xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 32.40 ติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สัปดาห์นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (1 ต.ค.) ที่ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 32.18 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.25-32.65 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ) โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวต้านแรก 32.30-32.40 บาทต่อดอลลาร์ (กรอบการเคลื่อนไหว 32.17-32.48 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ของเยอรมนีในเดือนกันยายนชะลอลงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้อีกราว -50bps เป็นอย่างน้อยในการประชุมที่เหลือของปีนี้

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินยูโรยังสอดคล้องกับการย่อตัวลงบ้างของตลาดหุ้นยุโรปที่เผชิญแรงขายทำกำไรเพิ่มเติม หลังปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงที่ผ่านมา และนอกเหนือปัจจัยดังกล่าว เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ที่ย้ำจุดยืนทยอยลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ล่าสุด ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างลดโอกาสการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้ลงเหลือ 38% จาก 53% ในช่วงวันก่อนหน้า ซึ่งจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องราว -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนกันยายน และคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 โดย Atlanta Fed พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

ส่วนฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนเดือนกันยายน พร้อมจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทจะเริ่มมีกำลังมากขึ้น ทว่า เราจะมั่นใจมากขึ้นว่าเงินบาทจะสามารถพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้อย่างชัดเจน หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญ เช่น โซน 32.80 บาทต่อดอลลาร์ หรือแม้กระทั่งโซนแนวต้านสำคัญ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ไม่ได้ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ล่าสุด

อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดไปพอสมควรแล้ว (โอกาสเร่งลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน ลดลงเหลือ 38%) ซึ่งอาจจำกัดการปรับตัวขึ้นต่อของเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ ในกรณีที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาตามคาด หรือ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก ยกเว้นจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ของบรรดานักลงทุนต่างชาติ (ซึ่งทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยจริงตามที่เราประเมินไว้) หรือเงินบาทเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งราคาทองคำยังเสี่ยงปรับตัวลดลงต่อได้บ้าง หากเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังปรับตัวขึ้นได้ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางไม่ได้ทวีความรุนแรงหรือลุกลามบานปลาย

ทั้งนี้ เรามองว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งในฝั่งยุโรป (อัตราเงินเฟ้อ CPI ยูโรโซน) และฝั่งสหรัฐฯ (ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ และดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต) โดยเฉพาะ รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) สหรัฐฯ ซึ่งในช่วงหลังตลาดให้ความสำคัญกับรายงานข้อมูลดังกล่าวมากขึ้น จนทำให้เงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเกือบ +0.4% หลังรับรู้รายงานข้อมูล Job Openings ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแกว่งตัวของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยหลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าวราว +/-0.20%
กำลังโหลดความคิดเห็น