นายภณภัทร เมฆาสุวรรณดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง (IROYAL) กล่าวว่า บริษัทพร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 58,000,000 หุ้น เพื่อเร่งสานต่อกลยุทธ์การเป็น One Stop Service ในการบริการจัดหาอุปกรณ์และโซลูชันในโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอื่นๆ
กลุ่มบริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าในการให้บริการรอบด้าน และการตระหนักถึงการบริการที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ลูกค้าอย่างยั่งยืนมากกว่าแค่การให้บริการโดยทั่วไป โดยทำหน้าที่ออกแบบ ให้คำปรึกษา และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที ด้วยการนำเสนอโซลูชันเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้า
IROYAL จ่อเข้า mai โชว์ผลงาน Q1/67 กำไรทะยาน 130% โบรกชี้เป้า 10.20-10.50 บาท
รวมทั้งการเข้าบริหารสินค้าคงคลังในส่วนที่กลุ่มบริษัทจัดหาและจำหน่าย ทำหน้าที่รับผิดชอบเติมผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้า (Vendor Managed Inventory) ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเก็บสะสมผลิตภัณฑ์ในคลังสินค้าที่มากเกินความจำเป็น การตรวจสอบและซ่อมบำรุงอุปกรณ์เพื่อให้มีความเสถียรและปลอดภัย การติดตั้งงานให้อยู่ในกรอบเวลาที่ลูกค้ากำหนดตามรอบการหยุดเดินเครื่องจักร (Shutdown Period) ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นการให้บริการ One Stop Service ที่ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์และการบริการ เพื่อขึ้นแท่นสู่ผู้นำธุรกิจด้านโซลูชันพลังงานไฟฟ้าในอนาคต และรุกสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/67 บริษัทมีรายได้รวม 86.37 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขาย 61.13 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 73.78% ของรายได้จากการดำเนินงาน และรายได้จากการขายพร้อมติดตั้ง 21.72 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 26.22% ของรายได้จากการดำเนินงาน
ด้านกำไรสุทธิอยู่ที่ 33.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 130.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 14.35 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) อยู่ที่ 39.98% เติบโตมาจากกำไรขั้นต้น และอัตรากำไรขั้นต้นจากงานการขายดีขึ้น การส่งมอบผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนรายการผลิตภัณฑ์ และปริมาณผลิตภัณฑ์ การบริหารต้นทุนในการจัดจำหน่าย และค่าใช้จ่ายในการบริหารที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเฉพาะให้ตรงความต้องการของลูกค้า ซึ่งช่วยแก้ปัญหาหลักของลูกค้าได้ตรงจุด เป็นผลให้สามารถสร้างอัตรากำไรที่สูงได้
งานในมือ (Backlog) ส่วนใหญ่จะเป็นงานจากกลุ่มลูกค้า Blue chip เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บจก.ไฟฟ้าหงสา (โรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว) อีกทั้งบริษัทยังคงมุ่งมั่นขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้นด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีความชำนาญที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ เช่น โรงกลั่นน้ำมันหรือโรงปิโตรเคมี โรงงานปูนซีเมนต์
และบริษัทเริ่มขยายฐานลูกค้าด้วยการสรรหาผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบสำรองไฟฟ้าและพลังงาน โดยเน้นกลุ่มโรงแรม อาคารขนาดใหญ่ อาคารโรงพยาบาล หรือศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นต้น เพื่อให้ธุรกิจมีความหลากหลายและกว้างไกล โดยมุ่งหวังว่ารายได้จากกลุ่มลูกค้าเหล่านี้จะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต และจะไม่ละเลยการขยายธุรกิจปัจจุบันที่บริษัทมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ให้มีการเติบโตควบคู่กันไปเช่นกัน
บทวิเคราะห์จาก บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มองว่า IROYAL มีศักยภาพในการเติบโตจากการขยายฐานลูกค้าจากกลุ่มโรงไฟฟ้าไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อุปกรณ์และผลิตภัณฑ์สามารถใช้ร่วมกันได้ เช่น กลุ่มปูนซีเมนต์ และกลุ่มปิโตรเคมี เป็นต้น พร้อมคาดการณ์อัตราการเติบโตเฉลี่ยของกำไรต่อปี (CAGR) 3 ปีข้างหน้า (67-69) ที่ 37% จากทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้จากลูกค้ากลุ่มโรงไฟฟ้าและการขยายไปลูกค้ากลุ่มอื่น แม้การขยายไปกลุ่มอื่นจะมีอัตรากำไรต่ำกว่ากลุ่มโรงไฟฟ้า แต่สามารถก่อให้เกิดคำสั่งซื้อซ้ำ ซึ่งจะเกิดเป็นรายได้ประจำ (Recurring income) ในอนาคต
ประเมินมูลค่ากิจการด้วยวิธี P/E โดยเปรียบเทียบกับ 1) บริษัทที่ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง 2) บริษัทที่ทำธุรกิจโรงไฟฟ้า และ 3) บริษัทที่ทำธุรกิจเทียบเคียงกับ IROYAL ในต่างประเทศ ซึ่งมี P/E ปี 68 เฉลี่ยจากทั้ง 3 กลุ่มที่ 14.98 เท่า ประเมินว่า IROYAL สมควรที่จะมี P/E เทียบเท่ากับค่าเฉลี่ยของ 3 กลุ่มดังกล่าว
จากลักษณะของธุรกิจของ IROYAL ที่มีทั้งรายได้ที่สม่ำเสมอและรายได้ที่มาจากโครงการต่างๆ นอกจากนี้ คาดการณ์ว่า IROYAL จะมี ROAE ปี 68-69 ที่สูงที่ 18-21% และจะมีอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (Fully-diluted EPS) ในปี 68 สูงถึง 79% และมี CAGR 37% ดังนั้นภายใต้การคาดการณ์ Fully-diluted EPS ปี 68 ที่ 0.7 บาท และอ้างอิง P/E ปี 68 ที่ระดับ 15 เท่า ราคาเป้าหมายจะเท่ากับ 10.50 บาท
ด้านบทวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า IROYAL มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ไม่มีหนี้กับสถาบันการเงิน ประกอบกับความสามารถทำกำไรที่ดี จากการที่บริษัทคอยปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์โลก แนวโน้มในอนาคตของ IROYAL มีมุมมองบวกจากการเติบโตของรายได้เร่งตัวขึ้นตั้งแต่ปี 66 ทำให้มีโอกาสเติบโตที่ดีในอนาคต คาดการณ์กำไรปี 67-68 จะเติบโตจากโอกาสรับงานใหม่มากขึ้น ส่งผลให้กำไรขั้นต้นสูงขึ้นตามรายได้ ประเมินว่า Net Profit Margin จะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่า 20% ทำให้คาดปี 67-68 จะเป็นช่วงที่กำไรเติบโตสูงเฉลี่ย CAGR 37% ต่อปี
ประเมินราคาเป้าหมายปี 68 ที่ 10.20 บาท อ้างอิง P/E ที่ 17 เท่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย P/E ที่ 20 เท่าของกลุ่มหุ้นในต่างประเทศ ซึ่งคล้ายคลึงกับธุรกิจ IROYAL ที่เป็นผู้ให้บริการด้านวิศวกรรมเพื่อจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบการผลิตของโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม และประเมิน EPS สำหรับปี 2568 ที่ 0.60 บาทต่อหุ้น
บล.ไอร่า ระบุว่า IROYAL เป็นบริษัทที่มีความโดดเด่นและมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรม ได้แก่ การมีผลงานและประสบการณ์ในธุรกิจกว่า 40 ปี อยู่ในอุตสาหกรรมที่คู่แข่งขันน้อยราย ลูกค้ามี Switching Cost สูง และเป็นบริษัทที่ใช้โมเดลธุรกิจแบบ Asset-Light ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการบริหารจัดการเงินทุนได้สูงสุด รวมถึงมีอัตราการซื้อซ้ำ (Repeating Order) ลูกค้ากลุ่มเดิมสูง คาดว่าบริษัทจะรักษาระดับ Repeating Order และสามารถ Cross-selling สินค้าใหม่ให้ลูกค้ากลุ่มเดิมได้ มีการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มโรงไฟฟ้าเพื่อกระจายความเสี่ยงของรายได้ นอกจากนี้ บริษัทมีแผนเติบโตแบบ Inorganic Growth ประเมินมูลค่าหุ้น IROYAL ปี 68 โดยใช้วิธี Justified PE อ้างอิง PE ที่ 14.27 เท่า ทำให้ได้ราคาเป้าหมาย 10.28 บาท EPS ที่ 0.72 บาทต่อหุ้น