ราคาทองคำ ยังมีโอกาสไปต่อ เป้าหมายต่อไป 3,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ หลังภาพรวม 12 เดือนย้อนหลังราคาทองคำแท่งในประเทศปรับขึ้นแล้ว 8,300 บาท โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางชาติอื่นๆที่ทยอยปรับลดตามมา รวมถึงสถานการณ์สงคราม ส่วนในประเทศต้องทำใจ เงินบาทแข็งค่าคืออุปสรรคต่อการปรับเพิ่มราคาทองคำ
เพียงแค่ 1 ปี (ต.ค.66 – ต.ค.67) ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาทองคำแท่งในประเทศ (96.50%) เพิ่มขึ้นถึง 24.33% หรือ 8,300 บาท จากราคาขายเมื่อ ต.ค.66 ที่ระดับ 34,250 บาท มาอยู่ที่ 42,550 บาท (19 ต.ค.67) โดยภายในเดือนต.ค.2567 พบว่าปัจจุบันราคาทองคำแท่งในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 2,150 บาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2567 พบว่าราคาทองคำแท่ง(96.50%) ในประเทศเพิ่มขึ้น 8,250 บาท จากราคาในเดือนม.ค.67 ที่ระดับ 34,300 บาท และช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ หลายฝ่ายยังเชื่อว่าราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นสร้างสถิติใหม่ได้อีก
ล่าสุดมีรายงานผลสำรวจความคิดเห็นของคนในอุตสาหกรรมทองคำที่ เข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมตลาดทองคำแห่งลอนดอน (London Bullion Market Association) ซึ่งจัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ว่าราคาทองคำจะไต่ระดับขึ้นจนทำสถิติสูงสุดใหม่ในปี 2025 จากปัจจุบันราคาทองคำโลกทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดทะลุ 2,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์แล้ว ส่วนทองในประเทศก็ทำสถิติสูงสุดใหม่เช่นกัน
สำหรับ เหตุผลที่ทำให้นักลงทุนเชื่อว่าทิศทางราคาทองคำยังเป็นแนวโน้มขาขึ้น นั้นมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาลง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นผลบวกกับราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากสถิติย้อนหลัง 3 ครั้ง ในช่วงที่ผ่านมา ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มลดดอกเบี้ย ได้แก่ 1.วิกฤตฟองสบู่ใน ปี 2001 ถัดมา 2.วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์หรือวิกฤตซับไพรมในปี 2007 และ 3.วิกฤต โควิดในปี 2019 นั้น พบว่า หลังจากที่เริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรก 3 เดือน ราคาทองคำเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.7% และหลังลดดอกเบี้ยครั้งแรก 6 เดือน และ 9 เดือน ราคาทองคำเพิ่มขึ้น 16% ขณะที่หลังลดดอกเบี้ยครั้งแรก 12 เดือน และ 15 เดือน ราคาทองคำเพิ่มขึ้น 21-22%
เฟดลดดบ.ปัจจัยสำคัญหนุนราคา
นั่นทำให้ หลายฝ่ายเชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด น่าจะทำให้ราคาทองคำในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 2,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 2,700-3,000 ดอลลาร์ และราคาเป้าหมายสิ้นปีหน้าคาดว่ามีโอกาสถึง 3,100 ดอลลาร์สหรัฐต่ออนซ์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนการขยับขึ้นของราคาเพิ่มเติม นั่นคือ สงครามตะวันออกกลาง ที่มีท่าทีจะลุกลามและขยายวงกว้างมากขึ้น
ขณะเดียวกันราคาทองได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลดภาษีนำเข้าของอินเดีย จาก 15% เหลือ 6% ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการทองคำฝั่งอินเดียเพิ่มมากขึ้น ( ปัจจุบัน อินเดียเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้ทองคำเป็นอันดับ 2 รองจากจีน)
ไม่เพียงเท่านี้สถานการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐก็มีผลต่อราคาทองคำเช่นกัน โดยหากเป็น นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง จะส่งผลบวกกับราคาทองคำมากกว่า เนื่องจากทรัมป์ประกาศสงครามการค้ากับประเทศจีน รวมถึงสนับสนุนฝั่งอิสราเอล ทำให้ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกกับราคาทองคำ
บาทแข็งยังกดดันราคาในประเทศ
