xs
xsm
sm
md
lg

ทีทีบีเร่งใช้ AI ทำระบบคัดกรอง-เตือนภัยมิจฉาชีพลูกค้าก่อนโอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่ม บริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการ Realtime Froud Prevention ระบบเตือนภัยลูกค้าก่อนโอนเงิน ถือเป็นการยกระดับแจ้งเตือนทางการเงินให้ลูกค้าในการโอนเงิน โดยการนำระบบ AI เข้ามาใช้ร่วมกับการใช้ข้อมูลภายใต้ฐานข้อมูล Central Fraud Registry(CFR) เพื่อวิเคราะห์บัญชีที่มีความเสี่ยงจะเป็นบัญชีทุจริตหรือบัญชีม้าแล้วเตือนลูกค้าก่อนที่จะโอนเงิน เพื่อเป็นการลดความเสียหายให้ลูกค้า ซึ่งถือเป็นการสกัดที่ต้นตอก่อนที่จะโอนเงิน เนื่องจากหากมีการโอนเงินออกไป แล้วโอกาสที่จะตามเงินกลับมามีค่อนข้างน้อย เนื่องจากเส้นทางการโอนเงินของกลุ่มมิจฉาชีพมีความซับซ้อนผ่านบัญชีม้าจำนวนมาก และมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น มีกลุ่มผู้ให้บริการชำระเงินเข้ามาเพิ่มอีกด้วย

สำหรับที่ผ่านมา ธนาคารได้ใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า พร้อมทั้งปรับลดกำหนดเพดานขั้นต่ำในการโอนแต่ละครั้งให้เหมาะสม เป็นการลดความเสี่ยงในการสูญเสียหากถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน โดยตั้งแต่ได้เริ่มทำมาประมาณ 2 เดือน นับว่าได้ผลที่ดี โดยมียอดการเปิดบัญชีม้าผ่านทางออนไลน์หรือสมาร์ทโฟนลดลงถึง 28 เท่า ซึ่งการเปิดบัญชีหรือยืนยันตัวตนผ่านทางออนไลน์นั้น ถือเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพนิยมใช้ในการเปิดบัญชีม้า

"เราก้าวหน้าไปมาก มิจฉาชีพก้าวหน้าเช่นกัน เส้นทางบัญชีหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน อย่างโอนไปบัญชีที่ไม่ใช่บัญชีธนาคาร ก็หลุดจากระบบธนาคารพาณิชย์ สมาคมธนาคารไทยคุยกับแบงก์ชาติมาตลอดเกี่ยวกับเรื่องฐานข้อมูลส่วนกลางเพื่อดูเรื่องบัญชีม้า ซึ่งปัจจุบันมีการทำกันเป็นฟาร์มม้าเลย แล้วมีระยะเวลาบ่มด้วย คือเปิดบัญชีไว้สักพักก่อน 6 เดือนจึงจะเริ่มใช้เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดข้อสงสัยหรือความผิดปกติจากธนาคาร สิ่งที่ธนาคารทำคือบล็อกทันทีที่ได้รับแจ้ง พร้อมทั้งตรวจดูบัญชีที่เข้าข่าย อย่างพวกมีโลเกชันแปลก พฤติกรรมน่าสงสัย ซึ่งจับได้ประมาณหนึ่ง และจะทำได้มากขึ้นเมื่อมีระบบข้อมูลส่วนกลาง และอีกสิ่งคือการเตือนก่อนที่เรื่องจะเกิด จึงได้มีโครงการ Realtime Froud Prevention ขึ้น และถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของธนาคารด้วย เพราะความปลอดภัยจากมิจฉาชีพเป็นหนึ่งในการทำให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น"

ทั้งนี้ จากข้อมูลศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า มีการแจ้งความคดีผ่านออนไลน์สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-31 กรกฎาคม 2567 มีคดีรวมทั้งสิ้น 612,603 เรื่อง เฉลี่ย 694 เรื่องต่อวัน มูลค่าความเสียหาย 6.91 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยความเสียหาย 78 ล้านบาทต่อวัน โดยผลการอายัดบัญชี พบว่า มีการขออายัด 463,399 บัญชี ยอดวงเงิน 3.97 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถอายัดได้ทัน 7,428 ล้านบาท

"ประเทศไทยทำระบบพร้อมเพย์ได้ดีในระดับต้นๆ ในภูมิภาค ด้วยความง่าย ความสะดวก รวดเร็ว แต่สิ่งที่ตามมาด้วยคือบัญชีม้า กับกลุ่มมิจฉาชีพต่างๆ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน สถาบันการเงินทางกฎหมายกำลังร่วมมือกันในการแก้ไขแล้ว ถ้าในอนาคตมี Virsual BANK ซึ่งไม่มีสาขามาดำเนินกิจการการยืนยันตัวตน ทำด้วยระบบออนไลน์หมดจะเป็นอย่างไร ตรงนี้จะเป็นโจทย์ให้ผู้ที่กำกับดูแลจะต้องพิจารณาในเรื่องนี้อย่างรอบคอบอีกส่วนหนึ่ง"
กำลังโหลดความคิดเห็น