“สยามโกลบอลเฮ้าส์” รับอานิสงส์ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านผู้บริหารเชื่อกำไรขั้นต้นไตรมาสุดท้ายเร่งตัว แถมได้รับอานิสงส์จากการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม พร้อมเดินหน้าขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศตามแผนเมื่อภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและพัฒนาประเทศ นั่นย่อมทำให้หลายธุรกิจได้รับแรงผลักดันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจพาณิชย์ และวัสดุก่อสร้าง และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (GLOBAL)
ผู้บริหาร GLOBAL แสดงความเห็นถึงทิศทางธุรกิจว่า บริษัทเริ่มเห็นยอดขายทยอยฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในบางสาขา ทำให้คาดว่ายอดขายรวมในไตรมาส 4/67 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) และเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่เพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา และยังเริ่มต้นเบิกจ่ายวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันพบว่า ยอดขายสินค้าบางรายการเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ท่อพีวีซี อุปกรณ์โครงสร้าง เร่งตัวขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา หนุนให้ยอดขาย ต่อสาขา (SSSG) เดือนสุดท้ายไตรมาส 3/67 เร่งตัวขึ้นได้เล็กน้อย
ทำให้เบื้องต้นคาดว่า จะสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ให้เร่งตัวขึ้นได้เล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2567 โดยมาจากการจัดโปรโมชันราคาสินค้าในกลุ่มขายส่ง การเพิ่มสัดส่วนสินค้าแบรนด์บริษัท (Private Brand) ให้มากขึ้น
ส่วนราคาเหล็กที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น เบื้องต้นประเมินว่าราคาเหล็กเส้น อาจเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการเร่งเบิกจ่ายวงเงินงบประมาณเตรียมซ่อมแซมถนน, สะพาน ฯลฯ ของหน่วยงานภาครัฐบาล และความพยายามเปิดประมูลโครงการเมกะโปรเจ็กต์ นั่นทำให้ GLOBAL ยังคงแผนเร่งขยายสาขาในงวดไตรมาส 4/67 ทั้งสิ้น 4 สาขา ซึ่งจะส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2567 บริษัทจะมีสาขาทั้งสิ้น 91 สาขาครอบคลุมพื้นที่ทั้งระดับตำบล อำเภอทั่วประเทศ อีกทั้งยังคงมุ่งยึดตลาดหลักในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในสปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และอินโดนีเซีย พร้อมวางแผนขยายสาขาต่อเนื่องไปปี 2568 อีกราว 10 สาขา รองรับการฟื้นตัวของความต้องการทั้งภาคประชาชนในการซ่อมแซม ต่อเติมอาคารที่พักอาศัย และโครงการภาครัฐบาลที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น จึงคาดหวังว่าไตรมาส 4/67 ยอดขายต่อสาขาจะเริ่มฟื้นตัว ต่อเนื่องได้ถึงปี 2568
ทั้งนี้ GLOBAL หวังว่าในช่วงไตรมาส 4/67 -ไตรมาส1/68 ธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวจากราคาผลผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ จากสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคนสำหรับกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 12.4 ล้านคน และกลุ่มผู้ถือบัตรประจำตัวคนพิการ ประมาณ 2.14 ล้านคน รวมเป็น 14.5 ล้านคน ที่คาดว่าจะเข้ามากระตุ้นการเติบโตได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจไทยยังต้องจับตามองกับการมาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่จาก ประเทศจีนคือ เทมู (Temu) ประเมินในเบื้องต้น จะมีผลต่อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่นำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมากกว่า แต่บริษัทมีการติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดและยังไม่มีผลกระทบต่อบริษัท
ส่วนภาพรวมผลประกอบการของบริษัทในปี 2567 ประเมินว่า รายได้อาจจะเติบโตใกล้เคียง หรือสูงกว่า จีดีพีของประเทศไทย ที่มีการขยายตัวประมาณ 2% ส่วนรายได้จากต่างประเทศของบริษัท อยู่ที่ประมาณ 1.60-1.70 หมื่นล้านบาท
