“ไทยยูเนี่ยน” แข็งแกร่ง หลังโชว์ศักยภาพฐานะการเงินเยี่ยม ไล่เคลียร์หนี้ หนุนผลประกอบการครึ่งปีหลัง 2567 เติบโตท่ามกลางกระแสกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า คาดราคาทูน่าที่ลดลงช่วยหนุนต้นทุนปรับตัวดีขึ้น แถมแนวโน้มธุรกิจ อาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปดีขึ้นต่อเนื่อง หนุนไตรมาส 4 เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
โชว์ความแข็งแกร่งทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำระดับโลก ล่าสุดเตรียมซื้อคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่บริษัทมีสิทธิที่จะไถ่ถอนได้เมื่อครบกำหนด 5 ปีในเดือนพฤศจิกายนนี้ จำนวน 6,000 ล้านบาท โดยกำหนดปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 15 พ.ย.67 เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ในการได้รับการไถ่ถอน จ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งกำหนดวันไถ่ถอนหุ้นกู้เป็น 29 พ.ย.67
“ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า การเดินหน้าซื้อคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน พร้อมจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ถือหุ้นกู้ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการบริหารต้นทุนทางเงินทุนของกลุ่มให้ดีขึ้นโดยสามารถลดต้นทุนทางการเงินได้ประมาณ 150 ล้านบาทต่อปี แสดงให้เห็นถึงสภาพคล่องและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ตลอดจนความสามารถในการบริหารจัดการของบริษัท
โดยเฉพาะในส่วนงานของศูนย์บริหารเงินของไทยยูเนี่ยน (Global Treasury Center) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการบริหารสภาพคล่องและการบริหารเงินสดของบริษัท การจัดหาแหล่งเงินทุน ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงทางการเงินซึ่งต้องพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจแบบรอบด้าน เพื่อวางแผนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้าได้อย่างทันท่วงที ตัวอย่างเช่น การป้องกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน (Hedging) ซึ่งถึงแม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างมากในขณะนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินในระยะสั้นของบริษัท
พร้อมกันนี้ TU ยืนยันว่าการซื้อคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนในครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับเครดิตองค์กร โดย ทริสเรทติ้ง เมื่อเดือน ก.ย.67 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทได้รับการประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ระดับ "A+" ต่อเนื่อง พร้อมคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ซึ่งไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ "A-" แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"
เนื่องจาก TU มีศักยภาพจากการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งกระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาค ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา และมีการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น อุตสาหกรรมส่วนประกอบอาหาร และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมทางธุรกิจของไทยยูเนี่ยน
ต่อเนื่องจาก ITC ปล่อยกู้
และถือเป็นการโชว์ศักยภาพทางการเงินแบบต่อเนื่องอีกครั้งในปีนี้สำหรับ TU เพราะเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) (TU ถือหุ้นใหญ่ 78.82%) ประกาศว่า บริษัทได้ปล่อยกู้ให้บริษัทแม่ (TU) ในวงเงินไม่เกิน 11,000 ล้านบาท โดยมีสัญญาเงินกู้ยืมระยะเวลาไม่เกิน 6 ปี
โดยวงเงินกู้ยืม 11,000 ล้านบาท จะแบ่งเป็นวงเงินกู้ยืมที่ 1 เป็นเงินกู้ระยะยาวไม่เกิน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 3 ปี มีดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3.10 ต่อปี และสามารถต่ออายุได้ในแต่ละครั้งไม่เกิน 3 ปี รวมอายุทั้งสิ้นไม่เกิน 6 ปี ส่วนที่เหลือจะเป็นวงเงินกู้ยืมที่ 2 เป็นเงินกู้หมุนเวียน ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 1 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.10 ต่อปี และสามารถต่ออายุได้ในแต่ละครั้งไม่เกิน 1 ปี รวมอายุทั้งสิ้นไม่เกิน 6 ปี
