xs
xsm
sm
md
lg

กูรูส่องงบแบงก์โค้ง 3 กำไรรวมแตะ 6.1 หมื่นล้านบาท หลังตั้งสำรองลด – ค่าฟีพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเซียพลัส คาดกำไรกลุ่มแบงก์ไตรมาส 3/67 ทำได้ที่ 6-6.1 หมื่นลบ. ทรงตัวจากไตรมาส 2/67 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/66 หลังตั้งสำรองลดลง รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่ม รับตลาดหุ้นฟื้น แต่รับ NPL ยังน่าห่วง ด้าน ซีจีเอสไอ ประเมินกำไร 5 แบงก์ใหญ่ BBL กำไรโค้ง 3 โตมากสุด 17.6% ได้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยช่วยหนุน ขณะที่ KBANK รองลงมาโต 17.3% เชียร์ซื้อ ทั้ง BBL-KBANK

ASPS คาดกำไรแบงก์ Q3/67 ทำได้แตะ 6.1 หมื่นลบ.

นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า กำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ในไตรมาสที่ 3/67 คาดว่าจะมีกำไรประมาณ 6-6.1 หมื่นล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาส 2/67 ที่ 6 หมื่นล้านบาท โดยสินเชื่อส่วนใหญ่หดตัว เห็นได้จากธ.พ. 1.1 สิ้นเดือนส.ค. สินเชื่อไม่มีการเติบโต ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิไม่ได้เพิ่มเช่นเดียวกัน

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามภาวะตลาดทุนที่ฟื้นตัว ในขณะที่การตั้งสำรองคาดจะลดลง จากที่ผ่านมาธนาคารมีการตั้งสำรองไว้ในระดับที่สูงแล้ว ส่งผลให้ภาพรวมไตรมาส 3/67 อาจไม่แตกต่างจากไตรมาส 2/67 แต่หากเทียบจากไตรมาส 2/66 จะพบว่า กำไรมีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 3/66 ธนาคารมีกำไรที่ 5.86 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี NPL ยังคงเป็นขาขึ้น โดยเฉพาะรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นรถ บ้าน สินเชื่อบุคคล แต่เชื่อว่าแบงก์จะสามารถบริหารจัดการได้

ซีจีเอสฯ ประเมินกำไร 5 แบงก์ใหญ่ เชียร์ซื้อ BBL - KBANK

บริษัทหลักทรัพย์ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประมาณการงบไตรมาส 3/67 ของหุ้นกลุ่มธนาคารที่ทำการศึกษา ( BBL - KBANK - KTB - SCB - TTB ) โดยแยกเป็นรายธนาคารดังนี้

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL จะมีกำไรสุทธิ 13,300 ล้าบาท เติบโต 17.6% YoY และ 13% QoQ แม้ประมาณการว่า BBL จะมีสินเชื่อขยายตัวเพียง 0.1% YoY และ 0.2% QoQ ในไตรมาส 3/67 แต่ธนาคารน่าจะยังมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) สูงในไตรมาส 3 หรือ ที่ 3.08% (+7bp QoQ) เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่า รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น 31.4% YoY และ 6.6% QoQ ในไตรมาส 3/67 เพราะรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตแข็งแกร่งทั้งจากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และบริการกองทุนรวม และ กำไรจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น YoY ในไตรมาส 3/67 ขณะที่ BBL น่าจะมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ทรงตัว QoQ ที่ 44% ในไตรมาส 3/67

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยได้ปรับประมาณการ EPS ในปี 67-69 ขึ้น 1.9-5% หลังปรับเพิ่มสมมติฐานส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและปรับลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ พร้อมคงคำแนะนำ “ซื้อ” BBL และ เลื่อนปีฐานในการประเมินมูลค่าเป็นปี 68 ส่งผลให้ราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นจาก 183 บาท เป็น 195 บาท ซึ่งยังเท่ากับ P/BV 0.62x

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK คาดจะมีกำไรสุทธิ 13,200 ล้านบาท เติบโต 17.3% YoY และ 4.6% QoQ โดยคาดว่าธนาคารจะมีสินเชื่อขยายตัว 2.3% YoY แต่ทรงตัว QoQ ในไตรมาส 3 (สิ้นปี 66 : 1.1%) ขณะที่คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) จะเพิ่มขึ้น 3bp qoq เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้น และ ธนาคารยังสามารถคุมต้นทุนดอกเบี้ย

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 43.5% YoY และ 0.7% QoQ ในไตรมาส 3/67 เพราะกำไรจากเครื่องมือทางการเงิน และ รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตสูงขึ้นขณะเดียวกัน เชื่อว่า KBANK จะมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ค่อนข้างทรงตัว QoQ ที่ 43.2%

ทั้งนี้ KBANK ประกาศจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่เพื่อประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนกลยุทธ์การเคลียร์งบดุลของธนาคาร โดย KBANK คาดจะได้รับอนุมัติจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในไตรมาส 4/67 และ JV ใหม่น่าจะสามารถเปิดดำเนินงานในไตรมาส 1/68 จึงยังแนะนำ “ซื้อ” KBANK และ หลังเลื่อนปีฐานเป็นปี 68 ราคาเป้าหมายจึงเพิ่มขึ้นจาก 178 บาท เป็น 188 บาท แต่ยังเท่ากับ P/BV 0.74x

