xs
xsm
sm
md
lg

รับเฟดประกาศลดดบ. หุ้น-ทองคำจับมือทะยาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาพรวมหลังธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ย0.5% คาดปรับลดอีก 0.5% ช่วงปลายปี ช่วงเดียวกับ ธปท.เริ่มขยับลดดอกเบี้ยในประเทศ คาดเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทย หนุนไตรมาส4ขยับเพิ่ม สนับสนุนโดยการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ส่วนราคาทองคำหลายปัจจัยยังช่วยให้ลุ้นสร้างราคาสูงสุดใหม่

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวดเดียว 0.50% เมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) ถือเป็นการพลิกกลับนโยบายครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี อีกทั้งเกิดขึ้นขณะการเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังจะมีขึ้นในอีกไม่ถึง 2 เดือน ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าเรื่องนี้ น่าจะส่งผลดีต่อ “กมลา แฮร์ริส” ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดปากวิจารณ์ว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของเฟดอาจมุ่งเป็น คำตอบสำหรับเศรษฐกิจที่เลวร้ายมาก หรือไม่ก็เป็นเกมการเมือง

สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยซึ่งธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ดังนั้นจึงจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมทุกอย่างลดลงตั้งแต่สินเชื่อบ้านไปจนถึงบัตรเครดิต ในเมื่อเวลานี้อัตราเงินเฟ้อกำลังลดลงสู่เป้าหมายระยะยาว ที่ 2% และตลาดแรงงานยังคงชะลอความร้อนแรงลง ถือว่าที่ผ่านมา เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างน่าประทับใจหลังวิกฤต Covid-19

ทั้งนี้ คำแถลงของเฟดที่ออกมาหลังการประชุมระบุว่า บรรดาผู้วางนโยบายการเงินมีมติ 11-1 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฟด ฟันด์ส เรต 0.50% ลงมาอยู่ที่ 4.75-5% และมีแผนลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ก่อนสิ้นปีนี้, 1% ในปีหน้า และ 0.5% ในปี 2026 อย่างไรก็ตามแนวโน้มระยะยาวอาจไม่แน่นอน

“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด แถลงสำทับว่า ถึงเวลาแล้วสำหรับการปรับนโยบายสู่บางสิ่งที่เหมาะสมกว่า โดยอิงกับความคืบหน้าด้านเงินเฟ้อที่ขณะนี้อยู่ที่ 2.5% และอัตราจ้างงานที่กำลังขยับสู่ระดับที่ยั่งยืนมากขึ้น

เม็ดเงินไหลกลับตลาดหุ้น

ทั้งนี้ เมื่อเฟด ประกาศลดอกเบี้ย 0.50% ล่าสุดทำให้มีการคาดการณ์ว่า เฟด่าจะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ทำให้โดยรวมปีนี้ลดลง 1% ไปสู่ระดับ 4.5% และปี 2568 จะลดดอกเบี้ยลงอีก 1% ไปสู่ระดับ 3.5% ตาม Dot Plot โดยประเมินว่าเฟดจะค่อย ๆ ใช้นโยบายการเงินควบคุม เพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯให้ชะลอลงในลักษณะ Soft Landing โดยหากทำได้ภายใน 1-2 เดือน ตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะพลิกฟื้นกลับมาเป็นบวกได้

ดังนั้นสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย คาดว่าจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และส่งผลให้ SET Index จะอยู่ที่ระดับ 1,480 จุด

สำหรับฟันด์โฟลว์ที่จะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยนั้น เพราะโอกาสการเกิดเศรษฐกิจชะลอน้อยกว่า ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 15 เท่า ขณะที่ตลาดหุ้น S&P มีระดับ P/E ที่ 23.2 เท่า ถือว่า Valuation ถูกกว่า เท่ากับว่าตลาดหุ้นไทยมีความปลอดภัยมากกว่า

โดยสภาพคล่องของไทยที่คงค้างอยู่ในบัญชี FCD ขณะนี้กว่า 7.7 แสนล้านบาทจะเริ่มมีการทยอยไหลย้อนหลับเข้าสู่ประเทศมากขึ้น ถือเป็นปัจจัยที่จะช่วยประคับประคองตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 4/67