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีหลายฝ่ายมีมุมมองต่อแผนธุรกิจดังกล่าวของ TU และ ITC ว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากบริษัทลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อนำเงินสดที่ ITC มีอยู่จำนวนมากมาก่อประโยชน์ต่อ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ทั้งในแง่การนำเงินมาขยายการลงทุนหรือชำระหนี้เงินกู้บริษัทก่อนหน้านี้ ซึ่งให้กลุ่มบริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่ต้องจ่ายคืนที่ต่ำกว่าแหล่งเงินทุนในช่องทางอื่นๆ ขณะที่ ITC ได้ประโยชน์จากการปล่อยกู้ จากผลตอบแทนที่มาในรูปอัตราดอกเบี้ยที่ให้ประโยชน์แก่บริษัทมากกว่าการถือเงินสดไว้เฉยๆ
ไม่เพียงเท่านี้ การปล่อยกู้ระหว่างบริษัทลูกกับบริษัทแม่รอบนี้ยังไม่สร้างความกังวลให้ตลาดหุ้น เนื่องจากมีรายงานว่าแผนลงทุนที่จะใช้เงิน ITC ได้มีการเลื่อนออกไป ตามภาพรวมอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว ทำให้ ITC ยังเหลือเงินสดในมือที่ได้จากการระดมทุน (IPO) ตั้งแต่ปี 65 ค่อนข้างมาก ขณะที่ TU จะได้ประโชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง
ผลดำเนินงานขยายตัวต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา TU มีผลดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 67 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยสามารถทำยอดขายได้ดีถึง 35,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนกำไรขั้นต้นขึ้นมาแตะที่ระดับ 18.5% สูงสุดเป็นอันดับ 2 ในรอบ 3 ปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวมาจากกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่นำกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้าพรีเมียม และการปรับปรุงราคาสินค้า และการปรับปรุงประสิทธิภาพของกลุ่ม ธุรกิจสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่นๆ รวมถึงการปรับโครงสร้างทางกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งให้คงเฉพาะธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ และผลกำไร
ทำให้ TU ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวดครึ่งปีแรก 67 อัตราหุ้นละ 0.31 บาท กำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล วันที่ 22 สิงหาคม 67 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 4 กันยายน 67
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ TU ยังประสบความสำเร็จในโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินจำนวน 200 ล้านหุ้นแล้ว พร้อมทั้งดำเนินการจดทะเบียนลดทุนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 ก.ค.67 จนทำให้ใครต่อใครเชื่อว่าแม้สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่ายังร้อนแรง แต่เชื่อว่า TU จะประครองให้กลุ่มธุรกิจผ่านพ้นปัจจัยลบดังกล่าวไปได้ในรูปแบบที่ผลดำเนินงานทั้งปีเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า
คาดครึ่งปีหลังดีกว่า 6 เดือนแรก
โดยแนวโน้มครึ่งปีหลังเชื่อว่าดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ปี 67 คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นจากการรับรู้ออเดอร์ที่เลื่อนมาจากไตรมาส 2 ปี 67 บางส่วนจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่ง และปัจจุบันสถานการณ์เริ่มกลับมาปกติแล้ว และต้นทุนปลาทูน่าที่แม้จะเริ่มเพิ่มขึ้นแต่ยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ช่วยในการขายและบุกตลาดได้มากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจที่ไม่ดี
และล่าสุด ผู้บริหาร TU ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายยอดขายในปี 67 เพิ่มขึ้นเป็นเติบโต 4-5% จากเดิมตั้งไว้ 3-4% และมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับ 18-18.5% จากเดิม 17-18% ซึ่งเป็นไปตามทุกธุรกิจที่ขยายตัว และการบริการจัดการที่มีประสิทธิภาพในทุกด้านของกลุ่ม และคงงบลงทุนปี 67 ไว้ที่ระดับ 4,000-4,500 ล้านบาท
ต้นทุนทูน่าตัวแปรสำคัญ Q3
ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนิตี้ ประเมินทิศทางธุรกิจ TU ว่า บริษัทน่าจะมีกำไรในไตรมาส 3 ปี 67 เพิ่มขึ้น 5%QoQ และ 6% เทียบปีก่อน พร้อมคาดรายได้เติบโต 1% เทียบไตรมาสก่อน และ 5% เทียบปีก่อน แม้ว่าจะมีผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นก็ตาม โดยคาดกำไรไตรมาส 3 ปี 67 ที่ 1,281 ล้านบาท ดีขึ้น 5% เทียบไตรมาสก่อน และ 6% จากปีก่อน รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นอาจปรับตัวดีขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าที่ลดลง ซึ่งส่งผลบวกต่อธุรกิจอาหารทะเลกระป๋องและธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงพร้อมทั้งส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมดีขึ้นตามแนวโน้มการดำเนินงานของ Avanti Feed ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4 ปี 67 ยังมีปัจจัยบวก แม้ว่าจะเป็น Low Season ของธุรกิจ
“คาดอัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.0% จาก 18.5% ในไตรมาส 2 ปี 67 เนื่องจากยอดขายอาหารทะเลกระป๋องและอาหารสัตว์เลี้ยงยังปรับตัวดีขึ้น หลังมีการเปิดตลาดและนําเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบหลักซึ่งคือราคาทูน่าปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก และด้านธุรกิจอาหารทะเลแช่เย็น/แช่แข็งมีแนวโน้มอ่อนตัวลง เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดสหรัฐฯ ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ส่วนแบ่งกําไรจากบริษัทร่วมคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 29% เทียบไตรมาสก่อน นั่นเพราะผลจากการดําเนินงานของ Avanti Feed ที่ดีขึ้น”
ส่วนด้านค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานเพิ่มขึ้น 3% เทียบไตรมาสก่อน และ 17% จากปีก่อน โดยหลักเป็นการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างธุรกิจ แต่ผลกระทบไม่มากเมื่อเทียบกับกําไรขั้นต้นที่ดีขึ้นมากแล้วมองไตรมาส 4 ปี 67 ยังแข็งแกร่งแม้ว่าจะเป็นช่วง Low Season แต่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงยังมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง บวกกับอาจเห็นการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารทะเลแช่เย็น/แช่แข็งที่อ่อนตัวลงไปค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังอาจเห็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงจากฐานสูงในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปี 67 จึงคงราคาเป้าหมายและคําแนะนํา “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 68 ที่ 18.40 บาท โดยราคาหุ้นยังมี Upside ค่อนข้างสูง
ลดรับรู้ผลขาดทุนจาก Red Lobster
ขณะที่ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แนะนำ "ซื้อ" TU โดยให้ราคาเป้าหมาย 18.50 บาท อิง SOTP โดยปรับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2025E จากการประเมินกำไรปกติไตรมาส 3 ปี 67 ที่ 1.4 พันล้านบาท (ลดลง 10% เทียบปีก่อน และ 2% จากไตรมาสก่อน) กำไรชะลอตัว เนื่องจาก SG&A โดยรวมสูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายการตลาด ค่าที่ปรึกษาโครงการ และค่าขนส่งสูงขึ้น และฐานค่าใช้จ่ายภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีเครดิตภาษีจาก Red Lobster แล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ถูก Offset บางส่วนจากรายได้ ขยายตัว 4% เทียบปีก่อน และ GPM สูงขึ้นอยู่ที่ 18.6% หลักๆ หนุนโดยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป และรายได้อื่นโดยรวมดีขึ้นตามการหยุดรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก Red Lobster และธุรกิจ Avanti ปรับตัวดีขึ้น
นั่นทำให้คงกำไรปกติปี 67E ที่ 5.3 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6% เทียบปีก่อน) แต่ปรับกำไรปกติปี 68E ลง -5% เป็น 5.6 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6% เทียบปีก่อน) เพื่อสะท้อนปัจจัยท้าทายจากบาทแข็ง สำหรับไตรมาส 4 ปี 67E เบื้องต้นประเมินกำไรปกติจะฟื้นต่อเนื่องจากปีก่อน แต่มีโอกาสทรงตัวจากไตรมาสก่อน จากการรับรู้ผลกระทบบาทแข็งมากขึ้น
ที่ผ่านมาราคาหุ้น Underperform SET -8-9% ใน 1-3 เดือน ตามหุ้นกลุ่มส่งออกโดยรวม จากค่าเงินบาทแข็ง
อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาหุ้นปรับตัวลงช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างสะท้อนความกังวลทิศทางเงินบาทไปบ้างแล้ว ขณะที่มองว่าแนวโน้มกำไรปกติครึ่งหลังปี 67 E จะยังขยายได้ เทียบครึ่งปีก นอกจากนี้ มี Catalyst จากโรงงานใหม่ทยอย Ramp Up และราคาทูน่าที่กลับมาอยู่ในระดับเหมาะสมมากขึ้น หลังล่าสุดราคา ก.ย.67 กลับมาอยู่ใน Comfort Level ของบริษัทที่ 1,400 ดอลลาร์ต่อตัน (ลดลง 8% จากปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 12% จากเดือนก่อน)
