xs
xsm
sm
md
lg

SCB CIO มอง 3 ปัจจัยหนุนตลาดการเงินโลกผันผวน แนะลงทุนแบบ Stay Invested

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



SCB CIO แนะจับตา 3 ปัจจัยหลักหนุนตลาดการเงินผันผวนในเดือนตุลาคมนี้ ได้แก่ 1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 2) รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2567 และ 3) ความกังวลก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ มองตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีโอกาสปรับฐานช่วงก่อนการเลือกตั้ง และมีแนวโน้มปรับขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้ง

แนะใช้กลยุทธ์ Stay Invested หาจังหวะลงทุน โดย Core portfolio เน้นหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน A-share ไทย และทองคำ ส่วน Opportunistic Portfolio แนะลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ขนาดเล็ก เช่น Russell 2000 มอง Valuation ยังถูกกว่าดัชนีหุ้นขนาดใหญ่ รวมทั้งหุ้นเวียดนาม และไทย ด้านตราสารหนี้ แนะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และหุ้นกู้ต่างประเทศ Investment Grade อายุ 2-4 ปี อัตราผลตอบแทนประมาณ 3.8-4.5% ต่อปี

นายศรชัย สุเนต์ตา CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดการเงินในเดือน ต.ค.นี้ มีแนวโน้มผันผวนเพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อการปรับฐาน จาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน 2) การรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3/2567 ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตแผ่วลงเมื่อเทียบเป็นรายปี และอาจสร้างความผิดหวังให้นักลงทุน ท่ามกลาง Valuation ที่ตึงตัว และ 3) ความกังวลของนักลงทุนบนความไม่แน่นอนด้านนโยบายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย.นี้

SCB CIO มองว่า ความผันผวนในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้นเป็นโอกาสใช้กลยุทธ์ Stay Invested หรือการลงทุนอย่างต่อเนื่องในสินทรัพย์ที่น่าสนใจ ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงแบบจัดการได้ (Soft Landing) จะช่วยสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่ด้วย Valuation บนดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับที่สูงมากกว่าการปรับลดดอกเบี้ยในอดีต ทำให้นักลงทุนสามารถรอจังหวะตลาดปรับฐานเพื่อเข้าลงทุน ทั้งพอร์ตหลักระยะยาว (Core Portfolio) และพอร์ตเสริมระยะสั้น (Opportunistic Portfolio) ได้

จากสถิติในอดีต ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มผันผวนสูงและปรับตัวลดลงในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 1-2 เดือน รวมถึงเดือนที่จัดการเลือกตั้งด้วย แต่ตลาดมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ว่าพรรคใดจะได้รับชัยชนะ จึงเป็นโอกาสสะสมเมื่อตลาดอ่อนตัว

สำหรับการลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ บนพอร์ตหลัก เราแนะนำให้ลงทุนแบบ Barbell Strategy โดยลงทุนทั้งหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ค่อนข้างทนทานทุกสภาวะ เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค สุขภาพ และสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น รวมทั้งหุ้นกลุ่ม Quality Growth เช่น กลุ่มบริการสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยในกรณีที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง สามารถลงทุนในดัชนีหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ (Russell 2000) บนพอร์ตเสริมได้ เนื่องจาก Valuation ถือว่ายังถูกกว่าดัชนีหุ้นขนาดใหญ่ และเป็นดัชนีหุ้นที่มีสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่มาจากในสหรัฐฯ จึงได้ประโยชน์จากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งกว่าคาด มากกว่าดัชนีหุ้นขนาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 40% อยู่นอกสหรัฐฯ

ในส่วนของตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มเร่งลดดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยหนุน Valuation ตลาดที่ยังไม่แพง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฝั่งสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดอาจได้อานิสงส์ทางอ้อมจากการที่จีนเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีความไม่แน่นอนในฝรั่งเศส ที่ล่าสุด นายกรัฐมนตรี มีแผนขึ้นภาษีนิติบุคคล และความเสี่ยงที่กำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดจะถูกปรับลดลง เราจึงแนะนำให้เน้นลงทุนระยะยาวกลุ่ม Quality Growth ที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง และมีงบดุลที่ดี ภายใต้ Core Portfolio แต่ไม่แนะนำลงทุนระยะสั้นบน Opportunistic Portfolio

ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังไม่แนะนำให้เข้าลงทุนในตลาดโดยรวม เนื่องจากมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดัน จากความเสี่ยงที่บริษัทจดทะเบียนญี่ปุ่นจะเริ่มปรับลดประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS guidance) ตามความกังวลการแข็งค่าของเงินเยน ในช่วงการรายงานงบการเงินที่จะเริ่มปลายเดือน ต.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังมีแนวโน้มผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนการเมืองทั้งในญี่ปุ่น ที่มีการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 27 ต.ค. และในสหรัฐฯ ที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี วันที่ 5 พ.ย. อย่างไรก็ตาม นักลงทุนสามารถทยอยลงทุนระยะยาวในหุ้นญี่ปุ่นกลุ่ม Quality Growth ภายใต้ Core portfolio ได้