ภาพรวม GLOBAL ครึ่งปีแรก
สำหรับ GLOBAL ดำเนินธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่ง เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง ต่อเติม ตกแต่ง บ้านและสวนแบบควบวงจร (One Stop Shopping Center) โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า โกลบอล เฮ้าส์ (Global House)
ที่ผ่านมา GLOBAL มีผลดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก มีกำไรสุทธิ 1,489.84 ล้านบาท ลดลง 6.06% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,586.03 ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากการขยายสาขาใหม่ 8 สาขา แม้ว่าสัดส่วนของรายได้รวมและกำไรขั้นต้นจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แล้วก็ตาม
โดยบริษัทมีรายได้จากการขาย เท่ากับ 17,482.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 46.19 ล้านบาท หรือ 0.26% เป็นผลมาจากยอดขายของสาขาเดิมและสาขาใหม่อีก 8 สาขา และมีรายได้อื่น 419.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68.65 ล้านบาท หรือ 19.59% เนื่องจากรายได้บริหารคลังสินค้าและรายได้ส่งเสริมการขายที่ได้รับจากคู่ค้าเพิ่มขึ้น นั่นทำให้กำไรขั้นต้น เท่ากับ 4,510.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.58% และ คิดเป็นอัตรา 25.80% ของรายได้จากการขาย ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 0.59% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้ากลุ่มเหล็กมีการปรับตัวสูงขึ้นและการปรับการกระตุ้นยอดขายของกลุ่ม สินค้า House Brand
ส่วนต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายการบริหาร (ไม่รวมค่าเสื่อมราคา กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เกิดขึ้นจริง และ กำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนชั่วคราวที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง) เท่ากับ 2,389.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.16% โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวคิดเป็น 13.67%ของยอดขาย เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายกลุ่มเงินเดือน พนักงานของสาขาที่เปิดใหม่ 8 สาขา
Private Brand หนุน
ล่าสุดบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด คาดการณ์อัตรากำไรขันต้นในครึ่งปีหลัง 2567 ของ GLOBAL จะอยู่ที่ 26.2-26.6% เทียบกับ 26% ในช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากการปรับลดโปรโมชันราคาสำหรับสินค้า และมีสัดส่วนยอดขายสินค้า Private Brand ที่มีมาร์จิ้นสูงเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหาสต๊อกสินค้าคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากมีการจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อใหม่ช่วงปลายไตรมาส 2-3/67 เบื้องต้นคาดการณ์กำไรปกติทั้งปีจะอยู่ที่ 2,537 ล้านบาท ลดลง 5% YoY และจะเร่งตัวขึ้น 15.6% YoY แตะ 2,933 ล้านบาท คงคำแนะนำ "ซื้อ" ราคาเหมาะสม 18 บาท
งบรัฐช่วยหนุนไตรมาสสุดท้าย
ขณะที่ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แนะ "ซื้อ" บมจ. สยามโกลบอลเฮ้าส์ โดยคาดว่ากำไรสุทธิของ GLOBAL ใน 3Q/67 จะอยู่ที่ 498 ล้านบาท (-5% YoY, -35% QoQ) ซึ่งจะทำให้กำไรสุทธิในงวด 9M/67 อยู่ที่ 2 พันล้านบาท (-6% YoY) คิดเป็น 72% ของประมาณการกำไรเต็มปีของบริษัท Impact
โดยคาดว่า Same-Store-Sales จะหดตัวใน 3Q/67 แต่มีสัญญาณดีขึ้น MoM และคาดว่ายอดขายของ GLOBAL ใน 3Q/67 จะอยู่ที่ 7.3 พันล้านบาท (ทรงตัว YoY, -16% QoQ) ทำให้ยอดขายในงวด 9M/67 อยู่ที่ 2.48 หมื่นล้านบาท (ทรงตัว YoY) และคิดเป็น 72% ของประมาณการกำไรเต็มปี ถึงแม้ว่าอุปสงค์จะยังคงอ่อนแอในไตรมาสที่ 3 ซึ่งทำให้ Same-Store-Sales ใน 3Q/67 หดตัวลงประมาณ 6% (จาก-12.3% ใน 3Q/66 และ -2.3% ใน 2Q/67) จึงคาดว่า Same-Store-Sales จะดีขึ้น MoM (จากที่หดตัวในระดับเลขตัวเดียวสูงๆ ในเดือนก.ค. เหลือเพียงเลขตัวเดียวต่ำๆ ในเดือน ก.ย.)
พร้อมคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของ GLOBAL ใน 3Q/67 จะอยู่ที่ 26.2% (+0.4ppts YoY, -0.4ppts QoQ) เพิ่มขึ้น YoY จากการใช้กลยุทธ์ House Brand แต่ลดลง QoQ เพราะราคาเหล็กลดลง ทั้งนี้ยอดขายเหล็กคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของยอดขายรวมของ GLOBAL โดยราคาเหล็ก Rebar +1% YoY แต่-1% QoQ ใน 3Q/67 ในขณะที่ดัชนีราคาเหล็กลดลง 2% YoY และ 1% QoQ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในงวด 9M/67 อยู่ที่ 25.9% (+0.5ppts YoY) ใกล้เคียงกับสมมติฐานปี 2567 ที่ 26.0%
ดังนั้นยังคงคาดว่าอุปสงค์จะฟื้นตัวขึ้นใน 4Q/67 และ ปี 2568 เนื่องจากคาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลจะเร่งตัวขึ้น หลังจากที่ชะลอตัวไปในปี FY2567 (ที่ 47.5%) พร้อมกับคาดว่าอุปสงค์จะเร่งตัวขึ้นหลังน้ำท่วมเพราะประมาณ 60% ของสาขาร้าน GLOBAL อยู่ในภาคเหนือ และ อีสาน ทำให้คาดว่ากำไรสุทธิของ GLOBAL จะเพิ่มขึ้นใน 4Q/67(โดยจะเพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น อีก 11% ในปี 2568
ดังนั้นยังคงคำแนะนำ "ถือ" GLOBAL โดยประเมินราคาเป้าหมายสิ้นปี 2568 ที่ 17.00 บาท อิงจาก PER ที่ 29.0x (ค่าเฉลี่ยในอดีตระหว่าง GLOBAL และ DOHOME -0.5 S.D.)
รับอานิสงส์ซ่อมแซมหลังน้ำท่วม
ด้าน นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS แสดงความเห็นถึงภาวะตลาดหุ้นว่า กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้เน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการซ่อมแซมหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ได้แก่ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL บริษัท ไดนาสตี้เซรามิค จำกัด (มหาชน) หรือ DCC บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) หรือ DRT บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA บริษัท สีเดลต้า จำกัด (มหาชน) หรือ DPAINT
มาตรการรัฐหนุนค้าปลีก-ก่อสร้าง
สอดคล้องกับมุมมองของ บล.ทิสโก้ รายงานสถานการณ์ค้าปลีกในประเทศไทย โดยกลุ่มค้าปลีกแม้ยอดขายในสาขาเดิม (SSSg) ในเดือนกันยายนจะค่อนข้างทรงตัว แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น MoM ทั้งในภาคค้าปลีก และกลุ่มวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้าน การปรับตัวดีขึ้นในเดือนกันยายนสะท้อนถึงฐานต่ำจากฝนตกหนักผิดปกติในเดือนก่อนหน้า และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เริ่มใช้ในช่วงปลายเดือนกันยายน โดยบริษัทที่มีผลดาเนินงานที่โดดเด่นในเดือนนี้คือ BJC,CPAXT และ GLOBAL ซึ่งเห็นการปรับตัวดีขึ้นมากที่สุด MoM ภาพรวมของภาคการค้าควรรายงาน SSSg ที่ทรงตัวถึงติดลบเล็กน้อย
สำหรับผลประกอบการของภาคค้าปลีกในเดือนกันยายน 2567 พบว่ามีความผสมผสาน โดยร้านซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตเห็นการเติบโตที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับส่วนของค้าส่งและร้านสะดวกซื้อ การปรับตัวดีขึ้นส่วนใหญ่ในร้านค้าสมัยใหม่สู่ SSSg ระดับกลางต่ำกว่า 10% มาจากมาตรการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาลที่เริ่มใช้ในช่วงปลายเดือน โดยรวมแล้ว ภาคค้าปลีกควรรายงาน SSSg ต่ำกว่า 10%
ทั้งนี้ เดือนกันยายน และใน 3Q24 กลุ่มสินค้าหลักที่มีส่วนในการเติบโตของไตรมาสคือ อาหารสดและอาหารพร้อมทาน โดยกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหารมีผลลัพธ์ที่หลากหลาย รวมถึงภาคค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้านในประเทศไทย สำหรับ 3Q24 เห็นแนวโน้มเชิงลบโดยทั่วไปในการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSg) สิ่งนี้น่าจะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงน้ำท่วมในภูมิภาค และการเบิกจ่ายโครงการของรัฐบาลที่ช้ากว่าที่คาดไว้ แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ บางบริษัทรายงานแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงท้ายของไตรมาส โดยเฉพาะในเดือนกันยายน
“เราชอบภาคค้าปลีกมากกว่ากลุ่มวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้าน เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเงินสดของรัฐบาลระยะแรกน่าจะถูกใช้กับสินค้าไม่คงทนมากกว่า ดังนั้นผลกระทบเชิงบวกของมาตรการกระตุ้นสะท้อนบางส่วนใน SSSg เดือนกันยายน โดยส่วนที่เหลือของการแจกเงินสดระยะแรกจะส่งผลต่อ SSSg เดือนตุลาคม (ส่วนใหญ่ในช่วงต้นเดือน) หลังจากการแจกจ่ายเงินระยะแรกให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13-14 ล้านคน ทำให้เชื่อว่าการแจกเงินสดระยะต่อไปจะเกิดขึ้นใน 4Q24 – 1Q25 เนื่องจากการแจกเงินไม่ได้จำกัด”