xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ เชื่อ ศก.ไทยไม่วิกฤต ปรับเรทติ้งต้องหลายเหตุปัจจัยเสี่ยงหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกฯ เชื่อเศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤตหรือเลวร้าย จนกระทั่งถูกปรับลดเครดิต แจงต้องมีหลายปัจจัยที่เป็นมูลเหตุกระทบเศรษฐกิจกระทั่งมีผลฉุดให้ประเทศถดถอย มั่นใจสถาบันจัดอันดับต้องวิเคราะห์และประเมินอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสิน แม้ก่อนหน้า ฟิทช์ฯ มอง การเมืองไทยยังมีความเสี่ยง หากหยุดชะงักในระดับที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตลง หลังบริษัทจัดอันดับหั่นเรทติ้งของหลายประเทศ ตามภาวะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หนักสุดคือจีนถูกลดความน่าเชื่อถือลงสู่ "เชิงลบ" หวั่นความน่าเชื่อถือของจีนอาจถูกปรับลดลง หากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอและรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้ง

จากการที่ บล.กรุงศรี เผยข้อมูลข่าวจาก Bloomberg ที่รายงานว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงจะมีการปรับลด Credit rating หรือ อันดับความน่าเชื่อถือ เป็นเพียงจิตวิทยาลบสั้นๆ ต่อ SET Index เท่านั้น เพราะประเมินว่ายังไม่เห็นความเสี่ยงในการที่ไทยจะถูกปรับลด Credit rating เมื่อเทียบปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจและสถานการณ์คลังปัจจุบันกับในอดีต เนื่องจากการเมืองไทยมีพัฒนาการดีขึ้น , เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวปี 67 คาดโต 2.4% และปี 68 ตลาดคาด 2.8-3.0% และเสถียรภา/ทางการคลัง Fiscal Stability ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ โดยยังต้องติดตามสถานะและพัฒนาการในปี 68

หากพิจารณาในอดีตประเทศไทยไม่เคยถูกปรับลด Credit rating ลงตั้งแต่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 40 กรณีเลวร้าย Worst Case มองจะปรับ Outlook ลงจากปัจจุบัน อิง S&P หรือ S&P Global Ratings ให้ rating ปัจจุบัน BBB+ และ Outlook คือ Stable จากสถิติในอดีต ช่วงที่ถูกปรับ Outlook ลงตลาดหุ้นปรับลงเพียงช่วงสั้น มองเป็นเพียง Noise ส่วนค่าเงินบาทไม่ได้ตอบสนองอย่างมีนัย อิงจากสถิติ 2 รอบล่าสุด คือ ธ.ค.51 ไทยถูกลด Outlook ลง หลังจากนั้น 1 วัน SET ลง 1.4% และปรับฟื้นกลับมา ส่วน 21 เม.ย.63 หลังจากนั้น 1 วัน SET ปรับขึ้น 0.71%

ล่าสุด 20 ส.ค. 67 ฟิทช์ เรทติ้งส์ หรือ ฟิทช์ฯ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกออกบทวิเคราะห์ในหัวข้อว่า การเปลี่ยนผู้นำของไทยเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงทางการเมืองอันเปราะบางของไทย จากการที่รัฐสภาไทยให้ความเห็นชอบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างรวดเร็ว น่าจะช่วยรักษาความต่อเนื่องของนโยบายได้ แต่พัฒนาการล่าสุดนี้เน้นย้ำให้เห็นว่าความผันผวนของการเมืองไทยนั้นส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายและความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้เพียงใด เชื่อว่านายกคนใหม่ จะสานต่อจุดยืนทางนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เนื่องจากพรรคเพื่อไทยยังคงเป็นพรรคที่มีอำนาจมากที่สุดในแนวร่วมรัฐบาล มองว่ามีความเสี่ยงระดับต่ำที่งบประมาณปี 68 จะล่าช้า