แต่ยังแนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่ม Global cyclicals ไปอีกระยะ เช่นกลุ่มน้ำมันและปิโตรเคมี แม้ Valuation ส่วนใหญ่ของหุ้นกลุ่มนี้จะยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่ความกังวลด้านเศรษฐโลกชะลอตัวมีโอกาสที่จะกดดันราคาต่อไปได้

ดังนั้นเมื่อมาประกอบกับความเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในระดับต่ำ และ Valuation ที่ยังคง Laggard หุ้นขนาดใหญ่อย่างมาก ทำให้มีโอกาสเห็นหุ้นขนาดกลาง-เล็ก (sSET & MAI) กลับมา Outperform อีกครั้งในช่วงไตรมาส 4/67 นี้ ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยมีแนวโน้มปรับตัวลงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯในช่วงถัดไป

ธปท.ยังไม่รีบลดอัตราดบ.

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เฟด ปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ถือว่าไม่น้อย แต่ตลาดได้รับรู้ และเกิดผลไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้สกุลเงินในภูมิภาคและเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น และกระทบตลาดเงินผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) บ้าง ส่วนผลกระทบในแง่เศรษฐกิจไม่ได้มาก เพราะเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่พึ่งพาระบบธนาคาร

อย่างไรก็ดี เงินบาทแข็งค่าและผันผวนเร็วในช่วงหลัง โดยนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่าแล้ว 3.1% ซึ่งเดิมแข็งค่าใกล้เคียงกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันใกล้เคียงเกาหลี นอกจากปัจจัยดอลลาร์อ่อนค่าแล้ว ไทยยังมีผลจากปัจจัยของราคาทองคำที่สูงเป็นประวัติศาสตร์ เนื่องจากสกุลเงินบาทมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำมากกว่าประเทศอื่น

ทั้งนี้ หากดูผลกระทบเงินบาทต่อภาคการส่งออก จะเห็นว่าในเชิงปริมาณของการส่งออกไม่ได้ปรับลดลง แต่ยอมรับว่าจะกระทบต่อส่วนต่างกำไร (มาร์จิ้น) นั่นทำให้ไม่อยากเห็นค่าเงินบาทผันผวนเร็วและเยอะ

ดังนั้น แม้ว่าเฟดปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ไม่ใช่ว่าไทยต้องลดตาม เนื่องจากไทยไม่ใช่ประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เช่น ฮ่องกง ทำให้เฟดลดดอกเบี้ยและต้องลดตาม อย่างไรก็ดี เฟดลดดอกเบี้ยมีความสบายใจมากขึ้นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะมีแนวโน้ม Soft Landing มากขึ้น ซึ่งเป็นการซื้อประกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐ จะไม่ได้ Hard Landing

สำหรับในส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของไทย ยังคงยึดกรอบ 3 ด้าน คือ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจเข้าสู่ศักยภาพ 2.เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบเป้าหมาย 1-3% และ 3.เสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งหากดูปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ระดับศักยภาพ โดยพิจารณาจากข้อมูลมองไปข้างหน้า (Outlook Dependent) มากกว่าข้อมูลปัจจุบันหรือตัวเลขจีดีพีซึ่งจะไม่ทันการณ์ เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะกลับเข้ากรอบ แม้ว่าจะช้ากว่าคาดการณ์ ส่วน การปรับลดดอกเบี้ยจะต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน และจะกระตุ้นหนี้ใหม่เยอะแค่ไหน โดยปัจจุบันจะเห็นว่าครัวเรือนมีปัญหาหนี้ไม่น้อย

อย่างไรก็ดี คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือน ต.ค.นี้ จะยังไม่มีการปรับลดดอกเบี้ย เพราะที่ผ่านมา ธปท.มีการส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่า จะดูข้อมูลทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยหลังประชุมอาจมีถ้อยแถลงที่ระบุถึงความเสี่ยงขาลงที่มากขึ้น รวมถึงการที่รัฐบาลมีมาตรการแจกเงิน 10,000 บาทออกมา ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ ธปท.อาจจะ Wait & See เพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน โดยคาดว่าอาจจะลดดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. หรือไม่ก็ต้นปีหน้าเลย

