xs
xsm
sm
md
lg

GGC สูญสต๊อกปาล์ม 2 พันล้าน / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คำตัดสินของศาลอาญา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยพิพากษายกฟ้องจำเลย 9 คน ในความผิดร่วมกันฉ้อโกง คดีสต๊อกลมน้ำมันปาล์มดิบ บริษัท โกลบอลกรีนเคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC อาจทำให้ GGC ต้องเสียหายถึงประมาณ 2 พันล้านบาท กระทบต่อผู้ถือหุ้นทั้งหมด

คดีสต๊อกลมน้ำมันปาล์มดิบมูลค่าประมาณ 2,157 ล้านบาท เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 โดยมีการตรวจพบว่า วัตถุดิบคงคลังหรือน้ำปาล์มดิบได้สูญหาย และ GGC แจ้งความดำเนินคดีกับ 2 อดีตผู้บริหารและพนักงานบริษัทที่เกี่ยวข้องอีก 6 คน รวมทั้ง บริษัท ไทยศรีทอง จำกัด บริษัทผู้ร่วมค้าที่เป็นผู้ขายวัตถุดิบ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงดาบซ้ำ โดยกล่าวโทษอดีตผู้บริหารและบริษัทผู้ร่วมค้า ในความผิดอาญา ฐานร่วมกันดำเนินการให้บริษัทซื้อวัตถุดิบและจ่ายชำระเงินค่าซื้อเต็มจำนวนให้ผู้ขาย โดยไม่ได้รับวัตถุดิบทั้งหมดหรือได้รับเพียงบางส่วน แต่กลับลงบันทึกในระบบบัญชีของบริษัทว่าได้รับวัตถุดิบครบถ้วนแล้ว

คดี GGC สั่งซื้อน้ำมันปาล์มดิบ ชำระเงินเต็มจำนวน แต่ไม่มีการส่งมอบสินค้าจริง นำไปสู่การฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งและอาญาวุ่นวายนับสิบคดี ขณะที่ฝั่งจำเลยฟ้องกลับ

แต่คำพิพากษาของศาลส่วนใหญ่ GGC เป็นฝ่ายชนะคดี ส่วนคดีที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษไว้หลายคดียังอยู่ในชั้นสอบสวนและการพิจารณาในชั้นศาล

คดีแรกความผิดฐานฉ้อโกง ศาลตัดสินแล้ว สั่งลงโทษจำคุกอดีตผู้บริหาร GGC 2 ปี และกรรมการของคู่ค้า 1 ปี 4 เดือน และให้อดีตผู้บริหารชดใช้ค่าเสียหายประมาณ 328.87 ล้านบาท ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

อดีตผู้บริหารและพนักงาน GGC ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี ถูกคุมขังอยู่ประมาณ 2 ปี เพราะคดีมีวงเงินความเสียหายสูง จำเลยไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอขอประกันตัว

อย่างไรก็ตาม การตัดสินยกฟ้องของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา กำลังทำให้อดีตผู้บริหารและพนักงาน GGC รวม 8 คน มองเห็นอิสรภาพอยู่รำไร แม้ว่า GGC จะยื่นอุทธรณ์ก็ตาม

คำวินิจฉัยของศาลที่ยกฟ้องมีคามน่าสนใจ โดยวินิจฉัยว่า คดีฉ้อโกงยอมความได้ และการการที่โจทก์ร่วม GGC ได้สอบสวนและลงโทษทางวินัยของจำเลยที่ 1, 2, 4-7 และเรียกจำเลยที่ 8, 9 ซึ่งลาออกไปแล้วมาสอบสวนช่วงปี 2561 ถึงกลางปี 2562 แสดงว่าโจทก์ร่วมรู้ตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่ช่วงเวลาปี 2561แล้ว แต่กลับแจ้งความร้องทุกข์จำเลย ที่ 1, 3-9 ในปี 2564 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 เดือน ซึ่งหมดอายุความในการเอาผิดจำเลย

ส่วนประเด็นการให้การของโจทก์ร่วมที่ระบุว่า มีการซื้อขายวัตถุดิบผิดปกติกับจำเลยที่บริษัทร่วมค้าหลายรายการโดยเป็นการทำสัญญา เปิดใบสั่งซื้อ และจ่ายเงินในวันเดียวกัน ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การแก้ว่าเป็นการทำตามปกติของธุรกิจและบริษัทไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามไว้