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB จะทำกำไรสุทธิ 11,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% YoY แต่ลดลง 0.4% QoQ ในไตรมาส 3/67 ซึ่งจะทำให้กำไรสุทธิใน 9 เดือนมีสัดส่วน 83% ของประมาณการใหม่ในปีนี้ ขณะที่ประมาณการว่า ยอดสินเชื่อรวมในไตรมาส 3/67 ของธนาคารจะขยายตัว 0.9% YoY , 3.8% QoQ และ เพิ่มขึ้น 3.2% จากสิ้นปี 66 นำโดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และ สินเชื่อรัฐบาล และ รัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ คาดว่า KTB จะมี NIM อยู่ที่ 3.37% ในไตรมาส 3/67 ซึ่งค่อนข้างทรงตัว QoQ และ มีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต 6.4% YoY และ 4.4% QoQ

ส่วนสินเชื่อประมาณ 45% ของ KTB ในไตรมาส 2/67 เป็นสินเชื่อรายย่อยเพื่อการอุปโภคบริโภค โดย 19% มาจากสินเชื่อเพื่อการเคหะ หรือ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย , 26% มาจากสินเชื่อบัตรเครดิต และ ที่เหลือมาจากสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน ซึ่งยังกังวลกับคุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกันของธนาคารในครึ่งปีหลัง เนื่องจากสินเชื่อทั้งสองกลุ่มมีอัตราส่วน NPL เพิ่มขึ้นทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม ได้ปรับประมาณการ EPS ในปี 67-69 ขึ้น 3.6-10.1% หลังปรับ NIM ขึ้น 10bp ในปีนี้ และปรับอัตราการสำรองหนี้สูญลง 10-30bp ในปี 67-69 จึงคงคำแนะนำ “ถือ” KTB และ เลื่อนปีฐานในการประเมินมูลค่าเป็นปี 68 ส่งผลให้ราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นจาก 17.40 บาท เป็น 20.90 บาท (P/BV 0.64x)

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ทำกำไรสุทธิ 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% YoY , 0.4% QoQ และ มีกำไรก่อนตั้งสำรองเติบโต 0.4% YoY และ 1.1% QoQ ในไตรมาส 3/67 ในขณะที่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธนาคารมีกำไรเติบโต คือ สินเชื่อที่ขยายตัว 0.4% YoY และ 0.8% QoQ แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) น่าจะลดลง QoQ จาก 4.08% ในไตรมาส 2/67 เป็น 3.97% ในไตรมาส 3/67 และ คาดว่า SCB จะมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต 0.3% YoY และ 10.9% ในไตรมาส 3 เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมน่าจะเติบโต 3.2% YoY และ 11.5% QoQ ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 43.2%

นอกจากนี้ อัตราการสำรองหนี้สูญคาดจะเพิ่มขึ้นจาก 189bp ในไตรมาส 2/67 เป็น 198bp ในไตรมาส 3/67 เพราะเชื่อว่า SCB จะมีอัตราส่วน NPL เพิ่มขึ้น QoQ เป็น 3.98% ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค และ คาดว่า SCB จะสามารถขายเงินลงทุนทั้งหมดในบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจบริการขนส่ง On-demand ในไตรมาส 3/67 โดยบันทึกค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์อีก 200 ล้านบาท จึงยังแนะนำ “ถือ” SCB แต่ราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นจาก 100 บาท (P/BV 0.69x) เป็น 111 บาท (P/BV 0.76x) หลังเลื่อนปีฐานในการประเมินมูลค่าเป็นปี 68

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB คาดจะทำกำไรสุทธิ 5,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.2% YoY , ทรงตัว QoQ ในไตรมาส 3/67 เนื่องจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อติดลบที่ 7.1% YoY , -2% QoQ และ -4.2% จากสิ้นปี 66 ซึ่งกลุ่มที่ฉุดการเติบโต คือ สินเชื่อรถที่มีสัดส่วน 30% ของยอดสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/67 อีกทั้ง TTB ได้เพิ่มความเข้มงวดของเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (25% ของสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/67)

อย่างไรก็ตาม คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) จะทรงตัว QoQ ที่ 3.23% ในไตรมาส 3/67 เพราะยังไม่ มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสนี้ นอกจากนี้ ได้รวมผลประโยชน์ทางภาษีในประมาณการปี 67-69 ส่งผลให้มีการปรับ EPS โดยปรับประมาณการ EPS ของ TTB ขึ้น 11.4% ในปี 67 สะท้อนสมมติฐาน NIM ที่สูงขึ้นเล็กน้อย หรือ 8bp และผลประโยชน์ทางภาษี (tax shield) จำนวน 1,600 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังกังวลเกี่ยวกับสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดย สินเชื่อ 51% ของ TTB ในไตรมาส 2/67 มาจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย , สินเชื่อรถ , สินเชื่อบัตรเครดิต และ สินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน ซึ่งสินเชื่อเหล่านี้อยู่ภายใต้แรงกดดันมาตั้งแต่ปี 66 จึงคงคำแนะนำ “ถือ” TTB โดยเลื่อนปีฐานในการประเมินมูลค่าเป็นปี 68 ส่งผลให้ราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นจาก 1.65 บาท (P/BV 0.67x) เป็น 2.04 บาท (P/BV 0.79x)

ธนาคาร กำไร Q3/67 (ลบ.) เปลี่ยนแปลง(YOY)
BBL 13,300 17.60%
KBANK 13,200 17.30%
KTB 11,200 8.50%
SCB 10,000 4.10%
TTB 5,400 13.20%


กำลังโหลดความคิดเห็น