เตรียมเปิดตัวทั้งบ้านแสนสิริ สิริณสิริ นาราสิริ และเศรษฐสิริ บนพื้นที่กว่า 165 ไร่ มูลค่ารวมกว่า 18,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ตลอดปี 67 แสนสิริจะเปิดตัวทั้งหมดรวม 46 โครงการ มูลค่ารวม 61,000 ล้านบาท

บมจ.เอพี ไทยแลนด์ ครึ่งปีหลัง พร้อมเปิดตัว 25 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 27,440 ล้านบาท โดยเป็นบ้านแฝดและทาวน์โฮม 10 โครงการ มูลค่า 8,190 ล้านบาท, บ้านเดี่ยว 8 โครงการ มูลค่า 11,350 ล้านบาท, คอนโดฯ 3 โครงการ มูลค่า 4,700 ล้านบาท และโครงการต่างจังหวัด 4 โครงการ มูลค่า 3,200 ล้านบาท ส่งผลให้ในครึ่งปีหลังของปีนี้บริษัท จะมีโครงการพร้อมขายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมากกว่า 202 โครงการ มูลค่ากว่า 151,411 ล้านบาท

บมจ.ศุภาลัย ทิ้งทวนโค้งส่งท้ายปี ปักธงลงเสาเข็ม 4 โครงการคอนโดฯใหม่ บน 4 ไพรม์โลเกชันที่มีศักยภาพสูงทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ทั้ง จ.ภูเก็ต และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มูลค่าโครงการรวม 5,800 ล้านบาท เพื่อตอบโจทย์เทรนด์และไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยในปัจจุบัน ได้แก่ SUPALAI TYME เจริญนคร SUPALAI BLU สาทร-ราชพฤกษ์ SUPALAI SENSE เขารัง ภูเก็ต และ SUPALAI KRAM เขาเต่า เป็นต้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น