ทองคำมีลุ้นสร้างสถิติใหม่

พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า แม้ว่าล่าสุดราคาทองคำจะถูกขายทำกำไรออกมาในระยะสั้น หลังจากที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยถูกกดดันระยะสั้นทันทีที่ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด เผยถ้อยแถลงที่ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ พร้อมพยายามบรรเทาตลาดไม่ให้ตื่นตระหนกต่อการปรับลดดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50%

อย่างไรก็ดี มองว่าภายในปีนี้ทองคำมีโอกาสทำจุดสูงใหม่ โดยวายแอลจีมองราคาเป้าหมายใหม่ที่ 2,650-2,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ เนื่องจากการเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาลงไปอีก 2 ปีของเฟด จะเป็นปัจจัยหนุนหลักในระยะยาวต่อราคาทองคำ

นอกจากนี้ ทองคำยังมีปัจจัยบวกด้านอื่นๆ ที่แข็งแกร่ง เช่น ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาตร์ ที่ยังสร้างความกังกลในหลายพื้นที่ และการกลับเข้ามาซื้อทองคำ 4 เดือนต่อเนื่อง ของกองทุน ETF ทองคำ ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค. ก็เป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นที่เริ่มมีนัยสำคัญ รวมถึงธนาคารกลางทั่วโลกที่ยังคงเดินหน้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องในระยะยาว จนช่วงครึ่งปี 2567 ได้เข้าซื้อทองคำรวม 483.3 ตัน สูงสุดในประวัติศาสตร์ครึ่งปีแรก

สำหรับราคาทองคำในประเทศในช่วงนี้แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งทุกครั้งที่ค่าเงินบาทแข็งค่า 10 สตางค์ จะทำให้ราคาทองคำปรับลดลงมาราว 90-120 บาทต่อบาททองคำ ทุกครั้งที่เงินบาทแข็งค่าจึงกดดันให้ราคาทองคำในประเทศปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ถ้าบาทไม่แข็งค่าเกิน 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มองว่าเป็นจุดรับ เพราะทองคำมีโอกาสที่ทองคำจะไปถึง 41,800 บาทต่อบาททองคำ และเป้าหมายถัดไปที่โซน 42,600-43,000 บาทต่อบาททองคำ


ปรับพอร์ตรับเฟดลดดอกเบี้ย

ด้านศรชัย สุเนต์ตา CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ แสดงความเห็นว่า การมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps มาอยู่ที่ 4.75%-5.00% ของเฟดสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเฟด มีความมั่นใจมากขึ้นบนทิศทางอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่กำลังเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน

นั่นทำให้มีมุมมองว่า แม้ว่าตลาดแรงงานจะอ่อนแอลง แต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ และยังไม่มีสัญญาณว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) โดยการปลดพนักงานยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ผู้บริโภคยังคงใช้จ่าย อย่างไรก็ตามมีสัญญาณของการชะลอตัวของเศรษฐกิจแบบ Soft landing ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่จะเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯในเดือน พ.ย. จะมีผลต่อการดำเนินนโยบายการคลัง และการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังมีความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำเนินอยู่ โดยคาดว่า เฟดมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเทียบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอดีต โดยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed fund ลงรวม 50bps ในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้ อยู่ที่ 4.25%-4.50% และปรับลดรวมอีก 100 bps ในปี 2568 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Fed funds สิ้นปี 2568 อยู่ที่ 3.25%-3.50%

ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ได้เผชิญกับภาวะ Recession จะช่วยสนับสนุนทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมทั้ง ตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ ตามสถิติตั้งแต่ปี 2517การปรับตัวของราคาสินทรัพย์ลงทุนประเภทต่างๆ ในช่วงที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นทั่วโลกและตราสารหนี้ของสหรัฐฯ มักมีผลตอบแทนที่ดี โดยเงินดอลลาร์มักจะอ่อนค่าลงในช่วง 12 เดือนหลังจากการปรับลดดอกเบี้ย ด้าน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ น้ำมัน ล้วนปรับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ในส่วนของตราสารหนี้ คาดว่า Bond Yield สหรัฐฯ จะลดลงไม่มาก และผลตอบแทนของตราสารหนี้สหรัฐฯ น่าจะมาจาก Carry Yield เป็นหลัก ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างกระแสเงินสดสำหรับนักลงทุนที่ต้องการพอร์ตการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำ

ขณะที่แนวโน้มของตลาดหุ้น นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมีส่วนช่วยให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง และสนับสนุนให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตามสถิติในอดีต หลังเฟด ปรับลดดอกเบี้ย 12 เดือน ในภาวะที่ไม่เกิด Recession หุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐฯเช่น S&P 500 มักให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นขนาดเล็ก เช่น Russell 2000

นอกจากนี้หุ้นกลุ่ม Quality Growth อย่าง IT และกลุ่ม Defensive เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities) กลุ่มสุขภาพ (Healthcare) และกลุ่มสินค้าจำเป็น (Consumer Staples) ยังคงน่าสนใจ โดยเรายังให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดพัฒนาแล้วมากกว่าตลาดเกิดใหม่ จากกำไรของตลาดเกิดใหม่ จะเข้าสู่ช่วงชะลอตัวในปี 2568 ทำให้กลยุทธ์การลงทุน SCB CIO ยังคงยึด 3 วัตถุประสงค์หลักที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี แม้ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน โดยเน้นกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง

โดยพอร์ตลงทุนหลัก (Core Portfolio) ลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป ควรกระจายลงทุนในสินทรัพย์เพื่อตอบโจทย์ 3 วัตถุประสงค์หลักได้แก่

1) เพื่อสร้างกระแสเงิน แนะนำลงทุนในหุ้นกู้เอกชนต่างประเทศที่มีคุณภาพสูง (IG) ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้เอกชนในไทย หุ้นกู้ Perpetual ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารที่สูง และตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credit) ที่ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าหุ้นกู้เอกชนในตลาด

2) เพื่อสร้างการเติบโต เน้นน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมากกว่าตลาดเกิดใหม่ โดยยังให้น้ำหนักอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯที่เศรษฐกิจยังคงชะลอตัวในระดับปานกลาง กำไรบริษัทยังเร่งตัวสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจ และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังคงสนับสนุนการเติบโตของตลาดในระยะยาว และ

3) การป้องกันความเสี่ยงของพอร์ต ด้วยการลงทุนในทองคำ ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

สำหรับตลาดหุ้นไทยมองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 ได้แรงหนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ โดยภาครัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน จากการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนของภาครัฐ ที่ต่อเนื่องมากขึ้น และ จากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัว

นอกจากนี้คาดว่า เศรษฐกิจไทยยังได้แรงหนุนจากการที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่า ในเดือน ธันวาคมนี้ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 25 bps และลดต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2568 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.0%

ไม่เพียงเท่านี้ ตลาดหุ้นไทย ได้แรงหนุนจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้น ตามภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ท่ามกลาง Valuation ของดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง โดย SET Index ซื้อขายอยู่บนระดับ valuation ที่น่าสนใจ โดย 12M Blended Forward P/E อยู่ที่ 14.4 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ประมาณ -1.0 s.d.

ขณะเดียวกันมองว่า เม็ดเงินที่ไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ทั้งจากเม็ดเงินลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ รวมทั้งเม็ดเงินที่ไหลเข้าลงทุนผ่านกองทุนรวม Thai ESG จากการปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีแนวโน้มดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนในประเทศที่ต้องการลดหย่อนภาษี และนักลงทุนต่างประเทศ จากธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน (Governance) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ประกอบกับทิศทางเงินทุนจากต่างประเทศยังมีแนวโน้มไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย จาก Sentiment ที่ดีขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดทุนที่ออกมา และจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งมากกว่าการปรับลดดอกเบี้ยของ กนง.


กำลังโหลดความคิดเห็น