ข้อมูลใหม่พบขณะนี้มีถึง 134 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 98% ของ GDP โลก ที่กำลังสำรวจ CBDC โดย 66 ประเทศในจำนวนนี้อยู่ในขั้นตอนการนำร่องทดสอบหรือพัฒนา นอกจากนั้นสมาชิกทุกชาติในกลุ่มจี20 ล้วนมีส่วนร่วมในความพยายามนี้ โดยมีจีนและหลายประเทศในยุโรปเป็นผู้นำ ขณะที่อเมริกาล้าหลังทั้งยุโรปและญี่ปุ่น แต่กำลังสำรวจแผนการริเริ่มข้ามพรมแดนกับโปรเจ็กต์อะโกร
เมื่อไม่กี่วันมานี้ แอตแลนติกเคาน์ซิล ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองในอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานการติดตามความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ซึ่งพบว่า ขณะนี้ 134 ประเทศที่คิดเป็นสัดส่วน 98% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของโลก กำลังทดสอบโครงการ CBDC โดยที่ 66 ประเทศในจำนวนนี้อยู่ในกระบวนการสำรวจขั้นสูงที่รวมถึงการออก CBDC การนำร่องทดสอบ และการพัฒนา
จากข้อมูลการวิจัยจนถึงวันที่ 24 ก.ย. สมาชิกกลุ่มจี20 ทั้งหมดกำลังสำรวจ CBDC โดย 19 ประเทศอยู่ในกระบวนการพัฒนาขั้นสูง และ 13 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และตุรกี กำลังนำร่องทดสอบ CBDC ขณะที่มีการเปิดตัวโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ในฝรั่งเศส อิตาลี และอินโดนีเซีย
งานวิจัยนี้เน้นย้ำว่า ปัจจุบันมีการดำเนินการโครงการนำร่อง CBDC 44 โครงการ โดยประเทศในยุโรปเป็นผู้นำความพยายามในการทดสอบ ทว่า โปรเจ็กต์เงินหยวนดิจิทัล (e-CNY) ของจีนยังคงเป็นโครงการนำร่อง CBDC ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีมูลค่าธุรกรรมในภาคส่วนต่างๆ เช่น การศึกษาและท่องเที่ยว รวมแล้วกว่า 7 ล้านล้านหยวน (987,000 ล้านดอลลาร์)
หนึ่งในพัฒนาการโดดเด่นที่สุดของปีนี้คือ การที่บาฮามาส จาไมกา และไนจีเรีย ซึ่งเป็นเพียง 3 ประเทศในโลกที่ประกาศใช้ CBDC อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ออก CBDC เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
สำหรับความพยายามเกี่ยวกับดอลลาร์ดิจิทัลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นั้น รายงานระบุว่า อเมริกากำลังเข้าร่วมโครงการ wholesale CBDC (CBDC ที่ใช้ในการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน) ข้ามพรมแดนที่มีชื่อว่า โปรเจ็กต์ อะโกรา ร่วมกับธนาคารกลางของอีก 6 ชาติสำคัญ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ และยุโรป
นอกจากนี้ CBDC ยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นหาเสียงสำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีขึ้นเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า อเมริกายังล้าหลังประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าในยุโรปและญี่ปุ่น
สำหรับโปรเจ็กต์ อะโกรานั้นมีเป้าหมายในการสำรวจว่า สามารถใช้เงินฝากธนาคารในรูปโทเคนในการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่านโปรเจ็กต์นี้หรือไม่ รวมถึงหาทางจัดการความท้าทายในการชำระเงินข้ามพรมแดน อาทิ ความแตกต่างด้านเขตเวลา ข้อกำหนดตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ตลอดทั้งข้อกำหนดด้านเทคนิค
นอกจากนั้น ต้นสัปดาห์ที่แล้วยังมีรายงานว่า ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของโลก 40 แห่ง อาทิ เจพีมอร์แกน, HSBC, UBS และ MUFG เข้าร่วมโครงการนำร่องของโปรเจ็กต์นี้
โปรเจ็กต์ อะโกราที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) เปิดตัวเมื่อเดือนเมษายนและกำลังจะเริ่มขั้นตอนการออกแบบนั้น ยังพยายามอุดช่องว่างที่มีกับ mBridge ซึ่งเป็นโครงการพัฒนา CBDC ของธนาคารกลางจีน ฮ่องกง ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งคาดว่า จะมีอีกหลายประเทศเข้าร่วมภายในปีนี้