นอกจากนี้ เราแนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นจีน A-Shares บน Core Portfolio เนื่องจากการออกมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของทางการจีนรอบล่าสุด จะช่วยลดความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจจีน และช่วยหนุน Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นจีน โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน A-Shares ที่จะได้อานิสงส์โดยตรงจากมาตรการกระตุ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว และมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่จำกัดกว่าตลาดหุ้นจีน H-Shares อย่างไรก็ตาม เรายังไม่แนะนำให้ลงทุนระยะสั้นในหุ้นจีน บน Opportunistic Portfolio เนื่องจากมีความเสี่ยงที่หุ้นจีนอาจพักฐานจากแรงขายทำกำไรเมื่อใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกอบกับนักลงทุนอาจชะลอการซื้อขาย รอดูความชัดเจนที่มากขึ้นของมาตรการการคลัง ในช่วงการประชุม NPC Standing Committee สิ้นเดือน ต.ค.นี้ นอกจากนี้ มีความเสี่ยงที่เงินดอลลาร์ สรอ. จะกลับมาแข็งค่าเทียบเงินหยวน หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มออกมาดีกว่าคาด และจากประเด็นการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีนที่ยังมีอยู่

สำหรับตลาดหุ้นไทย เราแนะนำให้ลงทุนทั้งใน Core Portfolio และ Opportunistic Portfolio จากภาพรวมเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวจากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเริ่มดำเนินนโยบายการคลังต่างๆ เช่น การแจกเงินสด 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง เพื่อเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ และเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี เป็นต้น ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อเดือน ก.ย. ทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง ส่วนภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกไทยยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน นอกจากนี้ SCB CIO คาดหวังว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 4/2567 ตามการลดดอกเบี้ยของ Fed และจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2.0% ภายในต้นปี 2568 ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการลงทุน และการบริโภคภายในประเทศได้

ด้านเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น ราคาทองคำโลกที่เพิ่มขึ้น อาจสร้างแรงกดดันให้ภาคส่งออกและการท่องเที่ยวจำกัด แต่ช่วยสนับสนุนเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม ยังคงต้องติดตามต่อไป ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ แต่มีแนวโน้มค่อยๆ คลี่คลายลง เบื้องต้นคาดว่า ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างจำกัด ประกอบกับรัฐบาลมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เรายังแนะนำให้เน้นลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม สำหรับ Opportunistic Portfolio เพราะมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดยการส่งออก และเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่ไหลมาจากจีน หลังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และการเตรียมยกเลิกกฎ Pre-funding หรือการซื้อขายที่บังคับให้นักลงทุนต้องมีเงินสดในบัญชีเพียงพอต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ 1 วันก่อนทำธุรกรรมบนตลาดหุ้น มีแนวโน้มส่งผลให้การอัปเกรดสถานะตลาดหุ้นจากตลาดชายขอบ (Frontier Market) สู่ตลาดประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ของเวียดนามมีความชัดเจน และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในตลาดเวียดนามได้อย่างมีนัย

การลงทุนในตราสารหนี้ SCB CIO มองว่า เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ยังมีโอกาสเป็น Bull-Steepening คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นลดลงเร็วกว่าพันธบัตรระยะยาว หรือ Yield Curve ปรับเพิ่มความชันขึ้น ในกรอบประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตาม อาจมีช่วงที่ Yield Curve ของสหรัฐฯ ปรับตัวเป็นแบบแบนราบขึ้นชั่วคราว เนื่องจากการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เกินจริง นอกจากนี้ เรายังระมัดระวังว่า อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) ระยะยาว มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นเร็วจากความเสี่ยงที่สำคัญคือ การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณหรือเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากการขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งอาจกดดันให้ Bond Yield ระยะยาวเพิ่มขึ้นในช่วงสั้นได้เช่นกัน เราจึงยังแนะนำให้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (UST) และหุ้นกู้ต่างประเทศคุณภาพสูง Investment Grade อายุ 2-4 ปี ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนในกรอบ 3.8-4.5% ในปัจจุบัน

ขณะที่ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ มีแนวโน้มส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ผ่านราคาน้ำมัน แต่เรามองว่า ผลกระทบอาจไม่ได้อยู่ยาวนานนัก ท่ามกลางอุปสงค์ที่ชะลอตัว ขณะที่อุปทานส่วนเกินยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เราจึงยังไม่แนะนำให้ลงทุนในน้ำมัน แต่เราแนะนำให้ลงทุนทองคำบน Core Portfolio เนื่องจากมองว่า ราคาทองคำยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันแนะนำให้ลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ทั้งในสหรัฐฯ และไทย โดยเรามองว่า ด้วยแนวโน้มวงจรดอกเบี้ยขาลงจะเป็นปัจจัยบวกต่อการประเมินมูลค่า REITs และส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนจาก REITs เทียบกับพันธบัตรรัฐบาล (Yield Spread) ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานของ REITs ยังดี ขณะที่ Valuation ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนบน Core Portfolio ควร Stay Invested และกระจายลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เน้นตอบโจทย์ 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ 1) เพื่อสร้างกระแสเงิน 2) เพื่อสร้างการเติบโต และ 3) เพื่อป้องกันความเสี่ยงพอร์ตลงทุนรวมจากเงินเฟ้อ และความเสี่ยงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ Opportunistic Portfolio เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง เป็นการลงทุนเสริมจากพอร์ตหลักในสินทรัพย์แบบเฉพาะเจาะจง เน้นเพิ่มโอกาส ตามสถานการณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น