ฟิทช์ฯระบุว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยกล่าวว่า รัฐบาลจะศึกษาเพิ่มเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ที่มีความล่าช้า และรัฐบาลชุดล่าสุดประเมินว่า โครงการนี้จะต้องใช้งบประมาณ 2.4% ของจีดีพีใน 2 ปีงบประมาณ และยังไม่สามารถตัดสมมุติฐานที่ว่าโครงการนี้อาจถูกยกเลิก ปรับเปลี่ยน หรือล่าช้าออกไปอีก คาดว่ามาตรการกระตุ้นทางการคลังของไทยจะเกิดขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ส่งผลให้ ฟิทช์ฯ ซึ่งคำนวณรวมกรณีรัฐบาลเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเลต คาดการณ์ว่าการขาดดุลทางการคลังของไทยที่ขาดดุล 2.0% ของจีดีพีในปีงบประมาณ 66 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ของจีดีพีในปีงบประมาณ 67 และ 4.4% ในปีงบประมาณ 68 ซึ่งจะสูงกว่าเมื่อเทียบกับค่ากลาง (Median) ของประเทศในกลุ่มที่มีอันดับเครดิต "BBB" ด้วยกัน คาดว่าจะอยู่ที่ 3.2% ในปีงบฯ 67 และ 3.0% ในปีงบฯ 68

 "หากรัฐบาลลดขนาดโครงการดิจิทัลวอลเลตลง เชื่อว่ามีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะใช้ทรัพยากรทางการคลังที่ว่างลงนั้น เพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินมาตรการอื่น ๆ และอาจมีแรงกดดันทางการเมืองให้ต้องมีมาตรการการใช้จ่ายขนาดใหญ่เพิ่มอีก หลังจากปีงบประมาณ 68 ซึ่งอาจเป็นการยากที่จะกลับมารัดเข็มขัดทางการคลังในระยะกลาง เมื่อโครงการดิจิทัลวอลเลตสิ้นสุดลง สิ่งนี้จะเพิ่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มการขาดดุลการคลังและหนี้ภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นนั้นใช้ไปเพียงกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น" 

ฟิทช์ฯกล่าวว่า การเข้าถึงตลาดเงินตลาดทุนในประเทศของรัฐบาล และโครงสร้างหนี้ที่ดี ซึ่งมีระยะเวลาครบกำหนดชำระคืนที่นาน และส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินท้องถิ่น ช่วยลดความเสี่ยงบางส่วนเกี่ยวกับการที่สัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 62

 "หนี้ที่สูงขึ้นอาจจำกัดความสามารถทางการคลังของรัฐบาลในการตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจในอนาคต เมื่อตอนที่ ฟิทช์ฯ คงอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'BBB+' พร้อมด้วยคงแนวโน้มมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ในเดือนพฤศจิกายน 66 จากการที่รัฐบาลไม่สามารถรักษาเสถียรภาพอัตราส่วนหนี้สาธารณะอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้ถูกปรับลดอันดับเครดิตลง"

ฟิทช์ฯบอกอีกว่า ความผันผวนทางการเมืองที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งของประเทศไทยได้ขัดขวางประสิทธิภาพของการกำหนดนโยบาย ตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาลของไทยนั้นมีคะแนนน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในระดับ BBB และพัฒนาการล่าสุด อาจลดโอกาสที่จะปรับปรุงตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาลที่จัดทำโดยธนาคารโลก (World Bank) ที่ฟิทช์เคยคาดการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 66 ว่าตัวชี้วัดนี้ของไทยจะดีขึ้น

 "ความผันผวนทางการเมืองยังเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของไทยในการเพิ่มความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนต่างชาติ ธุรกิจในประเทศ และผู้บริโภค ซึ่งฟิทช์ฯเชื่อว่า การที่สภาเห็นชอบให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และการตอบสนองที่ค่อนข้างเงียบของสาธารณชนต่อการยุบพรรคก้าวไกล แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้ความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบทางการเมืองในวงกว้างยังอยู่ในระดับต่ำ และหากเกิดการหยุดชะงักทางการเมืองในระดับที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตลง"


โบรกฯ เชื่อประเมินปรับเครดิตไม่ง่าย

นักวิเคราะห์รายหนึ่งแสดงความเห็นว่า ความกังวลเรื่องการอาจถูกปรับลดเครดิตประเทศของไทยนั้น เชื่อว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการจัดอันดับทั้งหลาย คงไม่ได้มองแค่การก่อหนี้เพียงอย่างเดียว เพราะจากโครงการดิจิทัล วอลเลตที่ถูกมองว่าเป็นการก่อหนี้ของรัฐบาลจะเป็นภาระของประเทศ แต่เชื่อว่าสถาบันประเมินเรทติ้งทั้งหลาย คงมองถึงไปถึงตัวโครงการว่ามีประสิทธิภาพมากพอหรือไม่ ผลจากมาตรการเหล่านั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ เป็นต้น เพราะความเสี่ยงต่อการปรับลดเครดิตมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องมาหนุนนำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงนั่นจึงถือว่าอาจมีผลกระทบ แต่ของไทยไม่น่ากังวล

