xs
xsm
sm
md
lg

OKJ ลากแมลงเม่าไปเชือด / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) หรือ OKJ เข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เพียง 2 วัน เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้สนั่นหวั่นไหว เพราะราคาทะยานขึ้นอย่างร้อนแรง จนถูกตั้งคำถามว่า มีใครอยู่เบื้องหลังลากนักลงทุนรายย่อยขึ้นไปเชือดหรือไม่

OKJ นำหุ้นจำนวน 159 ล้านหุ้น หรือสัดส่วนประมาณ 26% ของทุนจดทะเบียน เสนอขายนักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรกในราคาหุ้นละ 6.70 บาท โดยบริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด บริษัทลูกของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ถือหุ้นในสัดส่วน 20% ของทุนจดทะเบียน

โอ้กะจู๋ หรือ OKJ สร้างชื่อเสียงจากร้านอาหารพักปลอดสารเพื่อสุขภาพ จนเติบโตเป็นที่นิยมและขยายสาขาต่อเนื่อง หุ้นที่นำมาเสนอขายนักลงทุนจึงได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่จองล้นโควตาจัดสรร

เป็นที่คาดหมายก่อนหน้าแล้วว่า การซื้อขายหุ้น OKJ จะมีความคึกคัก และเมื่อได้ฤกษ์ประเดิมเคาะซื้อขายวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ราคาหุ้นเคลื่อนไหวร้อนแรงตามคาด โดยเปิดการซื้อขายที่ราคา 10.10 บาท และถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 12.50 บาท ก่อนปิดที่ 12.40 บาท สูงกว่าราคาจอง 5.70 บาท หรือสูงกว่าจอง 85% มูลค่าซื้อขาย 4,678.91 ล้านบาท

การซื้อขายวันที่สอง หรือวันที่ 7 ตุลาคม OKJ ยังร้อนไม่หยุด เปิดซื้อขายที่ราคา 12.80 บาท ก่อนถูกลากขึ้นไปสูงสุด 14.60 บาท แต่ถูกเทขายจนร่วงลงมาปิดที่ 12.90 บาท เพิ่มขึ้น 50 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 4.03% มูลค่าซื้อขายยังหนาแน่น 1,829.41 ล้านบาท

หุ้น OKJ ที่พุ่งทะยานถูกวิจารณ์จากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์และนักลงทุนว่า ราคาร้อนเกินเหตุ และเป็นราคาที่ล้ำหน้าปัจจัยพื้นฐานไปมาก จนมีเสียงเตือนให้ระมัดระวังการตามแห่เก็งกำไร เพราะอาจมีคนที่อยู่เบื้องหลังการลากราคาหุ้น

ค่าพี/อีเรโช OKJ จากระดับ 24 เท่า ช่วงที่เสนอขายหุ้นในราคา 6.70 บาท ล่าสุดพุ่งขึ้นไปเป็น 46 เท่าแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอาหารด้วยกัน ถือว่าเป็นหุ้นกลุ่มอาหารที่มีค่า พี/อี เรโช สูงกว่าหุ้นกลุ่มอาหารอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหุ้นบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M ซึ่งราคาปิดล่าสุดที่ 30.25 บาท มีค่าพี/อี เรโช 16 เท่า

หุ้นน้องใหม่ที่เคยสร้างสถิติความร้อนแรงสุดขีดคือ หุ้นบริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MGI จากราคาจอง 4.95 บาท และนับจากประเดิมเข้าซื้อขายในตลาด MAI วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ราคาพุ่งไม่หยุด แม้จะถูกมาตรการกำกับการซื้อขายหลายครั้ง โดยราคาถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 65.50 บาท ก่อนจะปรับฐานสู่พื้นฐานที่เป็นจริง ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมราคาปิดที่ 14.50 บาท

นักลงทุนขาใหญ่ที่ลากหุ้น MGI ขึ้นไป ขายหุ้นทำกำไรเผ่นหนีออกไปแล้ว ปล่อยให้แมลงเม่าที่ตามแห่เก็งกำไรติดค้างอยู่บนยอดดอย ขาดทุนกันป่นปี้

เช่นเดียวกับ OKJ ซึ่งอาจมีนักลงทุนขาใหญ่ อยู่เบื้องหลังความร้อนแรงของราคา และ "ขาใหญ่" อาจทิ้งหุ้นไปแล้วเมื่อราคาหุ้นพุ่งเกิน 100% เหนือราคาจอง

หุ้นน้องใหม่ส่วนใหญ่จะมีเจ้ามือหรือนักลงทุนขาใหญ่อยู่เบื้องหลังการสร้างราคา โดยอาจมีข้อตกลงกับผู้ถือหุ้นใหญ่ในการทำราคา แลกกับการจัดสรรหุ้นต้นทุนต่ำ จึงปรากฏรายชื่อบรรดานักลงทุนขาใหญ่หรือเซียนหุ้นได้รับการจัดสรรหุ้นใหม่จำนวนมาก

และการซื้อขายหุ้นใหม่ในวันแรกๆ ดูเหมือนว่าตลาดหลักทรัพย์จะปล่อยผี ปล่อยให้ทำราคากันได้เต็มที่ บางครั้งปล่อยให้ลากราคาสูงกว่าจองเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ปิดตลาดกลับถูกทุบลงต่ำกว่าราคาจองอย่างน่าประหลาดใจ จนนักลงทุนรายย่อยตายกันเป็นเบือ

เช่นเดียวกับ OKJ ซึ่งเป็นหุ้นชื่อเสียงดี แต่พฤติกรรมราคาใน 2 วันแรกที่เข้าซื้อขายดูไม่ดีเท่าไหร่นัก และน่าจะมีแมลงเม่าจำนวนไม่น้อยต้องเซ่นสังเวยในกองไฟ

แต่ตลาดหลักทรัพย์ไม่เคยจับฆาตกรที่ลากหุ้นใหม่ขึ้นไปเชือดในวันแรกๆ ที่เข้าซื้อขายได้สักราย

หมายเหตุ...คอลัมน์ชุมชนหุ้น ฉบับวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมาในหัวข้อ “วายุภักษ์” แหกมาตรฐานเข้าตลาดหุ้น โดยไม่เปิดเผยข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหน่วยลงทุนนั้น ขอชี้แจงว่า กองทุนรวมวายยุภักษ์ไม่ได้ทำผิดกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด เพราะกองทุนรวมสามารถจำหน่วยลงทุนเข้าซื้อขายได้ และเปิดเผยข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหน่วยลงทุนภายหลังปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว

จึงขอชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในกฎเกณฑ์ของการรับกองทุนรวมเข้าจดทะเบียน








กำลังโหลดความคิดเห็น