ซึ่งศาลพิเคราะห์ว่า โจทก์ร่วม (GGC) ได้มีการซื้อขายแบบลักษณะเดียวกันมาก่อนที่จะเกิดเหตุหลายครั้ง ทั้งกับคู่ค้ารายอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดปัญหาก็มีการซื้อขายแบบเดียวกัน ไม่ได้เป็นการจงใจกระทำแต่อย่างใด

และประเด็นจำเลยที่ 1, 2 กระทำผิดตาม พ.ร บ.หลักทรัพย์หรือไม่ และจำเลยที่ 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9 กระทำผิดฐานสนับสนุนหรือไม่ ศาลได้วินิจฉัยว่า เมื่อเกิดปัญหาวัตถุดิบหายจากคลังจำเลย 1 ได้สั่งการให้จำเลย 2 ติดตามทวงถามของที่ค้าง จนเป็นผลให้บริษัท ไทยศรีทอง คืนของมาได้บางส่วน และมีการจัดทำแผนการส่งของที่เหลือมาคืนอย่างชัดเจน ถือว่าเป็นการพยายามแก้ไขปัญหา

ส่วนการซื้อขายเป็นการกระทำมานานก่อนเกิดเหตุ จนถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของโจทก์ จึงยกประโยชน์แห่งเหตุอันควรสงสัยให้จำเลย ว่าไม่มีความผิดตามฟ้อง และจำเลยที่ 4-9 จึงไม่มีความผิดไปด้วย

ประเด็นเรื่องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย เนื่องจากจำเลยทุกคนไม่มีความผิด และ GGC ได้ยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ของบริษัท ไทยศรีทอง กับกรมบังคับคดี และบริษัทไทยศรีทอง อยู่ในระหว่างการล้มละลายแล้ว ขั้นตอนทางแพ่งจึงไม่เกี่ยวกับจำเลย

คำตัดสินของศาลล่าสุด อาจทำให้ฝ่ายบริหารและ GGC ตกเป็นจำเลยในคดีแพ่งและอาญา โดยจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเยียวยาจากอดีตผู้บริหารและพนักงาน ซึ่งต้องสูญเสียเงินชดเชยอีก

เงินจากความเสียหายสต๊อกลมน้ำมันปาล์มดิบ มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท คงไม่ได้รับชำระคืนเต็มจำนวน เพราะบริษัท ไทยศรีทองอยู่ในภาวะล้มละลาย และยังอาจต้องสำรองเงินอีกประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อชำระให้บริษัท เอเชียแคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP รวมทั้งต้องเตรียมเงินไว้จ่ายเยียวยาอดีตผู้บริหารและพนักงานที่ถูกฟ้องในคดีสต๊อกลมด้วย

GGC มีบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 72.29% ของทุนจดทะเบียน มีผู้ถือหุ้นรายย่อย 2,917 ราย ซึ่งต้องได้รับผลกระทบจากคดีสต๊อกล้มน้ำมันปาล์มดิบไปด้วย

เพราะราคาหุ้น GGC ดิ่งลงมาต่อเนื่อง จนเหลือเพียง 4.50 บาท และไม่มีสัญญาณดีดตัวกลับ

ความสูญเสียจากสต๊อกลมวัตถุดิบ เกิดจากความบกพร่อง หละหลวมในระบบกำกับ ควบคุมการดำเนินงานภายใน จนเกิดช่องโหว่ที่ะนำไปสู่ความสูญเสียโดยปล่อยให้การสั่งซื้อสินค้า และจ่ายเงินค่าสำค้าเต็มจำนวนไปล่วงหน้า โดยไม่มีการส่งมอบสินค้าจริง เช่นเดียวกับ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK

ความผิดพลาดล้มเหลวในระบบควบคุม บริหารจัดการภายใน GGC เคราะห์ร้ายต้องมาตกกับผู้ถือหุ้นรายย่อยเกือบ 3 พันชีวิต และไม่รู้จะเรียกหาความรับผิดชอบจากใคร








กำลังโหลดความคิดเห็น