ส่วน สถานการณ์ราคทองคำในประเทศนั้น แม้อยู่ในทิศทางขาขึ้น แต่การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำยังขึ้นอยู่กับค่าเงินบาท โดยหากค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จะส่งผลบวกกับราคาทอง ทำให้ประเมินราคาทองคำในประเทศปีนี้ที่ 42,000-43,000 บาท และขยับเพิ่มเป็น 45,000 บาทในปีหน้า และนั่นนำมาสู่คำถามของนักลงทุนในประเทศว่าเหตุใดราคาทองคำในประเทศถึงไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ หรือเพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นทั้งที่ เฟด มีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว 0.25% โดยคำตอบนั้นคือ ที่ผ่านมาค่าเงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่ามาก โดยยังอยู่ในระดับ 33.22 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่เฟดที่จะประชุมในต้นเดือน พ.ย. ตลาดยังคาดการณ์ว่าน่าจะมีการลดดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อราคาทองคำ ซึ่งปัจจุบันตลาดรับรู้แล้วบางส่วน ดังนั้นเมื่อเฟดลดดอกเบี้ยอาจจะมีผลเพียงเล็กน้อยต่อราคาทอง
มีลุ้นขยับเพิ่มเป็น3,000เหรียญ
“นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) กล่าวว่า หลังจากที่ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง ราคาทองคำในประเทศปรับขึ้นได้ แต่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่ามาก แต่ยังเป็นผลดีกับราคาทองคำ เพราะหากการประชุม กนง.ครั้งนี้ไม่ลดอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และทำให้ราคาทองคำในประเทศปรับตัวลดลงได้ โดยในปี 2568 วายแอลจีคาดว่า ราคาทองคำมีโอกาสแตะ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และมองคำราคาทองคำมีโอกาสปรับย่อลงได้ จากที่ผ่านมาตอนที่ขึ้นไปทำนิวไฮที่ 2,684 ดอลลาร์ ก็มีแรงเทขายทำกำไรออกมา ซึ่งหากราคาย่อลงนั้นมองว่าเป็นจังหวะที่นักลงทุนสามารถเข้าซื้อได้
“ราคาทองคำพุ่งขึ้นแรงอย่างต่อเนื่อง ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติกาลครั้งใหม่ 2,714 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ณ วันที่ 18 ต.ค. 2567 แม้ก่อนหน้านี้จะมีแรงกดดันจากการแข็งค่าของดัชนีดอลลาร์ ขานรับยอดค้าปลีกสหรัฐออกมาบวก 0.4% สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 0.3% แต่ทองคำก็ยกตัวสูงขึ้นถือเป็นการรักษาทิศทางเชิงบวกได้อย่างแข็งแกร่ง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นราคาทองคำขยับขึ้นมาสร้างสถิติที่ 2,750 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ในปีนี้”
เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุน คือ ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังอิสราเอลได้มีการยืนยันการเสียชีวิตของ "ยาห์ยา ซินวาร์" ผู้นำกลุ่มฮามาส จากที่ก่อนหน้าได้สังหาร "มุสตาฟา ฮาริรี" ผู้บัญชาการของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน ถือเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ฮามาส-ฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน จะมีการตอบโต้กลับหรือไม่
ขณะเดียวกัน จากการที่เฟดประกาศลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว หลายฝ่ายเชื่อว่า ธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีหน้า ทำให้ในรูปแบบของดอกเบี้ย จึงไม่ได้รับผลกระทบต่อประเด็นดังกล่าว
นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ กองทุน ETF ทองคำกลับมาเข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยในเดือน ก.ย. กองทุน ETF ทองคำ มีเงินทุนไหลเข้ามา 1,400 ล้านดอลลาร์ หรือ คิดเป็นการซื้อสุทธิ 18.4 ตัน ทำให้การถือครองสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 3,200 ตัน
และสุดท้ายความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งสหรัฐ กระแสการกลับมาของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่อาจคว้าชัยการเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลก จึงพักเงินไว้ในทองคำบางส่วนเพื่อเป็นหลุมหลบภัย แต่จะต้องประเมินอีกครั้ง ในนโยบายที่เกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง
“การทำระดับสูงสุดใหม่รอบนี้ เป็นการบ่งชี้ถึงแรงซื้อเก็งกำไรที่มีเข้ามาเพิ่มขึ้น จนราคาดีดตัวขึ้นแรง และทำให้วายแอลจี แนะนำว่า ในระยะนี้ให้เน้นการลงทุนระยะสั้น โดยยังเสี่ยงเปิดสถานะซื้อ ตามเทรนด์หลัก เมื่อราคาปรับตัวลงมาแล้วสามารถยืนเหนือแนวรับ 2,685-2,666 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ โดยเมื่อราคาปรับตัวขึ้น ให้ทยอยปิดทำกำไรที่โซนแนวต้าน 2,735-2,750 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ขณะที่ด้านทองคำแท่ง 96.5% ในประเทศ แนะนำแนวรับที่ 42,100-41,800 บาทต่อบาททองคำ และแนวต้านที่ 42,850-43,100 บาทต่อบาททองคำ”
