xs
xsm
sm
md
lg

KBANK คาดสินเชื่อปีนี้ทรงตัว มองอาเซียนสดใส หนุนธุรกิจขยายฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อของธนาคารในปีนี้คาดการณ์ว่าจะทรงตัวจากปีก่อน แม้สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่จะยังเติบโตได้ แต่มียอดชำระคืนที่สูงกว่าสินเชื่อปล่อยใหม่ จึงยังไม่สามารถชดเชยสินเชื่อกลุ่มอื่นๆ ที่ยังชะลอตัวได้ ซึ่งเป็นไปตามภาพรวมของเศรษฐกิจที่ยังโตได้ไม่ทั่วถึง ขณะที่มาตรการต่างๆ ที่ออกมายังเห็นผลได้ไม่ชัดเจนในปีนี้ ทำให้ผู้ประกอบการยังไม่ค่อยกล้าลงทุนใหม่ เช่นเดียวกับธนาคารเองมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของธนาคารกสิกรจะเน้นในกลุ่มเดิมเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม มองว่าในปีหน้าแนวโน้มเศรษฐกิจจะดีขึ้นเมื่อเห็นผลจากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมา จากปีนี้ที่คาดการณ์จีดีพีเติบโตที่ 2.6%

"สินเชื่อของเราปีนี้คงจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าเติบโต 3-5% จากภาพรวมในช่วงที่ผ่านมายังไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ของเราแม้ว่าจะเน้นกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ แต่เอสเอ็มอีหรือรายย่อยเราปล่อยอยู่เพราะในทุกกลุ่มมีทั้งลูกค้าที่ไปต่อได้ดี และกลุ่มไปต่อไม่ได้ แต่ในช่วงนี้ขอไปที่กลุ่มลูกค้าเดิมของธนาคารก่อน อย่างไรก็ตาม ในปีนี้รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารสามารถเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในส่วนของกองทุน กลุ่ม Wealth และประกัน ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลอยู่ในระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้คือน้อยกว่า 3.25% ซึ่งเป็นระดับที่สามารถดูแลควบคุมได้ เนื่องจากธนาคารมีความระมัดระวังอยู่แล้ว โดยปัจจุบันอัตราผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอยู่ที่ 1.89%"

สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) นั้น ธนาคารได้ร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ซึ่งจะบริหารในส่วนหนี้เสียที่มีหลักประกันปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะสามารถเริ่มธุรกิจได้ในปีหน้า ขณะที่บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) จะบริหารในส่วนของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารจะมีการร่วมทุนจัด AMC แต่ไม่จำเป็นที่ธนาคารจะต้องขาย NPL ให้ AMC ทั้ง 2 แห่งดังกล่าวเท่านั้น จะยึดหลักด้านราคาที่ดีกว่าเป็นหลัก

ส่วนธุรกิจต่างประเทศของธนาคารนั้น มีการเติบโตสอดคล้องกับเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆเป็นหลัก อย่างในประเทศจีนจะชะลอตัวลงบ้าง ขณะที่ในเวียดนามและอินโดนีเซียยังเติบโตได้ดี ซึ่งในขณะนี้เรายังคงให้ความสำคัญกับประเทศที่ได้ลงทุนไปแล้วก่อนในกลยุทธ์เดิมที่ใช้ K PLUS เป็นธุรกรรมหลักไปก่อน เนื่องจากการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศต้องพิจารณาในหลายด้าน โดยเฉพาะการแข่งขันกับผู้ประกอบเดิมที่เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว รวมถึงพิจารณาถึงธุรกิจทื่เราโดดเด่นอยู่อย่างระบบการชำะเงินดิจิทัลนั้นมีโอกาสทางการตลาดที่จะขยายได้หรือไม่ และที่สำคัญคือมีพันธมิตรในท้องถิ่นที่พร้อมจะเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่มากกว่าการถือหุ้นหรือไม่

ชี้อาเซียนน่าลงทุน-หนุนธุรกิจขยายฐาน
นอกจากนี้ น.ส.ขัตติยา ยังได้กล่าวในงานสัมมนา ASEAN ECONOMIC OUTLOOK 2025 ที่จัดขึ้นโดย นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ Investment Opportunities in ASEAN ว่า โอกาสการลงทุนของอาเซียนในอนาคตนั้น อาเซียนนับว่าเป็นภูมิภาคที่สนใจมากที่สุดในโลก ด้วยจุดเด่นในเรื่อง 1.มีความเป็นกลางท่ามกลางความปั่นป่วน-ผันผวนในหลายจุดของโลก 2.ความได้เปรียบในด้านทรัพยากร-ค่าแรงงานที่ยังไม่สูงนัก และด้านภูมิศาสตร์-โลจิสติกส์ ซึ่งหากทางฝั่งรัฐบาลมีมาตรการผลักดันหรือมีการจัดการด้านสาธารณูปโภคที่สนับสนุนแล้ว ธุรกิจไทยมีโอกาสที่จะไปลงทุนในอาเซียนได้เช่นกัน

"กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าใน 5 ปีกลุ่มจีดีพีของกลุ่มอาเซียนจะเติบโตได้ 4.6% แซงหน้าเศรษฐกิจโลกที่เติบโต 3.1% ประเทศในกลุ่มอาเซียนเติบโตดีได้ดี เวียดนามโตได้ 6.4% มีจุดแข็งที่ค่าแรงงานที่ยังต่ำ อินโดนีเซียเติบโต 5% มีจุดแข็งที่ทรัพยากรที่ยังอุดมสมบูรณ์ มาเลเซียเติบโต 4% และไทย 2.9% จำนวนประชากรคาดการณ์ของเวียดนามในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 107 ล้านคน จากปี 2040 ที่ 99 ล้านคน มีเกณฑ์เข้าสู่สังคมสูงวัยในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรคาดการณ์ของอินโดนีเซียในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 317 ล้านคน จากปี 2040 ที่ 272 ล้านคน มีเกณฑ์เข้าสู่สังคมสูงวัยในอีก 20 ปีข้างหน้า ดังนั้น ทั้ง 2 ประเทศนี้ถือเป็นตลาดที่กว้างและมีกำลังซื้อที่น่าสนใจ"

สำหรับในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์นั้น จะมองในกลุ่มประชากรที่ยังเข้าไม่ถึงบริการของสถาบันการเงิน โดยตัวเลขของกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการสถาบันเงินในอินโดนีเซียอยู่ที่ 48% เวียดนาม 43% จีน 11% และไทย 5% ดังนั้น ตลาดและโอกาสจะอยู่ในกลุ่มที่ยังเข้าถึงบริการทางการเงินที่น้อยเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม การไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศจะต้องมีการศึกษาในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจดั้งเดิมในประเทศ พฤติกรรมลูกค้าที่แตกต่างกัน เป็นต้น

"การเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีการเติบโตสูง มีจำนวนประชากรสูง ไม่ได้การันตีว่าเราจะประสบความสำเร็จเสมอไป ขึ้นอยู่กับความเข้าใจลูกค้า กฎเกณฑ์ของแต่ประเทศ ซึ่งเราควรจะมีทั้ง Know How Know Were หรือเข้าใจถึงพฤติกรรมลูกค้า และ Know Who หรือรู้จักถึงผู้กำกับดูแล รวมถึงการหาพันธมิตรที่เป็น Local Partner ด้วย"
กำลังโหลดความคิดเห็น