ไบแนนซ์ มองเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ยิ่งตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มักมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะการลดต้นทุนการกู้ยืมที่สามารถกระตุ้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง
อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยธนาคารกลางมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายทางการเงิน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการกู้ยืม การใช้จ่าย และการตัดสินใจลงทุนปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ได้ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 23 ปีที่ 5.25%-5.50% ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมเงินเฟ้ออย่างเข้มงวดในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา โดยเงินเฟ้อได้ลดลงจาก 7.1% มาอยู่ที่ 2.5% โดยหลังจากวิกฤตโควิด-19 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นถึง 11 ครั้งภายในช่วงเวลาเพียงหนึ่งปี เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อโดยไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ศักยภาพในการฟื้นตัวของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
ในแง่ของสินทรัพย์ดิจิทัล ผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะโดยทั่วไปแล้ว สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บิทคอยน์ มักมีปฏิกิริยาเชิงลบต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่มุ่งควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ในทางกลับกัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมักถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลเชิงบวกต่อสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์เสี่ยง
นายนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไบแนนซ์ ทีเอช (BINANCE TH) แสดงความคิดเห็นว่า “เราคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน ซึ่งจะกระตุ้นความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงและมีความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น บิทคอยน์ที่เคยมีมูลค่าพุ่งสูงขึ้นถึง 375% ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึง 2565 ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยใกล้แตะระดับศูนย์”
ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืม ส่งผลให้เกิดการไหลเข้ามาของเงินทุนที่มักมุ่งไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้ ด้วยคุณสมบัติในการต้านภาวะเงินเฟ้อ อาจยิ่งทำให้บิทคอยน์มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผู้คนเกิดความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ จากการคาดการณ์การใช้จ่ายและการกู้ยืมเงินที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมักเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจยิ่งช่วยทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น ในฐานะเกราะป้องกันความเสี่ยงจากลดค่าของเงินตรา
ปัจจัยเฉพาะที่มีผลต่อสินทรัพย์ดิจิทัล
นอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคแล้ว บิทคอยน์และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ยังมีลักษณะเฉพาะที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโต หนึ่งในนั้นคือ การเกิด Bitcoin Halving ที่ในอดีตมักส่งผลให้มูลค่าของบิทคอยน์ปรับตัวสูงขึ้นภายในระยะเวลา 6-8 เดือน ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ในอดีตจะไม่สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ปรากฏการณ์ Bitcoin Halving อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ทิศทางให้กับเหล่านักลงทุน และเมื่อผสานรวมกับการเข้ามาของ Spot ETFs รวมถึงสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ยิ่งอาจส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดคริปโตมากขึ้นตามไปด้วย
“การเกิดปรากฏการณ์ Bitcoin Halving และการเปิดตัวของ Spot ETFs ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่อาจมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งถึงแม้ว่าเดือนกันยายน มักเป็นช่วงที่สินทรัพย์ดิจิทัลอ่อนตัว แต่ราคาก็มักจะฟื้นตัวและดีดสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ คาดว่าจะยิ่งเสริมแรงส่งให้ราคาดีดกลับตัวสูงขึ้นยิ่งกว่าเดิม”
นอกจากนี้ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าเตรียมปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน การประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ อาจนำไปสู่ยุคใหม่ของการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ (Economic recalibration) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมคริปโตได้เช่นกัน
“ถึงแม้ว่าผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นยังคงมีความไม่แน่นอน แต่สัญญาณต่างๆ ได้บ่งชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้ อาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับนักลงทุน เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลง และสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลมีความน่าสนใจ นอกจากนี้ จากการศึกษาเทรนด์ในอดีต รวมถึงปัจจัยเฉพาะด้านเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ยังตอกย้ำให้เห็นว่าการปรับนโยบายในครั้งนี้ อาจเป็นแรงกระตุ้นที่เร่งให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลได้อีกด้วย” นาย นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล กล่าวปิดท้าย