แนวโน้มกำไรปกติไตรมาส 3 ปี 67E ชะลอตัว ประเมินกำไรปกติ 3 ปี 67Eที่ 1.4 พันล้านบาท (ลดลง 10% จากปีก่อน และ 2% เทียบไตรมาสก่อน) และทำให้คงประมาณกำไรปี 67E แต่ปรับกำไรปกติปี 68E ลง โดยคงกำไรปกติ ปี 67E ที่ 5.3 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน) แต่ปรับกำไรปกติปี 68E ลดลง 5% เป็น 5.6 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน) เพื่อสะท้อนปัจจัยท้าทายจากบาทแข็ง
สำหรับไตรมาส 4 ปี 68E เบื้องต้นประเมินกำไรปกติจะดีขึ้นจากปีก่อนตามการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป และจะทรงตัวเมื่อเทียบไตรมาสก่อน จากการรับรู้ผลกระทบบาทแข็งมากขึ้น แต่จะถูกชดเชยบางส่วนจาก SG&A ที่มีโอกาสอ่อนตัวจากค่าใช้จ่ายการตลาดอ่อนตัวตามฤดูกาล และปริมาณขายธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงยังทรงตัวดี
ดังนั้น จึง “คงคำแนะนำ "ซื้อ" และราคาเป้าหมาย 18.50 บาท อิง SOTP โดยปรับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 68E แม้มีผลกระทบบาทแข็ง แต่เราคาดการณ์ทิศทางผลการดำเนินงานครึ่งหลังปี 67E โดยรวมจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบครึ่งปีแรก นอกจากนี้มี Catalyst จากการทยอย Ramp Up ของโรงงานใหม่และราคาทูน่าที่กลับมาอยู่ในระดับเหมาะสมมากขึ้น”
Q4 กำไรเร่งตัวสูงสุด
ด้าน บล.หยวนต้า ประเมินทิศทางธุรกิจ TU ว่า คาดกำไรสุทธิ 3Q67 ที่ 1,301 ล้านบาท แต่หากไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนคาดที่ 238 ล้านบาท คาดกำไรปกติอยู่ที่ 1,555 ล้านบาท ( เพิ่มขึ้น 5.7% จากไตรมาสก่อน ลดลง 6.8% จากปีก่อน ) โดยคาดรายได้ที่ 35,305 ล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อน และเติบโต 4.1% เทียบปีก่อน จากธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป (Ambient) และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Care) จาก Demand ที่ยังแกร่ง โดยเฉพาะในตลาดตะวันออกกลาง ช่วยชดเชยรายได้ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง (Frozen) ที่ชะลอตัวในตลาดสหรัฐฯ ได้
ขณะที่ GPM คาดที่ 18.7% ดีขึ้นต่อจาก 18.5% ในไตรมาส 2 ปี 67 และ18.4% ในไตรมาส 3 ปี 66 แม้จะโดนผลกระทบจากค่าเงินบาทเทียบ USD ที่แข็งค่าก็ตาม เนื่องจากได้ประโยชน์จากราคาต้นทุนทูน่าที่ปรับลง และส่วนผสมผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น (Frozen ที่มี GPM ต่ำมีสัดส่วนรายได้ลดลง) แต่บริษัทจะรับรู้ SG&A/Sales สูงขึ้นเป็น 13.1% จาก 13.0% ในไตรมาส 2 ปี 67 และ 11.9% ในไตรมาส 3 ปี 66 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายการตลาด ค่าที่ปรึกษา และค่าขนส่งทางเรือที่สูงขึ้น นอกจากนี้ คาดส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมสูงขึ้นเป็น 279 ล้านบาท เติบโต 56% จากไตรมาสก่อน จาก Avanti แนวโน้มกำไรไตรมาส 4 ปี 67 คาดทำระดับสูงสุดของปี แม้รับรู้บาทแข็งเต็มไตรมาส
“โดยประเมินแนวโน้มกำไรปกติไตรมาส 4 ปี 67 เบื้องต้นจะกลับมาเติบโตทั้งไตรมาสก่อน และปีก่อน ทำระดับสูงสุดของปีเนื่องจากบริษัทให้ข้อมูลว่าปัจจุบันยังเห็นแนวโน้มของ Demand ธุรกิจ Ambient และ Pet Care ที่ยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง แม้จะเป็นช่วง Low Season ของธุรกิจ และเผชิญกับสถานการณ์ค่าเงินบาทเทียบ USD ที่แข็งค่าก็ตาม นอกจากนี้ ธุรกิจ Frozen แม้คาดยังชะลอลงจากปีก่อน แต่คาดจะเห็นการชะลอในอัตราที่ลดลง ขณะที่ประเด็นราคาปลาทูน่าที่ปรับลงไปแรงที่ 1,250 USD/ตัน ในเดือน ส.ค. จะไม่กระทบต่อราคาขายเฉลี่ยของบริษัทในไตรมาส 4 ปี 67 เนื่องจากเป็นการปรับลงเพียงเดือนเดียว และกลับขึ้นมาเป็น 1,450 USD/ตัน ในเดือน ก.ย.แล้ว แต่จะได้ประโยชน์จากการสต๊อกวัตถุดิบปลาที่ราคาต่ำแทน ดังนั้น หากกำไรไตรมาส 3 ปี 67 ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้จะทำให้กำไร 9 เดือนแรกปี 67 คิดเป็นสัดส่วน 65% ของประมาณการกำไรทั้งปี และด้วยแนวโน้มกำไรไตรมาส 4 ปี 67 ที่เร่งตัวขึ้นทำระดับสูงสุดของปี ทำให้ยังประเมินว่าประมาณที่ 5,965 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 10.5% เทียบปีก่อน) ยังเป็นไปได้ โดยมีราคาเป้าหมายที่ 17.20 บาท”