นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 32.00-32.85 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้ (30 ก.ย.) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.20-32.45 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของจีน) จากระดับเปิดเช้านี้ที่ 32.37 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทโดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ sideways แต่มีจังหวะแข็งค่าขึ้นจนทะลุโซนแนวรับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.27-32.42 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมการปรับตัวขึ้นบ้างของราคาทองคำ หลังอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ เดือนสิงหาคมชะลอตัวลงต่อเนื่อง และออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นตามบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ส่วนราคาทองคำปรับตัวลงราว -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามแรงขายทำกำไรและจังหวะการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรงอยู่ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างคงคาดหวังว่าเฟดจะสามารถเร่งลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นทะลุแนวรับที่เราประเมิน ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำและความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนซึ่งหนุนให้เงินหยวนจีน (CNY) และบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียแข็งค่าขึ้น
สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่าควรระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ นอกจากนี้ ควรรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทนั้นยังมีอยู่ แต่เราเห็นโอกาสที่เงินบาทอาจชะลอการแข็งค่าขึ้นหากเงินดอลลาร์รีบาวนด์ขึ้นจริง ส่วนนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองสินทรัพย์ไทยตามคาด ทว่า เงินบาทอาจยังได้แรงหนุน ตราบใดที่ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นได้ ทั้งนี้ เราขอย้ำว่า ในเชิง valuation เงินบาทนั้นอยู่ในโซน Overvalued มากขึ้น
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า Two-Way Volatility ยังคงเป็นธีมหลักของเงินดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์อาจรีบาวนด์ขึ้นบ้าง หากตลาดทยอยลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งต้องเห็นภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ไม่ได้เลวร้ายนัก แต่หากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด เงินดอลลาร์เสี่ยงอ่อนค่าต่อ ตามความเชื่อมั่นการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดที่จะสูงขึ้น