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์อีกรายหนึ่งประเมินจากข่าวที่ออกมาว่าไทยอาจจะถูกลดอันดับเครดิตนั้น คงต้องมองจากหลาย ๆ และเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่เครดิตจะประเมินแล้วปรับลด แม้ว่าที่ผ่านมาหลายประเทศถูก บริษัทจัดอันดับเรทติ้ง ประกาศปรับลดเครดิต แต่นั่นเพราะประเทศนั้น ๆ เกิดภาวะทางเศรษฐกิจที่มีทิศทางไม่ดีและมีนัยยะที่จะมีผลพวงต่อเนื่อง เช่น เกิดปัญหาทั้งการเมือง และเศรษฐกิจอย่างจีนที่มีวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว แต่ของไทยยังไม่เลวร้ายเพียงนั้น และขณะนี้เพิ่งได้รัฐบาลชุดใหม่ และเชื่อว่ารัฐบาลไม่น่าจะนำพาประเทศไปในทางที่ถดถอย แม้บางมาตรการอาจถูกมองว่าจะกระทบกับระบบเศรษฐกิจ คงต้องมองอีกระยะและควรต้องให้เวลารัฐบาลพิสูจน์ก่อน แต่เชื่อว่าไม่น่าจะเลวร้ายถึงเพียงนั้น

"ลดความน่าเชื่อถือจีนลงสู่ "เชิงลบ" 

เมื่อปลายเดือน เม.ย. รายงาน ฟิทช์ฯ ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของจีนลงสู่ "เชิงลบ" จาก "มีเสถียรภาพ" โดยระบุถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนอาจจะเผชิญปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้น ขณะที่รัฐบาลพยายามกอบกู้เศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถุกมองว่าในระยะกลางนี้มีความเป็นไปได้ที่ฟิทช์ฯ อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของจีนลงได้อีก เพราะคลังสาธารณะ (Public Finance) ของจีนประสบปัญหามีความเป็นไปได้มากขึ้น เพราะการคลังสาธารณะจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะยิ่งทำให้หนี้สินของรัฐบาลจีนปรับสูงขึ้น

ทั้งนี้ ฟิทช์ฯ คาดการณ์ว่า ยอด "ขาดดุลงบประมาณ" ของรัฐบาลกลางจีนจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 7.1% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวล รวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 67 จากระดับ 5.8% ในปี 2566 โดยตัวเลขขาดดุลในปี 67 นั้น ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 63 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการเข้มงวดในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ ฟิทช์ฯ คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะชะลอลงสู่ระดับ 4.5% ในปี 67 จากระดับ 5.2% ในปี 66 ซึ่งสวนทางกับที่ ซิตี้กรุ๊ป และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ต่างก็ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจีน ขณะที่รัฐบาลจีนออกมาตอบโต้กลับไม่ยอมรับประกาศดังกล่าว เพราะ ฟิทช์ฯ ประเมินนโยบายการคลังของจีนได้ไม่ดีพอ และย้ำว่านโยบาย เหล่านี้จะเข้ามาผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต และทำให้อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพี่มีเสถียรภาพในระยะยาว

ขณะที่เมื่อ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา S&P Global RATINGS หรือ S&P ออกคำเตือน ว่าแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลจีนอาจถูกปรับลดลง หากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังอ่อนแอ หรือยังต้องอาศัยการแทรกแซงของรัฐด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า S&P จัดอันดับเครดิตจีนอยู่ที่ A+ ครั้งล่าสุดที่ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของจีนคือเมื่อปี 60 ขณะมูดี้ส์ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลจีนลงสู่เชิงลบจากมีเสถียรภาพไปแล้วเมื่อเดือนธ.ค. 66 โดยระบุถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงในระยะกลาง และความเสี่ยงจากวิกฤตครั้งใหญ่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนหลังปลายปี 66 มูดี้ส์ ปรับลดแนวโน้มเครดิตรัฐบาลจีนลงสู่เชิงลบจากเดิมมีเสถียรภาพ แต่คงอันดับเครดิตไว้ที่ A1 ตามเดิม สะท้อนภาระหนี้ที่สูงขึ้น