ด้าน นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ภาพรวมราคาทองคำโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำจุดสูงสุดใหม่เนื่องจากจากความไม่สงบในตะวันออกกลางที่เกรงว่าจะปะทุ รุนแรง ประกอบกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยยังเป็นขาลง ส่งผลให้สินทรัพย์ทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น โดยมองว่าแนวต้านทองโลกระยะสั้นนี้ประเมินที่ 2,725 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และราคาทองในประเทศ ทองคำแท่งแนวต้านที่ 42,500-42,600 บาท อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทเข้ามากระทบประกอบกัน
เช่นเดียวกับ นพ.กฤชรัตน์ หิรัญยศิริ ออกมาแนะนำกลยุทธ์การลงทุนทองคำว่า แนะนำขายทำกำไรบางส่วน หากราคาทองแท่งแตะบริเวณ 42,600 บาท และเมื่อราคาอ่อนลงมาบริเวณ 41,600 บาท แนะนำเข้าซื้อ ซึ่งเป็นลักษณะการ เก็งกำไรในแนวโน้มทิศทางขาขึ้น และเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันเป็นลักษณะการซื้อขายเพื่อการออมในระยะยาวและการลงทุนเพื่อเก็งกำไร ส่วนการซื้อขายเพื่อการสวมใส่ มีลดลง ประมาณ 20% เนื่องจากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น
ลดเสี่ยงมีกำไรควรแบ่งขาย
ล่าสุด เมื่อเร็วๆนี้ ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ แถลง ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน ตุลาคม 2567 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน กันยายน 2567 ที่ผ่านมา จากระดับ 68.97 จุด มาอยู่ที่ระดับ 69.70 เพิ่มขึ้น 0.73 จุด หรือคิดเป็น 1.06%
โดยปัจจัยที่ทำให้ ดัชนีเชื่อมั่นทองคำ ปรับเพิ่มขึ้นมานั้น ได้แก่ ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย แรงซื้อเก็งกำไร การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง และนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะสามเดือนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 (ต.ค.-ธ.ค.) ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 จากระดับ 68.50 จุด มาอยู่ที่ระดับ 69.08 จุด เพิ่มขึ้น 0.58 จุด หรือคิดเป็น 0.84% โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมานั้น ได้แก่ เงินทุนไหลออกจากเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย การอ่อนค่าของเงินบาท ทิศทางราคาน้ำมัน และแรงซื้อเก็งกำไรของกองทุนนั่นทำให้ คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือนตุลาคม 2567 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 320 ราย ในจำนวนนี้มี 200 ราย หรือเทียบเป็น 62% คาดว่าจะซื้อทองคำ ส่วนจำนวน 80 ราย หรือเทียบเป็น 25% คาดว่าจะไม่ซื้อทองคำ และจำนวน 40 ราย หรือเทียบเป็น 13% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำในเดือนนี้หรือไม่
สำหรับ สรุปกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 13 ราย ในจำนวนนี้มี 8 ราย หรือเทียบเป็น 62% เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน ตุลาคม 2567 จะเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวน 3 ราย หรือเทียบเป็น 23% คาดว่าจะลดลง และจำนวน 2 ราย หรือเทียบเป็น 15% คาดว่าจะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือนกันยายน 2567
โดยการคาดการณ์กรอบราคาทองคำในเดือน ตุลาคม 2567 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ ราคาทองคำตลาดโลก (Gold Spot) ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 2,587 - 2,707 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 40,500 - 42,000 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาท ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 32.37 - 33.91 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ และจากการลงทุนทองคำในเดือน ตุลาคม 2567 ราคาทองคำมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ยืนยันแนวโน้มขาขึ้นของราคาในระยะกลาง อย่างไรก็ตามการปรับตัวขึ้นนี้ทำให้เกิดความผันผวนของราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นักลงทุนจึงควรใช้ความระมัดระวังในการติดตามสถานการณ์การแกว่งตัวของราคาอย่างใกล้ชิด และแบ่งขายทำกำไรเมื่อราคาทองคำขึ้นถึงแนวต้านที่สำคัญ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการลงทุน