นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (3 ต.ค.) ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.12 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 33.14 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.30 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ) โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 33.08-33.25 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 33.20 บาทต่อดอลลาร์ ได้จริงตามที่เราประเมินไว้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างดัชนี ISM PMI ภาคการบริการในเดือนกันยายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.9 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้แถวระดับ 51.7 จุด ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทดังกล่าวอยู่ได้ไม่นานนัก และเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากอิสราเอลเปิดฉากโจมตีกลับอิหร่าน (ไม่ว่าจะเป็นคลังน้ำมันอิหร่าน หรือโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านก็ตาม) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาศัยจังหวะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้าน (ดัชนีเงินดอลลาร์ หรือ DXY เข้าใกล้โซน 102 จุด) ในการทยอยปรับสถานะการถือครองหรือขายทำกำไรการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงระยะสั้นที่ผ่านมา ก่อนที่จะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่จะทยอยออกมาให้ความเห็นในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานเพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความคาดหวังอยู่บ้างว่า เฟดจะสามารถเร่งลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมที่เหลือของปีนี้
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและลุกลามบานปลายจนส่งผลกระทบในวงกว้างหรือไม่ โดยต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง รวมถึงส่งผลกระทบต่อโฟลว์การขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงานมากน้อยเพียงใด
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ทว่า เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 33.20 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของเราว่า “ตราบใดที่ราคาทองคำยังมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นได้ จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เงินบาทอาจไม่สามารถอ่อนค่าลงได้ต่อเนื่องอย่างชัดเจน” ทั้งนี้ เรายังคงมีความมั่นใจอยู่ว่า เงินบาทจะมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ หากเงินบาทไม่ได้กลับมาแข็งค่าขึ้นจนหลุดโซนแนวรับ 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ จากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2010 เราพบว่า หากเกิดสัญญาณ Long USDTHB จากเครื่องมือเชิงเทคนิคัลอย่าง Supertrend (KivancOzbilgic) ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว แรง จน RSI ของ USDTHB เข้าสู่โซน Oversold พบว่า เงินบาท (USDTHB) อาจอ่อนค่าต่อได้ราว +2% หรือมีโอกาสเห็นเงินบาทกลับไปแถว 33.25-33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ไม่ยาก หาก 1) บรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยอย่างที่เราประเมินไว้ ซึ่งล่าสุดนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสินทรัพย์ไทยราว -6 พันล้านบาทในวันก่อนหน้า 2) ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดชัดเจน ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างข้อมูลการจ้างงานที่ออกมาตามคาด หรือดีกว่าคาด และ 3) ตลาดคลายกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้ราคาทองคำกลับเข้าสู่ช่วงการปรับฐาน (Correction)
อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงเงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง เช่น เงินบาทอ่อนค่าเหนือโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ บรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียอาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบลดสถานะ Net Long บรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้ (มองสกุลเงินฝั่งเอเชียแข็งค่าขึ้น)
ทั้งนี้ เรามองว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ โดยเฉพาะในส่วนของรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เพราะหากข้อมูลการจ้างงานออกมาน่าผิดหวังและแย่กว่าคาดชัดเจน เช่น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ต่ำกว่า 1 แสนตำแหน่ง อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงได้พอสมควร ส่วนราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้นต่อและเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้พอสมควร ซึ่งจากสถิติย้อนหลัง 1 ปี พบว่า เงินบาทมักจะแกว่งตัวราว +/-0.4% ในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