PTG ปักธงปี 68 ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีนี้มั่นใจโต 12-15% ตามการขยายสาขา และบัตรสมาชิก เดินหน้าส่ง 2 บริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น "แอตลาส เอ็นเนอยี" คาดเข้าเทรดไตรมาส 1 ปี 2568 ส่วน "กาแฟพันธุ์ไทย” ยื่นไฟลิ่งปี 2569 ล่าสุดเซ็น MOU ผนึกมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ-กรมป่าไม้-ธ.ก.ส. ส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้า และพืชเศรษฐกิจยั่งยืน หนุนเกษตรกรมีชีวิตอยู่ดีมีสุข ส่งตรง “กาแฟพันธุ์ไทย”
นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า ยอดขายน้ำมันในครึ่งปีหลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปี 2567 ปริมาณการขายน้ำมันของพีทีจีจะเติบโตมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10-12% ดังนั้นในปี 2568 พีทีจีตั้งเป้าปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีนี้ที่ได้ปรับเพิ่มเป้าปริมาณจำหน่ายน้ำมันเป็นเติบโต 12-15% โดยไตรมาส 3 ของปี 2667 เป็นช่วงโลว์ซีซันแต่ปริมาณขายน้ำมันยังเติบโตตามเป้าหมาย ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2567 คาดเติบโตต่อเนื่องตามการขยายสาขา คาดสิ้่นปีมีสถานีบริการน้ำมัน 2,250 สาขา รวมถึงการปรับปรุงสาขาเดิม ทำการตลาดผ่านบัตร Max Card และบริการเสริมต่างๆ
นายรังสรรค์ พวงปราง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการเงินและความยั่งยืน บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-oil) ยังคงเติบโตต่อเนื่อง 40% ต่อปี โดยเฉพาะร้านกาแฟพันธุ์ไทยที่บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,300-1,400 ร้านในสิ้นปีนี้ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้สะดวก และปี 2568 เพิ่มอีก 1,000 ร้าน มุ่งสู่เป้าหมาย 3 ปี หรือในปี 2570 มีร้านกาแฟพันธุ์ไทยครบ 5,000 สาขา โดยปัจจุบันยอดขายสาขาเดิมเติบโต 30% หรืออยู่ที่ 100-120 แก้วต่อวันต่อสาขา
ส่วนความคืบหน้าในการนำบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แก่ บริษัท แอตลาส เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ ATLAS คาดเข้าซื้อขายภายในไตรมาส 1 ของปี 2568 ส่วนร้านกาแฟพันธุ์ไทย คาดยื่นไฟลิ่ง ปี 2569
ผนึกพันธมิตรส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้า และพืชเศรษฐกิจยั่งยืน
ล่าสุด บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมป่าไม้ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ปลูกกาแฟอาราบิก้า ส่งตรงร้านกาแฟพันธุ์ไทย เริ่มต้นที่ 3 หมื่นไร่ ตั้งเป้าใน 3 ปีข้างหน้า เพิ่มพื้นที่ปลูกเป็น 2 แสนไร่ เพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟอาราบิก้าส่งร้านกาแฟพันธุ์ไทย 5,000 สาขา โดยใช้กาแฟ 3 กก.ต่อวันต่อสาขา จากปัจจุบันอยู่ที่ 1 กก.ต่อวันต่อสาขา
นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือพันธมิตร มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ป่าและส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้าและพืชเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาป่าเดิม เพิ่มป่าใหม่ เพื่อให้ประเทศได้มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เกษตรกรมีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บทบาทของพีทีจีในการลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คือ พีทีจีร่วมส่งเสริมและสนับ สนุนองค์ความรู้ในการปลูก การแปรรูปกาแฟ หรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆ พร้อมทั้งรับซื้อผลผลิตกาแฟ หรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ได้คุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดในราคามาตรฐาน เป็นธรรมและยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนองค์ความรู้ และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนากระบวนการรับซื้อผลผลิต การคัดคุณภาพเมล็ด และการตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตกาแฟและพืชเศรษฐกิจ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ส่งเสริมเป้าหมายและร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายในบริษัท และบริษัทในกลุ่ม รวมถึงส่งเสริมด้านตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นตามความต้องการของลูกค้า และความสามารถในการแข่งขันด้านผลิตภัณฑ์และราคา
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนินงานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกพืชเสพติด ความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนเป้าหมาย ผ่านการสร้างอาชีพทาง เลือกสุจริตต่างๆ โดยเฉพาะการปลูกป่าเศรษฐกิจ ควบคู่กับการส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้านเศรษฐกิจและสังคม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นองค์รวม ประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ และส่งเสริมการปลูกและแปรรูปกาแฟ และพืชเศรษฐกิจ
โดยพีทีจีได้ให้ความสำคัญกับการดูแลป่าพัฒนาชุมชน และส่งเสริมเกษตรกรท้องถิ่น และมีนโยบายในการเพิ่มพื้นที่ปลูกกาแฟหรือพืชเศรษฐกิจตามความเหมาะสมของพื้นที่เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า และป่าเศรษฐกิจในพื้นที่เป้าหมาย อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต อีกทั้งมีความตั้งใจที่จะนำวัตถุดิบจากพื้นถิ่นไทยมาใช้ในร้านค้าภายใต้การบริหารงานของพีทีจี เพื่อสนับสนุนการเกษตรอย่างยั่งยืน