 ปรับเรทติ้ง "อิสราเอล" เป็น A+ 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อเดือน เม.ย. ว่า S&P ปรับอันดับเครดิตเรทติ้งของ "อิสราเอล" จากระดับ AA- สู่ระดับ A+ โดยระบุถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการเผชิญหน้ากับอิหร่านที่เพิ่มขึ้น ได้เพิ่มความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์สำหรับอิสราเอลแล้ว ซึ่งความขัดแย้งในภูมิภาคที่กว้างขึ้นไม่ใช่สถานการณ์พื้นฐาน แต่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสถานการณ์ความมั่นคงของอิสราเอลอย่างมีนัยสำคัญ อันจะส่งผลกระทบต่อมาตรวัดทางเศรษฐกิจ การคลัง และดุลการชำระเงิน

โดยบริษัทจัดอันดับเครดิตรายใหญ่ทั้ง 3 แห่ง ได้ออกคำเตือนถึงอันดับเครดิตเรทติ้งของอิสราเอล นับตั้งแต่เริ่มสงครามกับกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.66 ซึ่ง S&P ได้แก้ไขแนวโน้มเป็นเชิงลบต่อความเสี่ยงที่ความขัดแย้งจะแพร่กระจายเข้ามาในประเทศ มูดี้ส์เรทติ้งส์ปรับลดอันดับเครดิตเป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ และความตึงเครียดในภูมิภาคทวีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่อิหร่านเปิดการโจมตีด้วยโดรนและขีปนาวุธใส่อิสราเอล เพื่อตอบโต้การโจมตีในซีเรียที่ทำให้เจ้าหน้าที่อิหร่านเสียชีวิตไปหลายคนเมื่อต้นเดือน เม.ย. ขณะที่อิหร่านกำลังเตรียมรับมือกับศักยภาพในการตอบโต้ของอิสราเอล

ทั้งนี้ S&P คาดการณ์ว่าการขาดดุลของรัฐบาลอิสราเอลจะเพิ่มขึ้นเป็น 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 67 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการใช้จ่ายด้านกลาโหมที่เพิ่มขึ้น คาดว่าการขาดดุลที่สูงขึ้นจะยังคงดำเนินต่อไปในระยะกลาง และหนี้สาธารณะสุทธิจะสูงสุดที่ 66% ของ GDP ในปี 69

 ลดความน่าเชื่อถืออาเจนติน่าสู่ SD 

เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอาร์เจนตินาลงสู่ SD หรือ ผิดนัดชำระหนี้บางส่วน (Selective Default) หลังรัฐบาลอาร์เจนตินาผลักดันให้นักลงทุนนำพันธบัตรมาแลกเปลี่ยนเป็นพันธบัตรลอตใหม่เพื่อเลื่อนเวลาการครบกำหนดไถ่ถอน โดย S&P ได้ปรับลดจาก CCC- สู่ SD ระบุว่ารัฐบาลอาร์เจนตินาผลักดันให้นักลงทุนทำการ สว็อปพันธบัตรนั้น "มีความหมายเท่ากับการผิดนัดชำระหนี้"

ขณะมีรายงานว่า ประธานาธิบดีนายฆาบิเอร์ มิเลย์ ผู้นำอาร์เจนตินาประกาศให้นักลงทุนนำพันธบัตรสกุลเงินเปโซมูลค่า 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 67 มาแลกเปลี่ยนกับพันธบัตรลอตใหม่ที่จะมีกำหนดไถ่ถอนในปี 68 ไปจนถึงปี 71 โดยบรรดาเจ้าหนี้ที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลอาร์เจนตินา 77% ยอมทำตามข้อตกลงดังกล่าว อย่างไรก็ดี แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือในระยะยาวของอาร์เจนตินาขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลชุดใหม่ในการผลักดันแผนสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจ

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ก่อนจะประกาศปรับเครดิตแต่ละครั้ง ต้องมีเหตุองค์ประกอบและหลายปัจจัยลบ มาหนุนนำ ใม่ว่าจะเป็นสงคราม นโยบายการเงิน สำคัญสุดคือมาตรการและนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาว่าจะช่วยพยุงเกื้อหนุนประเทศตนได้จริงหรือไม่เพียงใด


กำลังโหลดความคิดเห็น