นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 32.85-33.45 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.25 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ (21 ต.ค.) ที่ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 33.16 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.08-33.19 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้างตามการทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ ซึ่งยังคงได้แรงหนุนจากความไม่แน่นอนของทั้งการเลือกตั้งสหรัฐฯ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
ส่วนเงินดอลลาร์เริ่มเผชิญแรงขายทำกำไร หลังปรับตัวขึ้นในช่วงก่อนหน้า อีกทั้งเงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการรีบาวนด์แข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ตามส่วนต่างบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่ลดลง รวมถึงการทยอยเพิ่มสถานะ Long JPY ของผู้เล่นในตลาดที่รอจังหวะ Buy on Dip (รอเงินเยนญี่ปุ่นมีจังหวะอ่อนค่าบ้าง) ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทถูกชะลอลงบ้างแถวโซนแนวรับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ซึ่งเราประเมินว่า ส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวกับโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบได้ หลังราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนกลับมาใกล้ระดับช่วงสิ้นเดือนกันยายน (Brent อยู่แถวโซน 73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วน WTI อยู่แถวโซน 69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล)
สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้เงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น แต่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่
สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่าควรรอติดตาม รายงานดัชนี PMI ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก พร้อมรอลุ้นผลการเลือกตั้งญี่ปุ่น และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท แม้เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นบ้างตราบใดที่ราคาทองคำยังปรับตัวสูงขึ้นต่อ แต่เราคงมั่นใจแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท หากเงินบาทไม่ได้แข็งค่าทะลุโซน 33 บาทต่อดอลลาร์อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ซึ่งต้องรอจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (ทองคำกับน้ำมันดิบ) นอกเหนือจากแนวโน้มเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ เงินบาทอาจถูกกดดันจากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในส่วนแรงขายหุ้นไทย หลังดัชนี SET มีความเสี่ยงที่อาจปรับฐาน (Correction) ได้ในระยะสั้น
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์ยังคงเผชิญความผันผวน Two-Way Volatility โดยแนวโน้มเงินดอลลาร์จะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่าจะออกมาดีกว่าคาดเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนจากการเตรียมรับมือความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ผู้เล่นในตลาดได้ทยอยเพิ่มโอกาส โดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง