ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศกล่าวโทษอดีตผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ในความผิดซื้อหรือขายหุ้น และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ก่อนทำรายการซื้อขายของกองทุน
ผู้ถูกกล่าวโทษ 2 ราย ประกอบด้วย นายโกเมน นิยมวานิช อดีตผู้จัดการกองทุนสังกัด MFC และ น.ส.มนสิชา อุ้นพิพัฒน์ ซึ่งร่วมกระทำการให้กองทุนรวมเสียประโยชน์
นายโกเมน ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่งของกองทุนรวมให้ น.ส.มนสิชา และ น.ส.มนสิชา ได้ส่งคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ก่อนที่นายโกเมน จะส่งคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของกองทุนจำนวนหลายรายการ ในช่วงปี 2565 ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์
ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 2 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) และรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
ภายหลังการกล่าวโทษ ก.ล.ต.จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดี และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยกระบวนการต่อไปเป็นการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และการพิจารณาของศาลยุติธรรม
การกล่าวโทษความผิดในลักษณะการใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชนร์จากการซื้อขายหุ้น เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไปเกิดขึ้นนับสิบๆ คดีในรอบหลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับความผิดของผู้จัดการกองทุน หรือผู้ให้คำแนะนำการลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ ที่ลักลอบใช้บัญชีลูกค้าสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ของลูกค้า
แต่ ก.ล.ต.ไม่ได้ใช้มาตรการลงโทษหนัก โดยการกล่าวโทษทางอาญา แต่ใช้บทลงโทษทางการปกครองคือ การพักใบอนุญาตการเป็นผู้ให้คำแนะนำการลงทุน พักการเป็นผู้จัดการกองทุน จะ 6 เดือนหรือ 1 ปี และมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของความผิด
คดีการใช้ข้อมูลการซื้อขายหุ้นของกองทุนรวมไปใช้หาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของอดีตผู้จัดการกองทุน MFC ซึ่งผู้กระทำผิดถูกล่าวโทษทางอาญา จึงถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ ก.ล.ต.
และอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น สำหรับผู้กระทำความผิดร้ายแรงใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และสร้างความเสียหายให้ประชาชนผู้ลงทุน โดยหากพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดทางอาญา ก.ล.ต.อาจกล่าวโทษทางอาญาโดยไม่ยกเว้น
ความผิดเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในหรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง และความผิดการปั่นหุ้น ซึ่ง ก.ล.ต.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งมาตลอด โดยปรับเป็นเงิน เมื่อยินยอมจ่ายค่าปรับโดยดี คดีก็ปิด ไม่ต้องมีมลทินใดๆ
แต่คดีการใช้ข้อมูลการซื้อขายกองทุน MFC ไปซื้อหุ้นหรือสัญญาซื้อขายลวงหน้าก่อน เพื่อดักทำกำไร อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า ต่อจากนี้ความผิดเกี่ยวกับอินไซเดอร์และการปั่นหุ้นจะถูกดำเนินคดีอาญาในทุกกรณี ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีมาก
เพราะแก๊งมิจฉาชีพ แก๊งอาชญากร และผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนที่กระทำความผิด เอารัดเอาเปรียบและสร้างความเสียหายให้นักลงทุน จะเกิดความเกรงกลัวกฎหมาย กลัวติดคุก จนไม่กล้ากระทำความผิด ซึ่งจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมากขึ้น
นักลงทุนรายย่อยจะได้มีโอกาสลงทุนบนความเท่าเทียมเสียที ไม่ถูกเอาเปรียบจากผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน ไม่ถูกปล้นจากแก๊งมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่เต็มตลาดหุ้นเหมือนทุกวันนี้
นอกจากนั้น คดีหุ้นที่มีการกล่าวโทษทาอาญา ไม่ว่ากล่าวโทษกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ หรือกล่าวโทษกับ ปอศ. จะไม่เงียบหายเหมือนในอดีต
เพราะ ก.ล.ต.จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดี ตั้งแต่ชั้นสอบสวน อัยการ และคดีเข้าสู่การพิจารณาในขั้นศาล และคงจะนำความคืบหน้าของแต่ละคดีมารายงานให้สังคมรับรู้
ที่ผ่านมา คดีความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับตลาดหุ้นนับร้อยคดี ซึ่ง ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ส่วนใหญ่เงียบหาย และถูกตัดตอน โดยการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องในขั้นสอบสวนหรือชั้นอัยการ ซึ่งไม่มีการแถลงเหตุผลใดๆ ให้สาธารณชนรับรู้
อาชญากรในตลาดหุ้นซึ่งสร้างความย่อยยับให้นักลงทุนนับหมื่นนับแสนคน หลุดรอดลอยนวล ไม่ต้องรับเวรกรรมใดๆ และกลับมาก่ออาชญากรรมในตลาดหุ้นซ้ำอีก โดยไม่มีใครขจัดแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นให้สิ้นซากเสียที
แต่ปรากฏการณ์การดำเนินคดีอาญาอดีตผู้จัดการกองทุน MFC อาจเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ ก.ล.ต. โดยจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น กับคนที่กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์
แก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นคงจะต้องหัวหดกันบ้างล่ะ